ปัญหาหนี้สาธารณะในยุโรปกับผลกระทบต่อ SMEs ไทย

สรุปพัฒนาการของวิกฤตหนี้สาธารณะในยุโรป
อาจสามารถกล่าวได้ว่า วิกฤตหนี้สาธารณะในยุโรปมีจุดเริ่มต้นขึ้นในช่วงประมาณต้นไตรมาสที่ 2/2553 (ดังนั้นวิกฤตก็กำลังย่างเข้าสู่ปีที่ 3 แล้ว) จากปัญหาภาคการคลังที่ย่ำแย่ในกรีซ ซึ่งภายหลังได้ลุกลามออกไปยังไอร์แลนด์ และโปรตุเกส พร้อมๆ กับฉุดรั้งประเทศสมาชิกยูโรโซนที่มีขนาดเศรษฐกิจค่อนข้างใหญ่ อาทิ อิตาลี สเปน และ ฝรั่งเศส เข้าสู่วังวนเป็นระยะๆ แม้ว่าในส่วนของสมาชิกแกนหลัก 3 รายหลังนี้ จะยังไม่ตกอยู่ในสถานะที่เปราะบางจนต้องขอรับความช่วยเหลือทางการเงินจาก สหภาพยุโรปและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (EU/IMF) แต่ก็ไม่สามารถหลีกพ้นกระแสการปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ ซึ่งเกิดขึ้นหลายระลอกต่อเนื่องจากสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือระหว่าง ประเทศ เช่น สแตนดาร์ด แอนด์ พัวส์ (Standard and Poor’s: S&P) ฟิทช์ เรทติ้งส์ (Fitch Ratings) และมูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส (Moody’s)

ขณะที่ วิกฤตหนี้ในยุโรปพัฒนาไปอยู่ในจุดที่เพิ่มความเสี่ยงต่อระบบการเงินของยูโร โซนมากขึ้นเรื่อยๆ นั้น ในอีกด้านหนึ่งความไม่เชื่อมั่นของตลาดการเงินและนักลงทุนที่ถดถอยลง ได้สร้างแรงกดดันกลับไปที่เจ้าหน้าที่ทางการและธนาคารกลางยุโรปให้เร่งหา มาตรการสกัดการลุกลาม และแก้ไข-เยียวยาวิกฤต โดยเครื่องมือในการจัดการวิกฤตที่ประเทศสมาชิกยูโรโซนผลักดันออกมานั้น มีทั้งในส่วนที่ดำเนินการผ่านการกองทุนรักษาเสถียรภาพการเงินยุโรป (European Financial Stability Facility: EFSF) ที่เข้าไปให้ความช่วยเหลือทางด้านการเงิน และปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำเพื่อเติมสภาพคล่องวงเงินเกินกว่า 1 ล้านล้านยูโรเข้าสู่ระบบสถาบันการเงิน รวมถึงการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลของประเทศที่มีปัญหาทางด้าน การคลัง (ประกอบด้วย พันธบัตรรัฐบาลกรีซ ไอร์แลนด์ โปรตุเกส สเปน และอิตาลี) ผ่านการดำเนินการของธนาคารกลางยุโรป

ทั้งนี้ สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและการเงินของยุโรปในปัจจุบัน แม้ว่าจะไม่ได้ไถลลงไปอย่างรุนแรงอีกครั้ง หลังจากที่กรีซสามารถปรับลดหนี้ลงบาง ส่วนผ่านกระบวนการปรับโครงสร้างหนี้กับเจ้าหนี้ภาคเอกชน ซึ่งเป็นขั้นตอนสำคัญที่เปิดทางให้กรีซได้รับความช่วยเหลือทางการเงินรอบสอง วงเงิน 1.30 แสนล้านยูโรจาก EU/IMF ขณะที่ ทางการยุโรปก็ได้เตรียมทรัพยากรทางการเงิน และปรับเปลี่ยนกฎระเบียบเพื่อดูแลวินัยทางการคลังของประเทศสมาชิกยูโรโซนใน ระยะข้างหน้า แต่ถึงกระนั้น ด้วยความที่วิกฤตหนี้ยุโรป เชื่อมโยงหลายภาคส่วนเข้าด้วยกัน ทั้งสถานะการคลังของรัฐบาล ภาคเศรษฐกิจ สถาบันการเงิน รวมไปถึงตลาดการเงินทั่วโลก ดังนั้น การยุติวิกฤตที่วนเป็นวังวนในภาคส่วนเหล่านี้ จึงไม่สามารถทำได้โดยง่าย และปัญหาหนี้สาธารณะก็ยังน่าจะเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่จะฉุดรั้งแนวโน้ม เศรษฐกิจของยูโรโซนให้อยู่ในระดับต่ำกว่าศักยภาพต่อเนื่องไปในช่วงหลายปี ข้างหน้า แม้ว่าสถานการณ์เลวร้ายที่สุดของวิกฤต อาทิ การแยกออกจากกัน และ/หรือการผิดนัดชำระหนี้ของประเทศสมาชิกยูโรโซน จะสามารถหลีกเลี่ยงได้ก็ตาม

  ปัญหาหนี้สาธารณะในยุโรปกับผลกระทบต่อ SMEs ไทย
วิกฤติเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวในปีที่ผ่านมาจากปัญหาหนี้สาธารณะในยุโรป ซึ่งกระทบต่อการบริโภคทั้งภาคครัวเรือนและภาคการผลิตในตลาดโลกนั้น ได้ส่งผลกระทบต่อเนื่องมายังการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยและประเทศในอาเซียนอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เนื่องจากส่วนใหญ่ยังพึ่งพาการส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศเป็นหลัก โดยไทยมีสัดส่วนมูลค่าการส่งออกต่อ GDP สูงถึงร้อยละ 71.3 ขณะที่สิงคโปร์พึ่งพาการส่งออกมากที่สุดร้อยละ 211.1 ส่วนมาเลเซีย เวียดนาม บรูไน กัมพูชา ฟิลิปปินส์ สปป.ลาว และอินโดนีเซีย มีสัดส่วนการพึ่งพาการส่งออกร้อยละ 97.2 ร้อยละ 77.4 ร้อยละ 67.7 ร้อยละ 59.6 ร้อยละ 36.4 ร้อยละ 35.7 และร้อยละ 24.61 ตามลำดับ

♦ จากวิกฤติในครั้งนี้ แต่ละประเทศประสบภาวะชะลอตัวทางเศรษฐกิจในระดับที่แตกต่างกันไป…มาตรการ รัดเข็มขัดทางการคลังของประเทศในยุโรปและประเทศอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องจากปัญหาวิกฤตหนี้สาธาณะในยุโรปนั้น ย่อมส่งผลต่อการทิศทางการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคในประเทศดังกล่าว รวมไปถึงการตัดสินใจทางธุรกิจที่รัดกุมหรือชะลอการขยายธุรกิจและการลงทุน ต่างๆ ในระยะนี้ตามมาได้ ซึ่งแน่นอนว่าประเทศผู้ส่งออกในอาเซียนที่เกี่ยวโยงกับประเทศในตลาดหลักดัง กล่าวย่อมได้รับผลกระทบตามไปด้วย อย่างไรก็ดี แต่ละประเทศจะได้รับผลกระทบจากปัญหาดังกล่าวแตกต่างกันไปทั้งในทางตรงและทาง อ้อม ตามสัดส่วนในการพึ่งพาภาคการส่งออก โดยเฉพาะสหภาพยุโรปและตลาดที่เป็นคู่ค้าหลักกับยุโรปและสหรัฐฯ เช่น จีน โดยประเทศที่ตลาดในประเทศมีขนาดใหญ่อย่างอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ผลกระทบจากภาวะอุปสงค์ในตลาดโลกชะลอตัวจะลดระดับความรุนแรงลงไป รวมทั้งมาเลเซีย ซึ่งส่งออกไปยังตลาดยุโรปในสัดส่วนไม่มากนักเพียงร้อยละ 10 เพราะเริ่มขยายการค้าในตลาดเกิดใหม่ ตลาดประเทศกำลังพัฒนา และตลาดเอเชียมากขึ้น ทำให้ผลกระทบจากวิกฤติในยุโรปต่อมาเลเซียจึงไม่กระทบต่อภาคเศรษฐกิจจริง รุนแรงมากนัก ในขณะที่ประเทศที่มีสหภาพยุโรปเป็นตลาดส่งออกหลักอย่างกลุ่ม CLMV มี แนวโน้มว่าภาคการส่งออกอาจชะลอตัวต่อไปอีกระยะหนึ่ง ทั้งนี้ สำหรับสิงคโปร์ แม้ว่าการส่งออกทั้งปีที่ผ่านมายังคงขยายตัวได้ในระดับร้อยละ 8 โดยการส่งออกสินค้าและบริการเติบโต ร้อยละ 7.5 และ4.8 ตามลำดับ แต่คงต้องเผชิญกับภาวะการส่งออกไปยังยุโรปที่ค่อนข้างผันผวนต่อไป โดยล่าสุดในเดือนมกราคม 2555 ที่ผ่านมา การส่งออกไปตลาดยุโรปซึ่งเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของสิงคโปร์ก็ลดลงร้อยละ 14.5 ซึ่งสวนทางกับภาวะการส่งออกไปยังยุโรปในเดือนธันวาคม 2554 ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 122

                         ที่มา: กระทรวงพาณิชย์ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาในภาพรวมของการค้าของประเทศในอาเซียนแล้ว จะพบว่าตลาดส่งออกหลักของอาเซียน ก็คือ ประเทศอาเซียนด้วยกันเอง มีสัดส่วนถึงร้อยละ 25.2 (ปี 2553) รองลงมาเป็นตลาดจีน สหภาพยุโรป สหรัฐฯ และญี่ปุ่น สัดส่วนร้อยละ 13.2, 11.2, 10.1 และ 9.7 ตามลำดับ ดังนั้น จึงเป็นไปได้ว่า นับจากนี้บทบาทการค้าระหว่างกันและกันของประเทศสมาชิกอาเซียนน่าจะยิ่งทวี บทบาทเพิ่มมากขึ้นท่ามกลางปัญหาวิกฤตหนี้ยุโรปที่ยังวุ่นวาย ขณะเดียวกันแต่ละประเทศในอาเซียนก็น่าจะหันมาส่งเสริมการขยายตัวของตลาดใน ประเทศ ควบคู่ไปกับการขยายตลาดส่งออกให้หลากหลายมากขึ้น โดยตลาดเกิดใหม่และตลาดอาเซียนด้วยกันจะเป็นตลาดที่ต้องให้ความสำคัญมากขึ้น ต่อไป ทั้งนี้ การส่งออกไปยังตลาดหลักอื่นๆ อาจชะลอตัวลงอีกระยะหนึ่ง โดยเฉพาะตลาดที่ยังเชื่อมโยงกับการนำเข้าสินค้าและบริการของยุโรปและสหรัฐฯ เป็นหลัก ในขณะที่การบริหารจัดการและ กำกับดูแลตลาดเงินและตลาดทุนของประเทศในอาเซียน จะดำเนินไปอย่างรัดกุมต่อไป เพื่อป้องกันผลกระทบจากวิกฤติที่อาจส่งผลให้เกิดการไหลเข้า-ออกของเงินทุน อย่างรวดเร็ว ซึ่งจะส่งผลให้ค่าเงิน ตลาดหุ้น และตลาดพันธบัตรเกิดการผันผวนได้ง่าย รวมทั้งอาจส่งผลต่อสภาพคล่อง (Liquidity) ทางการเงินของสถาบันการเงินในภูมิภาคได้ ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงต้องจับตาการเปลี่ยนแปลงที่จะตามมาอย่างใกล้ชิดต่อไป

ภาคการส่งออกของไทยโดยรวมยังขยายตัวได้ แต่ในอัตราที่ชะลอตัวลง… โดยในปี 2554 ที่ผ่านมา การส่งออกของไทยเพิ่มขึ้นจากปี 2553 ร้อยละ 17.2 มีมูลค่าการส่งออกทั้งสิ้น 228,825.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาการส่งออกในตลาดหลักเป็นรายประเทศและกลุ่มประเทศแล้ว พบว่ายังเป็นการขยายตัวในอัตราที่ ชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับปี 2553 และมีบางกลุ่มสินค้าที่หดตัวลง โดยการส่งออกไปยังตลาดหลัก 15 อันดับแรก พบว่าส่วนใหญ่ยังขยายตัวเพิ่มขึ้นในระดับเลขสองหลัก โดยที่ตลาดอาเซียน (9 ประเทศ) ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ที่สุดของไทยในสัดส่วนร้อยละ 23.7 ของการส่งออกทั้งหมด ยังคงขยายตัวมากที่สุดในอัตราร้อยละ 22.5 เมื่อเทียบกับตลาดหลักอื่นๆ อย่างญี่ปุ่น (ร้อยละ 17.9) สหรัฐฯ (ร้อยละ 8.2) และสหภาพยุโรป (ร้อยละ 10.7) โดยตลาดหลักในอาเซียน คือ มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์

♦ วิกฤติส่งผลกระทบต่อ SMEs ไทยในระดับที่ไม่สูงนัก เนื่องจากตลาดส่งออกหลักของ SMEs ไทยจะเป็นตลาดหลักอื่นๆ ที่ไม่ใช่ตลาดยุโรป… ตลาดส่งออกหลัก 5 อันดับแรกในช่วง 11 เดือนแรกปี 2554 คือ ญี่ปุ่น ฮ่องกง จีน สหรัฐฯ และ สวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งจะมีสวิตเซอร์แลนด์เพียงประเทศเดียวที่อยู่ในกลุ่มยุโรป ในขณะที่มูลค่า ส่งออกไปยังตลาดอาเซียนในปี 2554 (มกราคม-พฤศจิกายน) มีมากถึงร้อยละ 30.2 หรือประมาณ 1 ใน 3 ของการส่งออกทั้งหมดของ SMEs นอกจากนี้ทิศทางการส่งออกของ SMEs ในปีที่ผ่านมาก็ยังคงเติบโตได้ในแดนบวกต่อเนื่องจากปี 2553 หลังจากที่ชะลอตัวค่อนข้างมากในปี 2552 โดยมูลค่าการส่งออกรวมทั้งสิ้นในช่วง 11 เดือนแรกปี 2554 คิดเป็น 62,149.3 ล้าน ดอลลาร์สหรัฐฯ3 มากกว่ามูลค่าการส่งออกในช่วงเดียวกันของปี 2553 ซึ่งมีมูลค่า 50,571 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ4 และคิดเป็นอัตราการขยายตัวที่ระดับร้อยละ 22.9 ทั้งนี้ คาดว่า ในปี 2555 การส่งออกของ SMEs จะยังขยายตัวได้ในทิศทางบวก เนื่องจากตลาดอาเซียนยังขยายตัวได้และตลาดหลัก เช่น สหรัฐฯ ก็เริ่มมีสัญญาณบวกของการฟื้นตัวจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยให้เห็นบ้างแล้ว

                         ที่มา: สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย

สินค้าส่งออกหลักของไทยโดยรวมและสินค้าส่งออกหลักของ SMEs ไทย ปี 2554

สินค้าส่งออก 10 อันดับแรกของไทยโดยรวมปี 2554 สินค้าส่งออกหลักของ SMEs ปี2554
(มกราคม-พฤศจิกายน)
สัดส่วนการส่งออก
สินค้าหลักของ
SMEs ปี 2554
 1. เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ (-13.9%)  1. อัญมณีและเครื่องประดับ (9.72 % ) 13.24%
 2. รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ (-8.8%)  2. ยางและผลิตภัณฑ์ยาง (90.99 % ) 8.37%
 3. ยางพารา (59.3 %)  3. พลาสติกและผลิตภัณฑ์พลาสติก (NA.) 8.34%
 4. อัญมณีและเครื่องประดับ (1.2%)  4. ผลิตภัณฑ์สิ่งพิมพ์ต่างๆ (NA.) 4.53%
 5. น้ำมันสำเร็จรูป (25.2%)  5. น้ำตาลและขนมทำจากน้ำตาล (28.63% ) 4.41%
 6. เม็ดพลาสติก (32.4%)
 7. ผลิตภัณฑ์ยาง (24.4%)
 8. เคมีภัณฑ์ (37.0%)
 9. แผงวงจรไฟฟ้า (-6.7%)
 10. ข้าว (16.6%)

         ที่มา: สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และกระทรวงพาณิชย์ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย

จากตารางข้างต้นพบว่าสินค้าส่งออกหลักของ SMEs ไทยไม่ได้อยู่ในกลุ่มสินค้าที่ประสบกับภาวะการส่งออกลดลงไปยังตลาดโลกโดยรวมในปี 2554 ที่ผ่านมา แต่กลับเป็นกลุ่มที่ยังคงขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอัญมณีและเครื่องประดับ รวมทั้งยางและผลิตภัณฑ์ยางที่อัตราการเติบโตโดดเด่นกว่าการส่งออกโดยรวมของ ประเทศที่สำคัญ คือ การส่งออกของ SMEs ไทยในปีที่ผ่านมา ไม่ได้พึ่งพาการส่งออกสินค้าชนิดใดชนิดหนึ่งมากเป็นพิเศษ จะมีเพียงสินค้าประเภทอัญมณีและเครื่องประดับที่มีสัดส่วนการส่งออกมาก ที่สุดอยู่ที่ร้อยละ 13.245 ที่ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นผลของการปรับขึ้นของมูลค่าสินค้าตามทิศทางราคาวัตถุดิบ โดยสินค้าส่งออกหลักของผู้ประกอบการ SMEs นอกจากอัญมณีและ เครื่องประดับ ยังมีพลาสติกและของทำด้วยพลาสติก ยางและของทำด้วยยาง ซึ่งยังคงขยายตัวต่อเนื่อง และมีมูลค่ารวมกันแล้วสูงกว่า 18,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ นอกจากนี้ ข้อสังเกตที่น่าสนใจ คือ มูลค่าการส่งออกสินค้า 5 อันดับแรกของ SMEs ในปี 2554 ขยายตัวในทิศทางที่เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม แม้ว่ายุโรปจะไม่ใช่ตลาดหลักของไทยและดูเหมือนว่าเราจะไม่ได้รับผลกระทบใน ทางตรงต่อการส่งออกไปยังยุโรปในระดับรุนแรงมากนัก แต่สิ่งที่น่ากังวลสำหรับ SMEs ไทย คือ ผู้ประกอบการที่ผลิตสินค้าหรือผู้ประกอบการที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตสินค้า ที่มีมูลค่าการส่งออกลดลงอันเนื่องมาจากผลกระทบของอุปสงค์ที่ชะลอตัว ในยุโรปและสหรัฐฯ ที่เป็นเหตุให้ประเทศที่นำเข้าสินค้าวัตถุดิบ และสินค้าขั้นกลางจากไทยเพื่อไปผลิตเป็นสินค้าขั้นสุดท้าย และส่งออกต่อไปยังยุโรปและสหรัฐฯ ต้องลดการสั่งซื้อสินค้าจาก ไทยตามไปด้วย โดยกลุ่มสินค้าที่หดตัวอย่างชัดเจนในทุกตลาดหลัก อาทิ คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้า แผงวงจรไฟฟ้า รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบเครื่องนุ่งห่ม รวมทั้งสินค้าอาหารบางประเภท เป็นต้น

สำหรับธุรกิจบริการ โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ยังคงมีโอกาสขยายตัวได้ เนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวจากทั้งเอเชีย ยุโรป และสหรัฐฯ ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยจากสถิติของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พบว่าในปี 2554 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมายังประเทศไทยมีจำนวน 19,098,323 คน เพิ่มขึ้น 3,161,923 คน หรือประมาณร้อยละ 19.8 โดยนักท่องเที่ยว 10 อันดับแรก ได้แก่ มาเลเซีย จีน ญี่ปุ่น รัสเซีย เกาหลี อินเดีย สปป.ลาว ออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร และสหรัฐฯ

กล่าวคือ วิกฤติหนี้ยุโรปจะส่งผลกระทบต่อ SMEs บางกลุ่มซึ่งเป็นผู้ผลิตหรืออยู่ในห่วงโซ่การผลิตสินค้าบางประเภทที่เกี่ยว โยงกับอุปสงค์ของตลาด ยุโรปทั้งทางตรงและทางอ้อม ที่คาดว่าน่าจะยังต้องเผชิญกับความยากลำบากในการบริหารจัดการและการประคับ ประคองธุรกิจอีกระยะหนึ่ง ขณะเดียวกัน ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อ SMEs ไทยในช่วงที่ผ่านมาและยังจะส่งผลในระยะต่อไปในระดับที่น่าเป็นห่วงมากกกว่าวิกฤติหนี้สาธารณะในยุโรป คือ ปัจจัย ภายในประเทศเอง ทั้งภาวะเงินเฟ้อ ต้นทุนการประกอบการที่สูงขึ้น ซึ่งเป็นผลจากต้นทุนด้านพลังงาน ต้นทุนค่าแรงขั้นต่ำและเงินเดือนลูกจ้างระดับปริญญาตรีที่กำลังปรับตัวสูง ขึ้นเป็น 300 บาท และ 15,000 บาท ตามลำดับ ประกอบกับปัญหาอุทกภัยในช่วง ที่ผ่านมาที่ทำให้ผู้ประกอบการ SMEs ได้รับความเสียหายไม่ ต่ำกว่า 5 แสนราย และบางรายต้องปิดกิจการ หรือต้องลดต้นทุนด้วยการเลิกจ้างงาน จึงก่อให้เกิดความเสียหายทั้งทางตรงและทางอ้อมเฉลี่ยแล้วประมาณ 71,156.42 ล้านบาทต่อเดือน และส่งผลให้เศรษฐกิจของกลุ่ม SMEs ในไตรมาส 4/2554 หดตัวลงจากไตรมาส 3/2554 ร้อยละ 1.5 ขณะที่อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของ SMEs(GDP SMEs) ในปี 2554 อาจเหลือเพียงร้อยละ 1.8-2.06 จากเดิมที่เคยมีการคาดการณ์ว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.0-4.2 ดังนั้น เมื่อปัญหาจากวิกฤติในยุโรปยังไม่อาจวางใจได้ ผนวกกับปัญหาจากปัจจัยภายในประเทศที่ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น มีแนว โน้มว่า SMEs ภาคการผลิตและการส่งออกสินค้าจะยังเผชิญกับความไม่แน่นอนของผลประกอบการ บางกลุ่มต้องประสบกับภาวะผลประกอบการลดลง หรือบางรายอาจต้องเผชิญกับภาวะขาดทุน หากยังไม่สามารถปรับตัวให้ทันกับสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไป แต่อย่างไรก็ตาม คาดการณ์ว่าการส่งออกโดยรวมของ SMEs ไทยในปี 2555 ยังเติบโตในแดนบวก แม้อาจจะเป็นไปในอัตราที่ชะลอตัวลง เพราะตลาดส่งออกหลักอย่างตลาดเอเชียยังขยายตัวได้ โดยสินค้าที่ยังมีโอกาสขยายตัวได้ดี อาทิ ชิ้นส่วนยานยนต์ ชิ้นส่วนไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อาหารแปรรูปเพื่อสุขภาพ น้ำตาล ยาง และผลิตภัณฑ์ยาง เป็นต้น ในขณะที่สินค้าแฟชั่น (เช่น สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เครื่องหนัง อัญมณีและเครื่องประดับ) สินค้าประมง รวมทั้งเหล็กและของที่ทำด้วยเหล็กต้องระวังเป็นพิเศษ

สำหรับธุรกิจบริการ คาดว่าอาจจะได้รับผลกระทบไม่มากนัก เพราะธุรกิจบริการอย่างการท่องเที่ยวยังคงขยายตัวได้ ประกอบกับการบริโภคในประเทศ เริ่มปรับตัวไปในทิศทางบวกมากขึ้น โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนกุมภาพันธ์ 2555 ปรับตัวดีขึ้นอยู่ที่ระดับ 75.57 สูงสุดในรอบ 5 เดือน ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2554 เป็นต้นมา จึงมีแนวโน้มว่าการใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าและบริการต่างๆ ของภาคครัวเรือนจะกลับมาฟื้นตัวอย่างชัดเจนมากขึ้น เป็นผลให้ธุรกิจจัดจำหน่าย และธุรกิจบริการที่เกี่ยวเนื่องกับภาคครัวเรือนกลับมาขยายตัวได้มากขึ้นเช่น กัน

สรุปและข้อเสนอแนะ

แม้ว่าจะมีสัญญาณในทางบวกจากความพยายามแก้ปัญหาวิกฤติออกมาอย่างต่อ เนื่อง แต่ธนาคารโลกก็ได้ปรับลดการขยายตัวของเศรษฐกิจยุโรป เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมาจากร้อยละ 1.8 เหลือเพียงร้อยละ -0.3 ซึ่งเมื่อเทียบกับตลาดหลักอื่นๆ แล้วตลาดยุโรปเป็นเพียงแห่งเดียวที่จะยังอยู่ในภาวะเศรษฐกิจถดถอย อย่างไรก็ตาม นอกจากวิกฤติดังกล่าวแล้ว ปัจจัยภายในประเทศอย่างต้นทุนที่สูงขึ้น และภัยธรรมชาติที่ทำให้สายการผลิตต้องสะดุดลงในช่วงปีที่ผ่านมา เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ SMEs ไทยมีผลประกอบการลดลง และผู้ประกอบการจำนวนมากต้องประสบกับภาวะยากลำบาก ปัจจัยเหล่านี้จึงเป็นสิ่งที่ต้องได้รับการจัดการอย่างเหมาะสมและเร็วที่สุด เพื่อลดระดับความรุนแรงของผลกระทบที่ จะเกิดกับ SMEs ในอนาคต ทั้งนี้ เพื่อให้ SMEs สามารถแข่งขันและอยู่รอดได้ในระยะยาว ผู้ประกอบการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรตระหนักถึงประเด็นดังต่อไปนี้

• การเพิ่มความหลากหลายของตลาดส่งออกให้มากขึ้นมุ่งไปที่ตลาดที่ยังมีโอกาส ขยายตัว หรือตลาดที่ได้รับผลกระทบจากความผันผวนที่เกิดขึ้น ในสหภาพยุโรปอย่างต่อเนื่อง โดยตลาดที่น่าสนใจ อาทิ ตลาดอาเซียน จีน อินเดีย รัสเซีย โดยเฉพาะตลาดอินเดียที่นับวันจะทวีบทบาทเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ สำหรับสินค้าที่มีโอกาสในตลาดอินเดีย อาทิ เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์พลาสติก อัญมณีและเครื่องประดับ ชิ้นส่วนยานยนต์ ผลิตภัณฑ์อลูมิเนียม เฟอร์นิเจอร์และส่วนประกอบ เครื่องสำอาง ผักและพืชประเภทถั่ว อาหารปรุงแต่ง ปลาซาร์ดีนกระป๋อง และน้ำผลไม้ เป็นต้น

• การใช้สิทธิประโยชน์จากกรอบข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) และกรอบความร่วมมืออื่นๆ ที่มีอยู่ จะช่วยให้ผู้ประกอบการด้านการส่งออกลดต้นทุน ทางด้านภาษีลงได้เป็นอย่างมาก โดยปัจจุบันไทยได้บรรลุข้อตกลงการค้าเสรีกับหลายประเทศทั้ง จีน ญี่ปุ่น อินเดีย เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เปรู ชิลี ซึ่งปัจจุบัน พบว่าการใช้สิทธิประโยชน์ทางด้านภาษียังไม่มากนัก ไม่ว่าจะเป็นสิทธิประโยชน์ภายใต้ FTA หรือสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ไทยได้รับจากประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐฯ อย่างสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร เป็นการทั่วไป (GSP) ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากผู้ประกอบการยังขาดความรู้ความเข้าใจและไม่ได้ติดตามความ คืบหน้าของข้อตกลงต่างๆ อย่างทันเหตุการณ์

• ผู้ประกอบการที่เป็นผู้ผลิตหรืออยู่ในสายการผลิตสินค้าส่งออกที่ยังขยายตัว ได้ เช่น ยางพารา อัญมณีและเครื่องประดับ น้ำมันสำเร็จรูป เม็ด พลาสติก ผลิตภัณฑ์ยาง เคมีภัณฑ์ ข้าว และอาหารแปรรูป ควรเร่งเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต และบริหารจัดการต้นทุนในการผลิตให้เหมาะสม ตลอดจนการทำการตลาดสินค้าให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าผ่านช่องทางต่างๆให้มากขึ้น โดยอาจเลือกใช้ช่องทางการตลาดและการขายสินค้ารูปแบบใหม่ที่อาจมีต้นทุนในการ บริหารจัดการต่ำลง เช่น การซื้อ-ขายผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (E-commerce) ซึ่งกำลังขยายตัวในตลาดจีน เป็นต้น ทั้งนี้ ปัจจุบันสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ได้มีการสนับสนุนให้ธุรกิจไทยให้ความสำคัญกับการใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์มาก ขึ้น ภายใต้โครงการ “ธุรกิจไทย Go Online ฟื้นฟู ก้าวไกล ปีใหม่ สดใส”

• ผู้ประกอบการที่เป็นผู้ผลิตหรืออยู่ในสายการผลิตสินค้าที่ยังอยู่ในช่วงการ ส่งออกหดตัว อาจต้องหาช่องทางในการลดต้นทุนในการผลิต หรือใช้ โอกาสนี้ในการพัฒนาสินค้าประเภทใหม่ๆ ซึ่งอาจจะตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้มากขึ้นในอนาคต

• SMEs ควรติดตามสถานการณ์ในยุโรป และผลกระทบที่จะตามมาอย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินสถานการณ์และเตรียมพร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลงให้ได้ทันท่วงที

——————————————
1 สถิติปี 2553
2 ข้อมูลจาก International Enterprise (IE) Singapore
3 อัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยในปี 2554 อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ = 30.49 บาท
4 อัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยในปี 2553 อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย 1ดอลลาร์สหรัฐฯ = 31.73 บาท
5 สินค้าที่พึ่งพาการส่งออก หมายถึง สินค้าที่มีสัดส่วนการส่งออกตั้งแต่ ร้อยละ 15 ขึ้นไป
6 ข้อมูลจากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)
7 จัดทำโดยศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

Korea โมเดล สินค้าออกของเกาหลีใต้

เมื่อนึกถึงเกาหลีใต้ในปัจจุบัน เราอาจนึกถึงละครซีรีส์ เสื้อผ้าแฟชั่นเกาหลี และเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สัญชาติเกาหลีที่กำลังได้รับ ความนิยมในไทย แต่หากมองย้อนกลับไปในยุคทศวรรษ 1960 จะพบว่าเกาหลีใต้เป็นเพียงประเทศเกษตรกรรมที่ยากจน ด้วยระดับรายได้ประชาชาติ 87 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อคนในปี 2505 (ค.ศ.1962) เท่านั้น แต่ได้ก้าวกระโดดขึ้นสู่ระดับสูงกว่า 10,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อคนในปี 2538 (ค.ศ.1995) หรือภายในเวลา 33 ปี ด้วยความน่าสนใจดังกล่าว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ศึกษาถึงพัฒนาการของความสำเร็จของเกาหลีใต้ และบทเรียนที่ธุรกิจ SMEs ไทยน่าจะสามารถนำมาปรับใช้ได้ ซึ่งพบว่ามีประเด็นสำคัญดังนี้

 ภาคอุตสาหกรรมเติบโตก้าวกระโดด … จากผู้รับเทคโนโลยี สู่ผู้พัฒนาเทคโนโลยี 

หัวใจสำคัญของพัฒนาการของภาคอุตสาหกรรมในเกาหลีใต้ คือ “การพัฒนาแบบย้อนรอย” ของกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ (แชโบล) กล่าวคือ แทนที่จะเป็นการ “วิจัย – พัฒนา – วิศวกรรม” (Research – Development – Engineering) กลับเป็น “วิศวกรรม – พัฒนา – วิจัย” กล่าวคือ เกาหลีใต้เริ่มทำการผลิต (วิศวกรรม) โดยใช้เทคโนโลยีสำเร็จรูปของต่างชาติก่อน แล้วจึงพัฒนาต่อยอดจากเทคโนโลยีที่ได้รับมานั้น และสุดท้ายจึงทำการวิจัยเพื่อสร้างนวัตกรรมเป็นของตนเอง ด้วยวิธีการดังกล่าวนับเป็นทางลัดที่สำคัญของเกาหลีใต้ที่ทำให้สามารถพัฒนาภาคอุตสาหกรรมได้ในเวลาอันสั้น จนก้าวขึ้นเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีชาติหนึ่งของโลกในปัจจุบัน โดยอุตสาหกรรมที่โดดเด่น ได้แก่ เทคโนโลยี การผลิตจอภาพ (Display) ซึ่งใช้ในโทรทัศน์จอแบนและเครื่องมือสื่อสาร


ทั้งนี้ ลำพังเพียงการใช้เทคโนโลยีสำเร็จรูปนั้นมิอาจทำให้เกาหลีใต้ผงาดขึ้นเป็นประเทศอุตสาหกรรมแนวหน้าของโลกได้เช่นปัจจุบัน แต่เส้นทางการ พัฒนาของเกาหลีใต้ยังประกอบไปด้วยอีกหลายปัจจัยที่คอยสนับสนุน อันได้แก่ ภาครัฐบาล ซึ่งมีบทบาทสูงโดยเฉพาะในยุค 1960 ต่อเนื่องถึงยุค 1970 ด้วยการสร้างแชโบล และให้การสนับสนุนแชโบลในหลายด้าน เช่น เงินอุดหนุนพิเศษ เพื่อให้แชโบลมีเงินทุนเพียงพอทั้งในการลงทุนขนาดใหญ่เพื่อการประหยัดต่อขนาด และเพื่อการวิจัยและพัฒนา รวมถึงการวางนโยบายที่มีผลต่อการพัฒนาแชโบลในระยะต่อๆ มา เช่น การเพิ่มงบประมาณทางการศึกษาในทุกระดับชั้น ซึ่งเป็นการสร้างรากฐานความรู้ที่แข็งแกร่งแก่ประชากรของประเทศ และได้กลายเป็นทรัพยากรอันมีค่าในระยะของการพัฒนาและการวิจัยเมื่อแชโบลต่างๆ ได้ก้าวผ่านระยะของการใช้เทคโนโลยีสำเร็จรูป นอกจากนั้น ยังได้กำหนดนโยบายมุ่งเน้นการส่งออก ซึ่งมีอิทธิพลต่อแชโบลต่างๆ โดยอาศัยเงื่อนไขด้านเงินอุดหนุน รวมถึงสายสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างรัฐบาลกับแชโบล เพื่อให้แชโบลได้พยายามผลักดันการเรียนรู้และพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตในเวลาอันสั้น นอกจากนั้น อีกปัจจัยที่มีผลต่อการพัฒนาของเกาหลีใต้ ได้แก่ ปัจจัยด้านสังคมและวัฒนธรรม โดยสงครามเกาหลีในปี 2493 – 2496 (ค.ศ. 1950-1953) ทำให้เกิดการหลอมรวมกันทางสังคมขึ้นจากการที่คนหนุ่มสาวต้องร่วมรับรู้ประสบการณ์สงครามร่วมกันเป็นเวลานาน และเมื่อสงครามสิ้นสุด เกาหลีใต้ก็สามารถแปรความเสียหายย่อยยับจากสงครามเกาหลี เป็นความมุ่งมั่นสู่การพัฒนาประเทศ ซึ่งสอดรับกับนิสัยขยันขันแข็งและหมั่นแสวงหาความรู้ของคนเกาหลีใต้

 ฟื้นเศรษฐกิจหลังวิกฤตต้มยำกุ้ง … ด้วยกระแสวัฒนธรรมเกาหลี 

เส้นทางการพัฒนาของเกาหลีใต้ต้องสะดุดลงอีกครั้งในปี 2540 (ค.ศ.1997) จากวิกฤติเศรษฐกิจในเอเชียที่กระทบต่อภาคการเงินของเกาหลีใต้ อย่างรุนแรงจนต้องขอรับความช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ โดยภายหลังวิกฤต เกาหลีใต้ได้จัดตั้งองค์การวัฒนธรรมและสารัตถะเกาหลี (Korea Culture and Content Agency – KOCCA) ขึ้นในปี 2544 (ค.ศ.2001) เพื่อส่งเสริมให้วัฒนธรรมเกาหลีเผยแพร่ไปยังประเทศต่างๆ มากขึ้น เนื่องจากวัฒนธรรมเป็นสินค้าชนิดหนึ่งที่สามารถนำรายได้เข้าประเทศ ได้โดยไม่ต้องใช้ต้นทุนมากและสามารถสร้างอิทธิพลในต่างแดนได้โดยไม่ต้องเผชิญการต่อต้านด้านการเมืองการปกครอง โดยภารกิจของ KOCCA คือ การส่งเสริมให้เนื้อหาสาระความเป็น ชาติเกาหลี หรือ Korea Content สอดแทรกลงไปในสื่อบันเทิงต่าง ๆ ของเกาหลีที่ส่งออกไปยังต่างประเทศ เช่น ภาพยนตร์ เกม ศิลปะ และดนตรี เป็นต้น นอกจากนั้น ยังมีการสร้างและ พัฒนาบุคลากรให้เชี่ยวชาญในเทคโนโลยีการผลิตสื่อต่างๆ รวมไปถึงการทำการตลาดและการผลักดันการส่งออกวัฒนธรรมควบคู่ไปด้วย ซึ่งกลยุทธ์ดังกล่าวนับว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีในเอเชีย ดังเห็นได้จากความนิยมในภาพยนตร์ เพลง และละครเกาหลีที่แผ่ขยายไปทั่วเอเชีย

 ความสำเร็จของเกาหลีเป็นแบบอย่างการพัฒนา (Model) ของประเทศกำลังพัฒนา 

เมื่อมองย้อนไปถึงเส้นทางการพัฒนาของเกาหลีใต้ ตั้งแต่ยุคหลังสงครามเกาหลี (ทศวรรษ 1960) จนถึงปัจจุบันจะเห็นได้ว่า ยุคต่างๆ ในการพัฒนาของเกาหลีใต้เป็นไปในลักษณะของการผสมผสานกันระหว่างกลยุทธ์หลายรูปแบบ เริ่มตั้งแต่ยุคแรกที่เป็นการใช้เทคโนโลยีสำเร็จรูปด้านอุตสาหกรรมจากทั้งญี่ปุ่นและสหรัฐฯ เพื่อเป็นการ “เรียนทางลัด” สู่การฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว ในขณะเดียวกันก็เร่งลงทุนด้านการศึกษาเพื่อรองรับการพัฒนาขั้นต่อไป ซึ่งได้ถูกนำออกมาใช้ในระยะที่สองซึ่งเป็นช่วงที่เทคโนโลยีสำเร็จรูปถูกใช้ จนเต็มศักยภาพ ทำให้เกิดการต้องเร่งเรียนรู้เทคโนโลยีที่รับการถ่ายทอดมา โดยอาศัยพื้นฐานการศึกษาที่สั่งสมไว้1 หลังจากเข้าใจอย่างถ่องแท้แล้ว จึงเข้าสู่ระยะที่สาม คือการคิดค้น และพัฒนาขึ้นเอง ดังเช่นการที่บริษัทเกาหลีใต้บางบริษัทสามารถเป็นผู้นำของโลกในบางอุตสาหกรรมได้ เช่น โทรทัศน์จอแบน โดยเป็นที่น่าสังเกตว่า ในระยะหลังๆ โดยเฉพาะหลังวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 (ค.ศ.1997) เกาหลีใต้เริ่มพัฒนาจากการมุ่งเน้นภาคอุตสาหกรรม สู่การเป็นภาคอุตสาหกรรมที่ผสมผสานการตลาดมากขึ้น เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า ขณะเดียวกัน ก็มีการพัฒนาอุตสาหกรรมวัฒนธรรมเพื่อสร้างรายได้เข้าประเทศอย่างจริงจังอีกด้วย


จากแบบอย่างความสำเร็จของเกาหลีใต้ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วดังกล่าว ทำให้ประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียหลายประเทศกำลังพยายามยึดเกาหลีใต้ เป็นต้นแบบการพัฒนาในแง่ของการส่งเสริมวัฒนธรรม เช่น กัมพูชา เวียดนาม อินโดนีเซีย และบังคลาเทศ โดยเฉพาะเวียดนามที่มีความสนใจเป็นพิเศษจนกระทั่งมีการส่งข้าราชการไปดูงานในเกาหลีใต้หลายครั้ง ขณะเดียวกัน ในประเทศไทย ก็เริ่มมีการเติบโตของกลุ่มบรรษัทเอกชนขนาดใหญ่ในแบบของ “แชโบล” เช่นกัน

 ถอดบทเรียนที่อาจปรับใช้เพื่อการพัฒนาของธุรกิจ SMEs ในไทย 

1. ผู้ผลิตในเกาหลีใต้ไม่หยุดนิ่งอยู่กับการใช้เทคโนโลยีสำเร็จรูป หากแต่มีความกระตือรือร้นที่จะก้าวสู่การพัฒนาเทคโนโลยีเป็นของตนเอง ซึ่งผู้ ประกอบการ SMEs ไทยอาจเริ่มโดยพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตเป็นบางส่วน เช่น พัฒนาประสิทธิภาพการผลิต OEM ที่เคยรับจ้างผลิตให้ประหยัดต้นทุนการผลิตมากขึ้น จากนั้นจึงพัฒนาสู่ผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาขึ้นเองต่อไป โดยในปัจจุบัน มีหลายหน่วยงานภาครัฐที่คอยสนับสนุน เช่น สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ซึ่งมีการจัดโครงการพัฒนาศักยภาพ ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมต่างๆ อยู่เป็นระยะ นอกจากนั้น ในส่วนของเงินทุน ผู้ประกอบการมีหลายทางเลือก ทั้งสถาบันการเงินของเอกชนและรัฐบาล ซึ่งต่างก็มีการนำเสนอบริการทางการเงิน ควบคู่กับบริการให้คำปรึกษาทางการเงิน

2. ภาคอุตสาหกรรมเกาหลีใต้มีการใช้ประโยชน์จากพื้นความรู้ของแรงงานค่อนข้างมาก ซึ่งสะท้อนความสำคัญของการศึกษา ต่อการพัฒนาของภาคอุตสาหกรรม ซึ่งในกรณีของผู้ประกอบการ SMEs ไทยอาจไม่สามารถลงทุนด้านการศึกษาของแรงงานได้ด้วยตนเอง (ซึ่งต่างจากผู้ผลิตรายใหญ่ที่สามารถสร้างสถาบันอบรมเทคนิคเฉพาะทางได้) อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการอาจส่งแรงงานเข้าร่วมการฝึกอบรมที่จัดโดยหน่วยงานเครือข่ายของกระทรวงอุตสาหกรรม เช่น สถาบันเหล็กและเหล็กกล้า สถาบันไฟฟ้าและ อิเล็กทรอนิกส์ สถาบันไทย-เยอรมัน เป็นต้น ซึ่งมีการจัดฝึกอบรมด้านเทคโนโลยีอยู่เป็นระยะๆ

3. ภาคอุตสาหกรรมในเกาหลีใต้ให้ความสำคัญกับการทำการตลาดเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับตราสินค้า ซึ่งจะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจได้มาก โดยปัจจุบัน มีตราสินค้าของเกาหลีใต้ในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ 2 รายที่อยู่ใน 100 อันดับแรกของโลก (จากการจัดอันดับมูลค่าเพิ่มตราสินค้าโดย Millward Brown ปี 2554) และยังมีตราสินค้ายานยนต์ที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลก ซึ่งจากแบบอย่างดังกล่าว ผู้ประกอบการ SMEs ไทยอาจนำเอาแนวคิดด้านตราสินค้ามาประยุกต์ใช้กับผลิตภัณฑ์ของตนในส่วนที่อยู่นอกเหนือการผลิตตามคำสั่ง (OEM) เพื่อสร้างความแตกต่างจากผู้ผลิตรายอื่นในอุตสาหกรรมเดียวกัน

4. รัฐบาลเกาหลีใต้มีบทบาทมากในระยะเริ่มต้นของการพัฒนาอุตสาหกรรมในเกาหลีใต้ ซึ่งนับว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมเกาหลีใต้เติบโตแข็งแกร่งตราบจนปัจจุบัน

1) ในด้านการสนับสนุน รัฐบาลเกาหลีใต้สนับสนุนอย่างเต็มที่ในปัจจัยที่จำเป็นต่อการพัฒนา ที่ภาคเอกชนไม่สามารถจัดหามาได้ด้วยตนเอง เช่น จัดสรรเงินทุนสำหรับการพัฒนาและการวิจัยของ แชโบลในระยะเริ่มต้น หรือการลงทุนขยายการศึกษาทั่วประเทศเพื่อสร้างฐานความรู้ให้กับประชากรของประเทศ ซึ่งกลายเป็นแรงงานที่มีคุณภาพให้แก่แชโบลต่างๆ ในระยะถัดไป

2) ในด้านการสร้างแรงท้าทาย รัฐบาลเกาหลีใต้มีการสร้างเงื่อนไขที่ท้าทายให้แชโบลต้องเร่งพัฒนาตนเองอยู่เสมอ โดยใช้เงื่อนไขจูงใจด้านเงินอุดหนุน หรืออาศัยสายสัมพันธ์ใกล้ชิดที่มีต่อกันในการกำหนดแนวทาง เช่น ในปี 2516 (ค.ศ.1973) รัฐบาลได้ให้บริษัทผู้ผลิตรถยนต์เกาหลีเสนอแผนการผลิตรถยนต์ต่อรัฐบาล โดยต้องเป็นรถยนต์ที่ออกแบบใหม่ ขนาดเครื่องยนต์ เล็กกว่า 1,500 ซีซี และใช้ชิ้นส่วนในประเทศไม่ต่ำกว่าร้อยละ 95 ด้วยต้นทุนในการผลิตต่ำกว่า 2,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ และมีกำลังการผลิตไม่ต่ำกว่า 50,000 คัน/ปี โดยจะต้องออกจำหน่ายภายในปี 2518 (ค.ศ.1975) ซึ่งในครั้งนั้นทำให้บริษัทหนึ่งเกิดการก้าวกระโดดทางเทคโนโลยี โดยสามารถเสนอแผนผลิตรถยนต์ที่กำลังการผลิต 80,000 คัน/ปี จากเดิมที่ในขณะ นั้นผลิตได้เพียง 5,436 คัน/ปีเท่านั้น2

เมื่อเทียบเคียงกับสถานการณ์ของ SMEs ไทย พบว่า ส่วนใหญ่รัฐบาลไทยยังมีบทบาทเป็นการช่วยเหลือด้านเงินทุน และมาตรการในยามเกิดปัญหาหรือวิกฤต เช่น ผลกระทบจากเหตุการณ์สึนามิ ผลกระทบจากอุทกภัย แต่มาตรการในการพัฒนา SMEs ให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีเทคโนโลยีของตนเองยังมีน้อย ดังนั้น เพื่อเกื้อหนุนการเติบโตของธุรกิจ SMEs ไทยให้พัฒนาได้อย่างต่อเนื่อง ภาครัฐจึงควรมีบทบาทที่เหมาะสมกับสถานการณ์ในแต่ละช่วงเวลา สำหรับบทบาทเฉพาะหน้า นับว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในภาวะที่เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มไม่สดใสนักจากผลกระทบของการชะลอตัวในเศรษฐกิจโลก อีกทั้งยังมีผลกระทบจากเหตุการณ์อุทกภัยเมื่อปลายปี 2554 ซึ่งกระทบต่อสภาวะการทำธุรกิจของผู้ประกอบการ SMEs อย่างมาก โดยภาครัฐอาจช่วยเหลือในด้านเงินทุนเพื่อพัฒนา SMEs ด้วยการจัดตั้งกองทุนพิเศษเพื่อธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย สำหรับบทบาทในระยะยาว ควรสร้างแผนปฏิบัติการและผลักดันให้ได้รับการปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง ทั้งในด้านการอุดหนุนส่งเสริมในปัจจัยที่ SMEs ไม่สามารถลงทุนด้วยตนเองได้ เช่น ในด้านเงินกู้เพื่อพัฒนานวัตกรรม การจัดตั้งสถาบันวิจัยที่สามารถทำหน้าที่เป็นที่พึ่งพิงด้านเทคโนโลยีแก่ SMEs ที่เพิ่งเริ่มทำธุรกิจ และการลงทุนด้านการศึกษาของแรงงานในระดับประเทศ ขณะเดียวกันภาครัฐก็ควรสร้างแรงผลัก ดันให้ธุรกิจ SMEs เกิดการพัฒนาออกนอกกรอบความสำเร็จเดิมๆ เช่น การวางเป้าหมายการพัฒนาด้านนวัตกรรมเพื่อแลกกับสิทธิประโยชน์เช่นด้านภาษีหรือเงินอุดหนุน เป็นต้น นอกจากนั้น ภาครัฐควรเร่งส่งเสริมธุรกิจ SMEs ทางเลือกที่ไทยมีศักยภาพ ที่นอกเหนือจากอุตสาหกรรมหลักที่ต่างชาติลงทุนในไทย เช่น พลังงานชีวภาพชีวมวล อุตสาหกรรมการเกษตร และ อุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งเป็นการช่วยสร้างรากฐานด้านเทคโนโลยีแก่ธุรกิจ SMEs ไทยในอุตสาหกรรมที่เหมาะสมกับทรัพยากรที่ไทยมีและเพื่อเป็นการปรับตัวต่อแนวโน้มการกระจายฐานการผลิตของญี่ปุ่นในอุตสาหกรรมหลัก เช่น อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ เหล็กและโลหการที่อาจเกิดขึ้นในระยะต่อไปด้วย

——————————————–
1 โดยตัวอย่างได้แก่การที่บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ของเกาหลีใต้ได้สั่งให้วิศวกรถอดประกอบรถยนต์ต้นแบบเพื่อศึกษาเทคโนโลยีที่รับถ่ายทอดมา
2 บัญชา ธนบุญสมบัติ. เกาหลีใต้ “ก้าวหน้า” และ “ก้าวพลาด” อย่างไร ในการพัฒนาเทคโนโลยีและอุตสาหกรรม? นิตยสารสารคดี ปีที่ 15 ฉบับที่ 179 มกราคม 2543. 74-87

เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยเดือนมีนาคม 2555 ยังสะท้อนการฟื้นตัว…แต่เริ่มชะลอลง

ภาวะเศรษฐกิจไทยในเดือนมีนาคม 2555 ยังคงสะท้อนทิศทางการฟื้นตัวของภาคอุตสาหกรรมจากเหตุการณ์น้ำท่วมเมื่อปลายปีก่อน ขณะที่ภาคการใช้จ่ายในประเทศเริ่มมีภาพของการชะลอตัวลง แม้ว่าจะได้รับแรงสนับสนุนจากกิจกรรมการซ่อมแซม-ฟื้นฟูที่ยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐบาลก็ตาม ด้านการส่งออกกลับมาหดตัวอีกครั้งจากฐานที่สูงในปีก่อน ประกอบกับภาวะการแข่งขันด้านราคาในตลาดโลกที่รุนแรงยิ่งขึ้นในกลุ่มสินค้าเกษตรกรรม และสถานการณ์เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญ ที่กลับเข้าสู่ภาวะเสี่ยงทั้งสหรัฐฯ และยุโรป รวมทั้งจีน ที่เริ่มมีสัญญาณเศรษฐกิจชะลอตัว

            ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย
                 ยกเว้น ดัชนีการผลิตสินค้าเกษตรและดัชนีราคาสินค้าเกษตร ใช้ตัวเลขของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร และดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมและอัตราการใช้กำลังการผลิต ใช้ตัวเลขของสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม 

สรุปประเด็นเศรษฐกิจที่สำคัญในเดือนมีนาคม 2555 และอัตราเงินเฟ้อเดือนเมษายน 2555

ภาคเกษตรกรรมเดือนมีนาคม 2555 รายได้เกษตรยังคงหดตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อน ตามผลผลิตและราคาสินค้าเกษตรที่ยังหดตัว โดยเมื่อเทียบกับปี ก่อน ดัชนีผลผลิตการเกษตรเดือนมีนาคม หดตัวร้อยละ 0.3 (YoY) จากผลผลิตข้าวที่แม้จะมีปริมาณเพิ่มขึ้น แต่ก็ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าปีก่อน ขณะที่สินค้าเกษตรสำคัญอื่น เช่น ปาล์มน้ำมัน และยางพารา มีปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้น ด้านดัชนีราคาสินค้าเกษตรหดตัวร้อยละ 8.4 (YoY) ส่วนหนึ่งเป็นผลจากราคายางพาราที่ลดลงจากระดับที่สูงมากในปีก่อน เนื่องจากความต้องการยางพาราของจีนซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักยังคงชะลอลง

ภาคอุตสาหกรรมยังคงมีทิศทางการฟื้นตัวต่อเนื่องจากเดือนกุมภาพันธ์ ตามแรงสนับสนุนจากกิจกรรมการฟื้นฟู-ซ่อมแซมสายการผลิตของบาง อุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นเร็วกว่าที่คาด เห็นได้จากอัตราการใช้กำลังการผลิตเดือนมีนาคมที่เพิ่มมาอยู่ที่ร้อยละ 68.07 ซึ่งเป็นระดับที่สูงสุดนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2554 ที่เหตุการณ์น้ำท่วมเริ่มส่ง ผลต่อการผลิตภาคอุตสาหกรรม อัตราการใช้กำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นจนสูงกว่าช่วงก่อนเกิดอุทกภัยนี้ เป็นผลจากการเร่งกำลังการผลิตในภาคอุตสาหกรรมยานยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้าเป็นหลัก ขณะที่อุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ นั้น แม้จะมีความล่าช้าในการฟื้นตัว แต่ก็มีทิศทางการเพิ่มอัตราการใช้กำลังการผลิตอย่างต่อเนื่องเช่นกัน

การฟื้นตัวของอุตสาหกรรมสำคัญจากผลกระทบของน้ำท่วม ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนมีนาคมหดตัวเพียงร้อยละ 3.2 (YoY) ใกล้เคียงกับเดือนก่อน โดยหมวดอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก (อาทิ เครื่องใช้ไฟฟ้า หลอดอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้สำนักงาน สิ่งทอ และรองเท้า) หดตัวในอัตราที่น้อยลงมาที่ร้อยละ 13.5 (YoY) ดี ขึ้นจากที่หดตัวร้อยละ 18.3 (YoY) ในเดือนก่อน ขณะที่หมวดอุตสาหกรรมที่ผลิตเพื่อขายในประเทศ (ได้แก่ เครื่องดื่ม ปิโตรเลียม พลาสติก และผลิตภัณฑ์ยาง) ขยายตัวร้อยละ 7.2 (YoY)หมวดอุตสาหกรรมที่ผลิตเพื่อจำหน่ายทั้งในประเทศและส่งออก (เช่น เคมีภัณฑ์ ยานยนต์ และรถจักรยานยนต์) ขยายตัวร้อยละ 10.5 (YoY)

สำหรับภาพรวมในไตรมาส 1/2555 การผลิตภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม สะท้อนให้เห็นทิศทางการฟื้นตัวของบางอุตสาหกรรมจากผลกระทบน้ำท่วมในช่วงปลายปีก่อนที่เร็วกว่าที่คาดแม้จะยังไม่กลับสู่ภาวะปกติ ผ่านดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมที่หดตัวลงเพียงร้อยละ 7.1 (YoY) ดีขึ้นมากจากที่หดตัวถึงร้อยละ 34.2 (YoY) ในไตรมาส 4/2554 และอัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยที่เพิ่มมาอยู่ที่ร้อยละ 63.0 จากร้อยละ 46.3 ในไตรมาสก่อน ขณะที่ ดัชนีผลผลิตการเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.4 (YoY) ตามปริมาณผลผลิตที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม เริ่มกลับสู่ภาวะปกติ อย่างไรก็ดี ราคาพืชผลที่ยังคงหดตัวร้อยละ 12.2 (YoY) จากราคายางพาราและปาล์มน้ำมันที่สูงมากในปีก่อน ส่งผลให้รายได้เกษตรกร หดตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 2 ที่ร้อยละ 10.9 (YoY)

การบริโภคภาคเอกชนเดือนมีนาคม 2555 ยังขยายตัวเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน เป็นผลจากการฟื้นตัวของภาคการผลิต และกำลังซื้อเพื่อตอบสนองความต้องการคงค้าง (Pent-up Demand) ที่ยังมีอยู่ต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี เครื่องชี้ที่สำคัญหลายตัวมีอัตราการขยายตัวที่ชะลงจากเดือนก่อน ทั้งการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มและมูลค่าการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคที่ขยายตัวร้อยละ 11.3 (YoY) และร้อยละ 4.3 (YoY) ตามลำดับ ชะลอจากร้อยละ 19.3 (YoY) และร้อยละ 15.3 (YoY) ในเดือนกุมภาพันธ์ ตามลำดับ และ ปริมาณจำหน่ายยานยนต์ที่ขยายตัวร้อยละ 0.8 (YoY) ชะลอลงจากเดือนกุมภาพันธ์ที่ขยายตัวร้อยละ 7.8 (YoY) การชะลอตัวดังกล่าว ส่งผลให้ดัชนีการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวในอัตราชะลอลงมาที่ร้อยละ 3.7 (YoY) จากร้อยละ 6.6 (YoY) ในเดือนกุมภาพันธ์

      การลงทุนภาคเอกชนเดือนมีนาคม 2555 ก็มีทิศทางชะลอตัวเช่นเดียวกัน โดยแม้ว่าจะยังได้รับแรงบวกจากการเร่งลงทุนและฟื้นฟูกิจการที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม แต่ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ การนำเข้าสินค้าทุน และปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ ก็ขยายตัวชะลอลงมาที่ร้อยละ 2.1 (YoY) ร้อยละ 4.0 (YoY) และร้อยละ 20.3 (YoY) ตามลำดับ จากที่ขยายตัวร้อยละ 4.2 (YoY) ร้อยละ 41.6 (YoY) และร้อยละ 30.2 (YoY) ตามลำดับ และถ่วงให้ดัชนีการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 9.0 (YoY) ลดลงจากที่ขยายตัวร้อยละ 9.3 (YoY) ในเดือนกุมภาพันธ์

สำหรับความเชื่อมั่นภาคเอกชนยังคงปรับตัวดีขึ้นเช่นเดียวกับทิศทางการขยายตัวของภาคการใช้จ่ายในประเทศ ทั้งดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ความเชื่อมั่นทางธุรกิจและความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ที่ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 76.6 ระดับ 55.5 และระดับ 102.1 ในเดือนมีนาคม สะท้อนให้เห็นบรรยากาศการลงทุนและการจับจ่ายใช้สอย ที่ปรับตัวดีขึ้นจากเหตุการณ์น้ำท่วมเป็นลำดับ สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนเมษายน 2555 ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 สู่ระดับสูงสุดในรอบ 7 เดือนที่ 77.6 อย่างไรก็ดี ค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น ได้เริ่มสร้างความกังวลใจให้แก่ผู้บริโภค สะท้อนให้เห็นจากระดับการปรับเพิ่มดัชนีคาดการณ์ความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ชะลอตัวลง ส่วนภาคธุรกิจนั้น ความกังวลด้านต้นทุน ที่เพิ่มขึ้นและภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่ยังมีความเปราะบาง ได้สะท้อนผ่านดัชนีคาดการณ์ต้นทุนการผลิต และดัชนีคาดการณ์ยอดสั่งซื้อจากต่างประเทศที่ลดระดับลงเช่นกัน

      สำหรับภาพรวมในไตรมาสแรกของปี 2555 ภาคการใช้จ่ายในประเทศได้รับแรงหนุนจากกิจกรรมเร่งฟื้นฟู-ซ่อมแซม และทดแทนส่วนที่เสียหายจากน้ำท่วมในช่วงปลายปี 2554 ของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ จนสามารถพลิกกลับมาขยายตัวได้เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 4.1 (YoY) เทียบกับไตรมาสก่อนที่ขยายตัวเพียงร้อยละ 1.2 (YoY) ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวสูงถึงร้อยละ 9.0 (YoY) จากที่หดตัวร้อยละ 3.7 (YoY) ในไตรมาสก่อน

ด้านการค้าระหว่างประเทศ การส่งออกเดือนมีนาคม มีมูลค่า 19, 661 ล้านดอลลาร์ฯ ลดลงร้อยละ 6.8 (YoY) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน โดยเป็นผลจากฐานมูลค่าการส่งออกที่สูงมากในปีก่อน ประกอบกับการสูญเสียความสามารถในการแข่งขันด้านราคาของสินค้าส่งออกในหมวดเกษตร และหมวดอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานในการ ผลิตอย่างเข้มข้น (เช่น สิ่งทอ และเครื่องนุ่งห่ม) ที่มีมูลค่าส่งออกหดตัวลงอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี สินค้าที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม เช่น ยานยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์ สามารถฟื้นกลับมา ส่งออกได้มากขึ้น สำหรับการนำเข้าในเดือนมีนาคม มีมูลค่า 21,062 ล้านดอลลาร์ฯ ขยายตัวถึงร้อยละ 21.5 (YoY) โดยมีสาเหตุหลักมาจากการเร่งนำเข้าน้ำมันดิบเพื่อเพิ่มการสำรองน้ำมันดิบของประเทศ และโรงกลั่นบางแห่งต้องการเร่งการผลิตก่อนจะปิดซ่อมบำรุงในเดือนพฤษภาคม


การนำเข้าที่เพิ่มขึ้นสูงสุดเป็นประวัติกาณ์นี้ ทำให้ไทยบันทึกดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล 1, 401 ล้านดอลลาร์ฯ และ 1,522 ล้านดอลลาร์ฯ ตามลำดับ จากที่เกินดุล 2,052 ล้านดอลลาร์ฯ และ 1,092 ล้านดอลลาร์ฯ ในเดือนก่อน ตามลำดับ

หากพิจารณาไตรมาสที่ 1/2555 พบว่า ไทยบันทึกดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล1,173 ล้านดอลลาร์ฯ และ 551 ล้านดอลลาร์ฯ ตามลำดับ จากภาคการส่งออกที่มีมูลค่า 53,803 ล้านดอลลาร์ฯ หดตัวร้อยละ 4.0 (YoY) เป็นผลจากการหดตัวของสินค้าเกษตรกรรมที่ต้องเผชิญกับภาวะการแข่งขันด้านราคาที่มีความรุนแรงมากขึ้น ในตลาดโลก ส่วนสินค้าอุตสาหกรรมนั้น แม้ยังอยู่ในภาวะหดตัว แต่ก็มีสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจนขึ้น ตามการฟื้นตัวของภาคอุตสาหกรรมในประเทศ โดยเฉพาะในสินค้ากลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ได้แก่ ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องจักรและอุปกรณ์ ขณะที่สินค้าเกษตรยังคงหดตัวจากภาวะการแข่งขันด้านราคาที่มีความรุนแรงมากขึ้นในตลาดโลก ขณะที่การนำเข้า มีมูลค่า 52,630 ล้านดอลลาร์ฯ ขยายตัวร้อยละ 9.6 (YoY) ตามการนำเข้าน้ำมันดิบ สินค้าอุปโภคบริโภค และสินค้าทุนที่เร่งตัวขึ้น ตามการบริโภคและการลงทุนในประเทศ

อัตราเงินเฟ้อเดือนเมษายน 2555 ชะลอลงมากกว่าที่คาด จากฐานที่สูงในปีก่อนหน้าที่ราคาสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่มเพิ่มสูงขึ้นมากจากภาวะภัยแล้ง ประกอบกับมีการปรับขึ้นราคาน้ำมันปาล์ม นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อเดือนเมษายน 2555 ที่ชะลอลง ยังเป็นผลมาจากราคาอาหารสด เช่น เนื้อหมู-ไก่ สัตว์น้ำ และไข่ไก่ ที่กลับเข้าสู่ภาวะปกติ หลังจากเร่งตัวขึ้นมากในช่วงวิกฤติอุทกภัย ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปชะลอลงมาอยู่ที่ร้อยละ 2.47 (YoY) จากร้อยละ 3.45 (YoY) ในเดือนมีนาคม โดยสินค้าหมวดอาหาร และเครื่องดื่ม เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.51 (YoY) ชะลอลงจากร้อยละ 7.07 (YoY) ในเดือนก่อน ขณะที่สินค้าที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.18 (YoY) และเมื่อหักสินค้าในกลุ่มอาหารสดและพลังงานออกแล้ว อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.13 (YoY) ชะลอจากร้อยละ 2.77 (YoY) ในเดือนมีนาคม

  


ค่าเงินบาทในประเทศ (Onshore) ณ สิ้นเดือนเมษายน 2555 ปิดตลาดที่ระดับ 30.74 บาทต่อดอลลาร์ฯ แข็งค่าขึ้นจาก 30.84 บาทต่อดอลลาร์ฯ ณ สิ้น เดือนมีนาคม 2555 หลังจากที่สหรัฐฯ ประกาศตัวเลข GDP ไตรมาส 1/2555 ต่ำกว่าที่คาด ทำให้เงินดอลลาร์ฯ อ่อนค่าลงในวันทำการสุดท้าย หลังจากเคลื่อนไหวอย่างผันผวนตลอดทั้งเดือน เมษายน ตามปัจจัยที่ตลาดให้ความสำคัญ คือ กระแสการคาดการณ์ต่อโอกาสการเกิดมาตรการผ่อนคลายรอบใหม่ของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) และวิกฤติหนี้สาธารณะในยูโรโซน

โดยสรุป ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยเดือนมีนาคม 2555 ยังคงอยู่ในทิศทางการฟื้นตัวจากเหตุการณ์น้ำท่วมเมื่อปลายปีก่อน สะท้อนผ่านการเร่งกำลังการผลิตของอุตสาหกรรมที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม และดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมที่หดตัวในอัตราที่ลดลงตามลำดับ อย่างไรก็ดี ภาคการผลิตที่ปรับตัวดีขึ้น ยังไม่เพียงพอต่อการรักษาอัตราการขยายตัวของภาคการส่งออกซึ่งได้รับความกดดันทั้งด้านราคาและภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า รวมทั้งฐานมูลค่าการส่งออกที่สูงมากในปีก่อน ทำให้ภาคการส่งออกพลิกกลับมาหดตัวอีกครั้ง ขณะที่ภาคการใช้จ่ายในประเทศเริ่มมีสัญญาณของการชะลอตัว จากความกังวลด้านค่าครองชีพและต้นทุนการผลิตที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

จากภาวะที่ภาคการผลิตและการส่งออกของไทยยังไม่กลับสู่ภาวะปกติ เมื่อผนวกกับภาพความอ่อนแรงของภาคการใช้จ่ายในประเทศในช่วงเดือน มีนาคม อาจส่งผลให้อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจในไตรมาสแรกของปี 2555 ลดต่ำลงกว่าที่ประเมินไว้ ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงทำการปรับลดตัวเลขคาดการณ์อัตราการขยายตัว เศรษฐกิจไทยไตรมาส 1/2555 ลงมาที่ร้อยละ 0.3 (YoY) น้อยกว่าประมาณการเดิมที่ร้อยละ 1.0 (YoY) อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังคงมุมมองเดิมว่า ภาคการผลิต ภาคการส่งออก รวมทั้งเครื่องชี้เศรษฐกิจในภาคส่วนอื่นๆ น่าจะสามารถกลับมาขยายตัวได้อย่างพร้อมเพรียงกันในไตรมาส 2/2555 แต่ยังต้องติดตามปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่จะมีผลต่อการรักษาอัตราการขยายตัว ของเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2555 อย่างใกล้ชิด ทั้งภาวะค่าครองชีพและต้นทุนการผลิตที่มีผลกระทบต่อสถานการณ์เงินเฟ้อ ภัยธรรมชาติ และทิศทางเศรษฐกิจโลก สำหรับภาพรวมปี 2555 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังคงตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจไทยที่ร้อยละ 4.5-6.0 ไว้เช่นเดิม

เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยเดือนกุมภาพันธ์ 2555 ขยายตัวต่อเนื่องทุกกิจกรรม

     ภาวะเศรษฐกิจไทยในเดือนกุมภาพันธ์ 2555 สะท้อนภาพการเร่งตัวของกิจกรรมเศรษฐกิจที่ชัดเจนขึ้นจากเดือนก่อน ตามภาคอุตสาหกรรมที่ฟื้นตัว เข้าใกล้ระดับก่อนน้ำท่วมได้เร็วกว่าที่คาด และความเชื่อมั่นภาคเอกชนที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลให้การใช้จ่ายในประเทศเติบโตได้ในอัตราสูง ขณะที่การส่งออกพลิกกลับมาขยายตัวตามผลผลิตที่เพิ่มขึ้น และสถานการณ์เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่เริ่มมีเสถียรภาพและยังไม่มีปัจจัยลบที่มีนัยสำคัญมากระทบในระยะนี้


ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย
ยกเว้น ดัชนีการผลิตสินค้าเกษตรและดัชนีราคาสินค้าเกษตร ใช้ตัวเลขของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร และดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมและอัตราการใช้กำลังการผลิต ใช้ตัวเลขของสำนัก งานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม 

สรุปประเด็นเศรษฐกิจที่สำคัญในเดือนกุมภาพันธ์ 2555 และอัตราเงินเฟ้อเดือนมีนาคม 2555 
ภาคเกษตรกรรมเดือนกุมภาพันธ์ 2555 มีสัญญาณการปรับตัวดีขึ้นของผลผลิตสินค้าเกษตรที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5 (YoY) เมื่อเทียบกับปีก่อน และ ร้อยละ 1.2 (MoM) เมื่อเทียบกับเดือนก่อน ตามผลผลิตของยางพารา อ้อย มันสำปะหลัง ที่ปรับตัวดีขึ้น และปาล์มน้ำมันที่เข้าสู่ฤดูเก็บเกี่ยว ขณะที่ราคาสินค้าเกษตรลดลงร้อยละ 16.1 (YoY) และร้อยละ 1.3 (MoM) ดีขึ้นจากเดือนมกราคมที่ลดลงร้อยละ 5.2 (MoM) เนื่องจากราคายางพาราและปาล์มน้ำมันเริ่มปรับตัวสูงขึ้นจากเดือนก่อน หลังจากที่อุตสาหกรรมยานยนต์ ฟื้นตัว และความต้องการน้ำมันในประเทศเพิ่มขึ้นสูงขึ้น เช่นเดียวกับราคาข้าวที่ได้รับประโยชน์จากโครงการรับจำนำของรัฐบาล

ภาคอุตสาหกรรมเร่งตัวขึ้นเข้าใกล้ระดับก่อนอุทกภัยได้เร็วกว่าที่คาด สะท้อนจากอัตราการใช้กำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 62.27 ในเดือนกุมภาพันธ์ จากร้อยละ 58.46 ในเดือนก่อน นำโดย การฟื้นฟู-ซ่อมแซมสายการผลิตของอุตสาหกรรมยานยนต์ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมจนกลับมาดำเนินกิจกรรมได้เกือบเป็นปกติ ขณะที่ การเร่งเพิ่มกำลังการผลิตของอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า ฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ แม้ว่าจะทำได้ล่าช้ากว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ แต่ก็นับว่ามีความคืบหน้าไปมาก จากหลายเดือนก่อนเช่นกัน ทั้งนี้ กำลังการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้นส่งผลให้ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในเดือนกุมภาพันธ์ หดตัวในอัตราที่ลดลงเหลือเพียงร้อยละ 3.4 (YoY) เมื่อเทียบกับปีก่อน ดีขึ้นจากที่หดตัวร้อยละ 15.0 (YoY) ในเดือนก่อน โดยหมวดอุตสาหกรรมที่ผลิตเพื่อขายในประเทศ (ได้แก่ เครื่องดื่ม ปิโตรเลียม พลาสติก และผลิตภัณฑ์ยาง) ขยายตัวร้อยละ 19.6 (YoY) หมวดอุตสาหกรรมที่ผลิตเพื่อจำหน่ายทั้งในประเทศและส่งออก (เช่น เคมีภัณฑ์ ยานยนต์ และรถจักรยานยนต์) ขยายตัวร้อยละ 8.5 (YoY) ขณะที่ หมวดอุตสาหกรรมที่ผลิตเพื่อส่งออก (อาทิ เครื่องใช้ไฟฟ้า หลอดอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้สำนักงาน สิ่งทอ และรองเท้า) หดตัวในอัตราที่น้อยลงมาที่ร้อยละ 18.6 (YoY) เทียบกับเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ 29.3 (YoY)

การบริโภคภาคเอกชนได้รับแรงหนุนจากการฟื้นตัวของกำลังซื้อในช่วงหลังน้ำลด ส่งผลให้ภาพรวมการบริโภคยังขยายตัวได้ดีในกลุ่มสินค้าอุปโภค บริโภค เห็นได้จากมูลค่านำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคและการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มที่ขยายตัวร้อยละ 15.3 (YoY) และร้อยละ 19.3 (YoY) ตามลำดับ ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับการบริโภคสินค้าคงทน ทั้งรถยนต์นั่งและรถจักรยานยนต์ ที่ขยายตัวร้อยละ 2.7 (YoY) และร้อยละ 6.8 (YoY) ตามลำดับ หลังจากที่ภาวะการผลิตของอุตสาหกรรมยานยนต์ฟื้นตัว และปัญหาขาดแคลนชิ้นส่วนคลี่คลายลงไปมาก ทั้งนี้ ดัชนีการบริโภคภาคเอกชนเดือนกุมภาพันธ์ ขยายตัวร้อยละ 6.6 (YoY) ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวที่สูงกว่าในช่วงก่อนเกิดอุทกภัย

การลงทุนภาคเอกชนก็มีแนวโน้มการฟื้นตัวต่อเนื่องเช่นกัน เห็นได้จากดัชนีการลงทุนภาคเอกชนเดือนกุมภาพันธ์ที่ขยายตัวร้อยละ 8.8 (YoY) เร่งตัว ขึ้นมากจากเดือนก่อนที่ขยายตัวเพียงร้อยละ 0.6 (YoY) ตามการเร่งลงทุน และกิจกรรมซ่อมแซม-ฟื้นฟูสายการผลิต-การค้า หลังน้ำลด ทำให้มูลค่าการนำเข้าสินค้าทุน มูลค่าการจำหน่าย เครื่องจักรในประเทศ และยอดจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ ขยายตัวร้อยละ 40.7 (YoY) ร้อยละ 8.6 (YoY) และร้อยละ 30.2 (YoY) ตามลำดับ ด้านการลงทุนโครงการก่อสร้างใหม่ก็ยังมี อยู่ต่อเนื่อง เห็นได้จากยอดจำหน่ายปูนซีเมนต์ และมูลค่าโครงการขอรับส่งเสริมการลงทุน ที่ขยายตัวร้อยละ 2.0 (YoY) และร้อยละ 89.7 (YoY) ตามลำดับ

ความเชื่อมั่นภาคเอกชนมีทิศทางสอดคล้องกับการฟื้นตัวของภาคการใช้จ่ายในประเทศ โดยความเชื่อมั่นผู้บริโภค ความเชื่อมั่นทางธุรกิจและความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม พร้อมใจกันปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ75.5 ระดับ 100.9 และระดับ 52.7 ในเดือนกุมภาพันธ์ โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากภาพของการฟื้นตัวภาคอุตสาหกรรมหลังน้ำลดที่มีความชัดเจนขึ้นเป็นลำดับ ทำให้เกิดการเร่งตัวของการบริโภคและการลงทุนเพื่อตอบสนองความต้องการเดิมที่มีอยู่ และเพื่อซ่อมแซม-ฟื้นฟูส่วนที่เสียหาย อย่างไรก็ดี ผู้บริโภคและ ผู้ประกอบการ ยังคงมีความกังวลใจในประเด็นค่าครองชีพที่คาดว่าจะทรงตัวในระดับสูง ความไม่แน่นอนของสถานการณ์การเมืองไทย และภาวะเศรษฐกิจโลก ซึ่งสะท้อนผ่านการปรับตัว ลดลงของดัชนีคาดการณ์ทั้ง 3 ตัว สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนมีนาคม 2555 ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 สู่ระดับ 76.6 สูงสุดในรอบ 6 เดือน

ด้านการค้าระหว่างประเทศ การส่งออกเดือนกุมภาพันธ์ มีมูลค่า 18,621 ล้านดอลลาร์ฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.2 (YoY) เมื่อเทียบกับปีก่อน ดีขึ้นจากที่หดตัวร้อยละ 6.1 (YoY) ในเดือนมกราคม โดยเป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมที่กลับมาขยายตัวร้อยละ 4.7 (YoY) ดีขึ้นจากที่หดตัวร้อยละ 8.8 (YoY) ในเดือนมกราคม โดยเฉพาะการส่งออกในหมวดผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมที่ได้รับอานิสงส์จากการปรับตัวขึ้นของราคาในตลาดโลก และการส่งออกยานยนต์ที่เพิ่มขึ้นตามการผลิตในประเทศที่ฟื้นตัวจากอุทกภัย ส่วนสินค้าเกษตรกรรมยังคงหดตัวร้อยละ 15.1 (YoY) สำหรับการนำเข้าในเดือนกุมภาพันธ์ มีมูลค่า 16,569 ล้านดอลลาร์ฯ ขยายตัวร้อยละ 8.2 (YoY) จากการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค และสินค้าทุน ที่ขยายตัวถึงร้อยละ 25.5 (YoY) และร้อยละ 21.9 (YoY) ตามลำดับ ตามการเติบโตของการใช้จ่ายในประเทศ
ทั้งนี้ มูลค่าการส่งออกที่เพิ่มขึ้นนี้ ทำให้ไทยสามารถบันทึกดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลถึง 2,052 ล้านดอลลาร์ฯ และ 1,092 ล้าน ดอลลาร์ฯ ตามลำดับ ดีขึ้นจากเดือนก่อนที่เกินดุล 522 ล้านดอลลาร์ฯ และ 981 ล้านดอลลาร์ฯ ตามลำดับ

อัตราเงินเฟ้อเดือนมีนาคม 2555 เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 โดยเร่งตัวขึ้น หลังราคาสินค้าปรับตัวเพิ่มขึ้นตามต้นทุนการผลิต-ขนส่ง ที่มีแรงหนุน จากราคาเชื้อเพลิงในประเทศ ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.45 (YoY) เมื่อเทียบกับปีก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.59 (MoM) เมื่อเทียบกับเดือนก่อน นำโดย หมวดอาหารและ เครื่องดื่ม เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.66 (MoM) และหมวดที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.55 (MoM) และเมื่อหักสินค้าในกลุ่มอาหารสดและพลังงานซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.24 (MoM) ออก แล้ว อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.77 (YoY) และ 0.33 (MoM) ตามลำดับ

ค่าเงินบาทในประเทศ (Onshore) ปิดตลาด ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2555 ที่ระดับ 30.84 บาทต่อดอลลาร์ฯ อ่อนค่าลงจาก 30.26 บาทต่อดอลลาร์ฯ ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2555 จากแรงซื้อดอลลาร์ฯของกลุ่มผู้นำเข้า และความกังวลต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ หลังจากมีการเปิดเผยตัวเลขดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและตัวเลขอุตสาหกรรมที่ต่ำกว่าที่คาด ทำให้นักลงทุนลดสัดส่วนการถือครองสินทรัพย์เสี่ยง และเทขายสกุลเงินในภูมิภาคเอเชียในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือน ส่งผลให้ค่าเงินบาท ณ สิ้นเดือนมีนาคม อ่อนค่าลงจากระดับปิด ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ร้อยละ 1.9


ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยเดือนกุมภาพันธ์ สะท้อนภาพการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจชัดเจนขึ้นกว่าเดือนมกราคม โดยนอกจากภาคการใช้จ่ายในประเทศที่ยังรักษาอัตราการขยายตัวได้ดีแล้ว เศรษฐกิจไทยยังได้รับแรงหนุนจากภาคอุตสาหกรรมและภาคการส่งออกที่ฟื้นตัวเร็วกว่าที่คาด ปัจจัยบวกดังกล่าว น่าจะส่งผลให้เศรษฐกิจในไตรมาสที่ 1/2555 กลับมาขยายตัวได้ราวร้อยละ 1.0 (YoY) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และต่อเนื่องไปยังไตรมาสที่ 2/2555 สำหรับช่วงครึ่งหลังของปี 2555 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า เศรษฐกิจไทยต้องเผชิญความท้าทายในการรักษาอัตราการขยายตัว เนื่องจากมีปัจจัยเสี่ยงหลายประการที่อาจกดดันให้การเติบโตของเศรษฐกิจไม่เป็นไป ตามที่คาด อาทิ ภาวะต้นทุนการผลิต ค่าครองชีพ และแรงกดดันเงินเฟ้อในประเทศ ตลอดจนทิศทางเศรษฐกิจต่างประเทศที่ยังอาจสะท้อนภาพเชิงลบจากการชะลอตัวของจีน และวิกฤตหนี้ยุโรป เป็นต้น ด้วยเหตุนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงยังคงตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจไทยทั้งปี 2555 ที่กรอบร้อยละ 4.5-6.0 โดยต้องติดตามประเด็นค่าครองชีพและภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งอาจจะมีแรงกดดันที่สูงขึ้น และทำให้ภาพรวมของอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปี 2555 ทรงตัวอยู่ในระดับสูงร้อยละ 3.9

ขีดความสามารถการส่งออกข้าวไทยจะเพิ่มขึ้นหรือลดลง…อยู่ที่การปรับตัวรับการแข่งขัน

ตั้งแต่ปี 2551 ซึ่งเกิดภาวะวิกฤตอาหาร ส่งผลให้ราคาสินค้าอาหารรวมทั้งข้าวพุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ ทำให้เป็นโอกาสของประเทศที่ผลิตสินค้าอาหารส่งออก เพิ่มการผลิตเพื่อโอกาสในการขยายตลาด ในขณะที่อีกหลายประเทศเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับความมั่นคงทางด้านอาหารของประเทศ รวมทั้งการลดการพึ่งพิงการนำเข้าสินค้าอาหาร โดยการขยายการผลิตทั้งเพื่อให้เพียงพอกับการบริโภคในประเทศ และเพื่อเป็นผู้ส่งออกสินค้าอาหารในอนาคต ดังนั้น การแข่งขันในการส่งออกสินค้าอาหารในตลาดโลกจึงทวีความรุนแรงมากขึ้น
ในบรรดาสินค้าอาหารส่งออกของไทย ข้าวมีส่วนแบ่งประมาณร้อยละ 20 ของมูลค่าสินค้าอาหารส่งออก ซึ่งนับว่าเป็นสัดส่วนมากที่สุดในบรรดา สินค้าส่งออกอาหารไม่แปรรูป โดยไทยครองอันดับหนึ่งในการส่งออกข้าวมาตั้งแต่ปี 2524 อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมา การแข่งขันในการส่งออกข้าวเผชิญการแข่งขันรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะจากเวียดนามที่ก้าวขึ้นมาเป็นที่สองรองจากไทยในการส่งออกข้าวในตลาดโลก ช่วงห่างของปริมาณการส่งออกข้าวของไทยและเวียดนามเแคบลงอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ อินเดียที่เริ่มกลับมาส่งออกข้าวขาวและข้าวนึ่งอีกครั้งหลังจากที่หยุดส่งออกไป 3 ปี (ยังคงส่งออกข้าวบัสมาติ) ส่งผลให้ปริมาณการส่งออกข้าวของอินเดียเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในปี 2554 และ 2555 ซึ่งการที่ทั้งเวียดนามและอินเดียเข้ามาเบียดแย่งตลาดส่งออกข้าวไทย โดยอาศัยความได้เปรียบในการแข่งขันในด้านราคาส่งออกที่ต่ำกว่า ส่งผลให้ประเทศผู้นำเข้าข้าวหันไปนำเข้า ข้าวจากเวียดนามและอินเดียเพิ่มขึ้น ดังนั้น คาดการณ์ว่าในปี 2555 ปริมาณการส่งออกข้าวของไทยมีแนวโน้มลดลง อย่างไรก็ตาม คาดว่าไทยยังจะรักษาตำแหน่งประเทศผู้ส่งออกข้าว อันดับหนึ่งไว้ได้ในปี 2555 โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าไทยจะส่งออกข้าวได้ประมาณ 8.0 ล้านตันข้าวสาร ส่วนเวียดนามและอินเดียส่งออกได้ที่ปริมาณ 7.1 ล้านตันข้าวสารและ 7.0 ล้าน ตันข้าวสารตามลำดับ(คาดการณ์ว่าอินเดียสามารถแซงสหรัฐฯขึ้นมาเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับสามของโลกได้ในปี 2555)


ที่มา : USDA หมายเหตุ : ปี 2554/55 ปรับตามข้อมูลล่าสุด

ในระยะถัดไปโจทย์ที่ท้าทายของประเทศไทยคือ การพัฒนาขีดความสามารถในการส่งออกข้าวเพื่อเตรียมรับมือกับการแข่งขันที่ยังคงรุนแรง โดยมีโอกาสที่ทั้งเวียดนามและอินเดียอาจจะแซงขึ้นเป็นประเทศผู้ส่งออกข้าวอันดับหนึ่งของโลก เนื่องจากตลาดที่บริโภคข้าวเป็นอาหารหลักอยู่ในทวีปเอเชียและแอฟริกา และเป็นสินค้าที่บริโภค โดยกลุ่มคนที่มีรายได้ปานกลางลงไปค่อนข้างมาก ซึ่งตลาดกลุ่มนี้ราคาเป็นปัจจัยสำคัญอันดับแรกในการเลือกซื้อข้าว ในขณะที่ราคาข้าวส่งออกของไทยอยู่ในเกณฑ์ที่สูงกว่าคู่แข่งขันเมื่อ เทียบกับชนิดข้าวประเภทเดียวกัน กล่าวคือ ราคาส่งออกข้าวณ วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2555 ของไทยอยู่ในระดับที่สูงกว่าเวียดนาม 129-144 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ตัน (ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับประเภทข้าว) และสูงกว่าอินเดีย 79-154 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ตัน ซึ่งจะเห็นได้ว่าเวียดนามเป็นคู่แข่งสำคัญในการส่งออกข้าวขาว ส่วนอินเดียเป็นคู่แข่งสำคัญในการส่งออกข้าวขาว(โดยเฉพาะข้าวขาว5% และ 25%) และข้าวนึ่ง ดังนั้น การที่จะแย่งตลาดส่งออกข้าวกลับมาจากเวียดนาม และอินเดียก็ต้องทำให้ราคาส่งออกไม่แตกต่างกันมากนัก และอาศัยจุดแข็งของไทยในด้านการยอมรับใน มาตรฐานคุณภาพข้าว และการส่งมอบที่ตรงตามสัญญา

แนวทางการที่จะทำให้ส่วนต่างของราคาส่งออกข้าวลดลงเพี่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน

 ระยะสั้น ภายใต้นโยบายการแทรกแซงตลาดข้าว โดยการยกระดับราคาที่เกษตรกรขายได้ส่งผลโดยตรงที่ทำให้ราคาข้าวส่งออกของไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ในขณะที่รัฐบาลไทยเองก็ยังมีโจทย์ที่ต้องช่วย เหลือชาวนาให้มีรายได้ในระดับที่อยู่ได้ การปรับตัวของผู้ส่งออกในระยะสั้นอาจต้องมุ่งแสวงหาตลาดใหม่ๆในผลิตภัณฑ์ข้าวที่ไม่เน้นการแข่งขันด้านราคา โดยเฉพาะข้าวคุณภาพพิเศษ เช่น ข้าวหอมมะลิ ข้าวกล้อง ข้าวอินทรีย์ เป็นต้น และในระยะถัดไป สิ่งที่ควรต้องดำเนินการคือ การจัดตั้งไรซ์บอร์ด(Rice Board) ทั้งนี้เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการค้าข้าวทั้งระบบเข้ามามีส่วนร่วม แสดงความคิดเห็น ซึ่งจะทำให้สามารถกำหนดทิศทางการค้าข้าวได้ ตั้งแต่การควบคุมคุณภาพการผลิต ราคาของการซื้อขาย การแทรกแซงตลาด ไปจนถึงนโยบายการส่งออก แนวคิดนี้ ในต่างประเทศประสบความสำเร็จมาแล้ว เช่น Wheat Board และ Coffee Board ของประเทศตะวันตก Palm Board ของมาเลเซีย ซึ่งล้วนตั้งขึ้นมาเพื่อดูแลตั้งแต่การผลิตให้มีคุณภาพ และ ปริมาณที่เหมาะสม กำหนดราคา รวมไปถึงการส่งออกด้วย ซึ่งจะส่งผลให้การเพิ่มขีดความสามารถในการส่งออกข้าวของไทยประสบความสำเร็จ

 ระยะยาว ในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว คือ

– การลดต้นทุนการผลิตโดยการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ประเด็นสำคัญอยู่ที่การเพิ่มผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศคู่แข่งสำคัญ ในการส่งออกข้าวอย่างเวียดนามและอินเดียแล้ว ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ของไทยอยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำกว่ามาโดยตลอด และมีแนวโน้มค่อนข้างคงที่ตลอดช่วงระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา ในขณะที่ผลผลิตเฉลี่ยของประเทศคู่แข่งสำคัญ โดยเฉพาะเวียดนามมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สาเหตุสำคัญที่ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ของไทยอยู่ในเกณฑ์ต่ำ คือ แหล่งน้ำในการทำนาไม่เพียงพอ โดยมีพื้นที่ทำนาที่อยู่ในเขตชลประทานเพียงประมาณร้อยละ 20 ของพื้นที่ทำนาทั้งประเทศ จากข้อมูลการสำรวจผลิตข้าวต่อไร่ของไทยเมื่อปี 2553 ที่ผ่านมาพบว่า ข้าวนาปีในพื้นที่นอกเขตชลประทานมีผลผลิตเฉลี่ยเพียง 364 กิโลกรัมต่อไร่ ส่วนในเขตชลประทานให้ผลผลิต 542 กก./ไร่ ส่วนข้าวนาปรังซึ่งจะทำในเฉพาะพื้นที่ชลประทานทั้งประเทศให้ผลผลิตเฉลี่ยถึง 702 กก./ไร่ โดยเฉพาะในพื้นที่ชลประทานภาคกลางผลผลิตข้าวพันธุ์ปทุมธานี 1 เฉลี่ยต่อไร่สูงถึง 785 กก./ไร่สูงกว่าค่าเฉลี่ยผลผลิตข้าวทั่วโลก ดังนั้น การขยายเขตพื้นที่ชลประทานนับว่าเป็นแนว ทางสำคัญในการเพิ่มผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่

นอกจากประเด็นในเรื่องแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรแล้ว ประเด็นที่มีความสำคัญรองลงมา คือ การส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการทำการเกษตร โดยเฉพาะพันธุ์ข้าว และการใช้เคมีภัณฑ์ทางการเกษตร (ปุ๋ยและยาปราบศัตรูพืช) ให้เหมาะสมกับแหล่งปลูกข้าวแต่ละท้องที่ การใช้เครื่องจักรกลการเกษตรในระดับไร่นา (รถไถนา รถเกี่ยว ข้าวฯลฯ) เพื่อลดต้นทุนในการเก็บเกี่ยว(ทั้งในด้านค่าจ้างแรงงาน และระยะเวลาในการเก็บเกี่ยว) อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องระวัง คือ การใช้เทคโนโลยีที่ไม่ถูกต้องหรือไม่เหมาะสมก็มีส่วนส่ง ผลให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นเช่นกัน เช่น การใช้ปุ๋ยเคมีที่ไม่เหมาะสมกับดิน การใช้ยากำจัดศัตรูพืชมากเกินไปหรือใช้ผิดประเภท เป็นต้น

– การปรับผลผลิตข้าวให้ตรงกับความต้องการของตลาดทั้งในด้านปริมาณ ประเภทและคุณภาพ ซึ่งเป็นการยึดตลาดเป็นหลักในการวางแผนการผลิต ทั้งนี้เพื่อให้ข้าวที่ผลิตออกมาสามารถแข่งขันกับประเทศคู่แข่งได้ เช่น ทิศทางการแข่งขันในระยะถัดไปไทยจะขยับขึ้นไปส่งออกข้าวคุณภาพพิเศษ (ข้าวหอมมะลิ ข้าวเฉพาะท้องถิ่น ข้าวกล้อง ข้าวอินทรีย์ ฯลฯ) และผลิตภัณฑ์ข้าวสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับข้าวแทนการส่งออกข้าวในรูปเมล็ด ซึ่งผลิตภัณฑ์ข้าวของไทยยังมีโอกาสในการขยายตลาด ทั้งตลาดในประเทศและตลาดส่งออก

จากแนวทางในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในการส่งออกข้าว เห็นได้ชัดเจนว่ามีแนวโน้มว่าขีดความสามารถในการส่งออกข้าวของไทยมีแนวโน้มลดลงในระยะถัดไป เนื่องจากแนวทางในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในระยะสั้นเป็นไปได้ยาก ส่วนการลดต้นทุนการผลิตและการปรับผลผลิตให้ตรงกับความต้องการของตลาดต้องอาศัยระยะเวลา และการดำเนินการอย่างจริงจังและต่อเนื่อง รวมทั้งยังต้องพึ่งพิงการสนับสนุนจากรัฐบาลเป็นอย่างมาก รวมทั้งการดำเนินการแทรกแซงตลาดโดยการยกระดับราคาที่เกษตรกรขายได้อย่างต่อเนื่องก็ไม่ได้สร้างแรงจูงใจให้ชาวนาพัฒนาคุณภาพข้าวเพื่อที่จะขายข้าวให้ได้ในราคาที่สูงขึ้น ซึ่งปัญหาในเรื่องคุณภาพข้าวอาจจะเป็นปัญหาที่สร้างแรงกดดันต่อความสามารถในการแข่งขันที่สำคัญในอนาคต

เมื่อขีดความสามารถในการแข่งขันในการส่งออกข้าวมีแนวโน้มลดลง บรรดาผู้ประกอบการSMEs ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจข้าวต้องเร่งปรับตัวเพื่อประคองตัวให้อยู่รอด โดยแยกเป็นประเภทของผู้ประกอบการ ดังนี้

 โรงสี ผู้ประกอบการโรงสีที่เป็นSMEs (โรงสีขนาดกลางและเล็กกำลังการผลิตน้อยกว่า100 ตัน/วัน ) มีจำนวน 37,362 โรงงาน1 คิดเป็นร้อยละ 96.6 ของจำนวนโรงสีทั้งหมด โดยปกติมาร์จิ้นสุทธิของธุรกิจโรงสีจะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 1-3 สำหรับข้าวขาว ส่วนข้าวหอมมะลิ ข้าวหอมปทุม และข้าวนึ่งจะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 4-62 ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพของโรงสี รายได้หลักหรือประมาณ ร้อยละ 66 เป็นรายได้จากการขายข้าวต้นข้าวท่อน และปลายข้าว ส่วนรายได้ที่เหลืออีกร้อยละ 35 เป็นรายได้จากผลพลอยได้ ซึ่งแยกเป็นแกลบร้อยละ 24 และรำข้าวร้อยละ 11 ซึ่งข้าว ท่อนเป็นวัตถุดิบสำหรับทำเส้นก๋วยเตี๋ยว ส่วนแกลบ รำข้าว ปลายข้าว เป็นที่ต้องการของบรรดาโรงงานไฟฟ้าชีวมวล และอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ตามลำดับ ในภาวะที่การส่งออกมีแนวโน้มลดลง บรรดาธุรกิจโรงสีต้องเร่งปรับตัวด้วยการพยายามเข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าวเพื่อลดโอกาสของการขาดทุนจากการเผชิญกับภาวะตลาดเอง ส่วนโรงสีที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการรับ จำนำก็ต้องพยายามเก็บข้าวไว้จำหน่ายเป็นข้าวเก่า ซึ่งโดยปกติจะเก็บไว้ได้ประมาณ 6-9 เดือน และทยอยขายออกไป ซึ่งคงต้องเผชิญกับภาวะขาดทุน แต่จะมากหรือน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพการบริหารจัดการของโรงสีแต่ละแห่ง

 โรงงานผลิตผลิตภัณฑ์ข้าว อุตสาหกรรมแปรรูปข้าวส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการSMEs จำแนกเป็นโรงงานผลิตภัณฑ์ประเภทอบ จำนวน 231 โรงงาน ผลิตภัณฑ์ประเภทเส้น จำนวน 422 โรงงาน โรงงาน ผลิตแป้งสตาร์ชและผลิตภัณฑ์จากสตาร์ช จำนวน 57 โรงงาน3 โรงงานเหล่านี้จะเป็นแหล่งดูดซับผลผลิตข้าวที่คาดว่าจะเหลืออยู่ในประเทศเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากคาดว่าการส่งออกข้าวของไทยมีแนวโน้มลดลง ดังนั้น การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับข้าวโดยการส่งออกในรูปผลิตภัณฑ์ข้าวนับว่าเป็นแนวทางที่สำคัญ ซึ่งนอกจากโรงงานผลิตภัณฑ์ข้าวที่มีอยู่แล้วควรต้องเร่งมีการเพิ่มการวิจัยและพัฒนาเพื่อเพิ่มประเภทของผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลายมากขึ้น โดยเน้นผลิตภัณฑ์ที่เกาะกระแสสุขภาพ ซึ่งอยู่ในความต้องการของผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน เช่น น้ำมันรำข้าว เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพที่ใช้วัตถุดิบจากข้าว ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดส่วนบุคคล(สบู่จากข้าว) อาหารเสริมสุขภาพจากข้าว เป็นต้น

 ผู้ส่งออกข้าวที่เป็นผู้ประกอบการSMEs แนวทางการปรับตัวของผู้ส่งออกข้าวไทย ซึ่งต้องแยกการปรับตัวตามประเภทของข้าว เนื่องจากข้าวแต่ละประเภทเผชิญการแข่งขันในตลาดที่แตกต่างกัน ดังนี้

• ผู้ส่งออกข้าวนึ่ง การส่งออกข้าวนึ่งของไทยครองตลาดโลก ในช่วงที่อินเดียงดส่งออก โดยมีคู่แข่งรายเล็กอย่างอุรุกวัยที่เข้ามาสร้างความผันผวนให้กับตลาดส่งออกในบางช่วง แต่ก็เป็นเพียงช่วงระยะสั้นๆเท่านั้น(เฉพาะในบางปีที่มีผลผลิตมากพอที่จะส่งออก) แต่การกลับเข้ามาส่งออกข้าวนึ่งของอินเดีย ทำให้ตลาดข้าวนึ่งมีการแข่งขันอย่างรุนแรง เนื่องจากราคาข้าวนึ่งของอินเดียอยู่ในระดับต่ำกว่าไทย ส่งผลให้ประเทศผู้รับซื้อข้าวนึ่ง ซึ่งส่วนใหญ่จำกัดอยู่เฉพาะในแอฟริกา และตะวันออกกลางหันไปซื้อข้าวนึ่งจากอินเดีย ผู้ส่งออกข้าวนึ่งของไทยคงต้องรอจังหวะการส่งออกข้าวนึ่งหลังจากผู้ส่งออกอินเดีย ซึ่งในช่วงที่ชะลอการผลิตข้าวนึ่ง ก็อาจปรับมาผลิตข้าวขาวทั้งเพื่อส่งออกและป้อนตลาดในประเทศไปก่อน หรือการเจาะขยายตลาดข้าวนึ่งในยุโรปและสหรัฐฯ ซึ่งจัดว่าเป็นตลาดข้าวนึ่งตลาดบน หรือตลาดที่บริโภคข้าวนึ่งในฐานะที่เป็นข้าวเพื่อสุขภาพ แม้ว่าปัจจุบันตลาดยังมีขนาดค่อนข้างเล็กเมื่อเทียบกับตลาดในแอฟริกาและตะวันออกกลาง แต่ก็เป็นตลาดที่น่าสนใจ เนื่องจากมีแนวโน้มเติบโตอยู่ในเกณฑ์ดี

• ผู้ส่งออกข้าวขาว ผู้ส่งออกข้าวขาวของไทยนั้นต้องเผชิญการแข่งขันอย่างรุนแรงอยู่แล้วจากเวียดนาม โดยในระยะที่ผ่านมาเวียดนามแข่งขันในการส่งออกข้าวขาว15% และข้าวขาว25% ซึ่งเป็นตลาดข้าวระดับปานกลางถึงต่ำ โดยตลาดข้าวเหล่านี้อยู่ในแอฟริกา และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ อย่างไรก็ตามในระยะไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้เวียดนามเริ่มขยับขึ้นมาแข่งขันในการส่งออกข้าวขาว5% และข้าวขาว10% ซึ่งเป็นตลาดข้าวระดับบน โดยเวียดนามใช้ราคาข้าวที่อยู่ในระดับต่ำกว่าไทย เป็นหัวหอกในการเบียดแย่งตลาดข้าวจากไทย

การปรับตัวของผู้ส่งออกข้าวขาว กรณีผู้ส่งออกที่มีกิจการโรงสีด้วย ปัจจุบันผู้ส่งออกข้าวบางรายที่มีกิจการโรงสีด้วย เมื่อตลาดข้าวส่งออกหดตัว ก็เริ่มหันมาผลิตข้าวสารบรรจุถุงจำหน่ายในประเทศ ดังนั้น ในตลาดค้าปลีก ทั้งในร้านค้าปลีกสมัยใหม่และร้านค้าปลีกดั้งเดิมจะมียี่ห้อข้าวสารบรรจุถุงใหม่ๆมาวางจำหน่ายเพิ่มมากขึ้น ซึ่งนับเป็นโอกาสดีของผู้บริโภคในประเทศที่มีทางเลือกในการซื้อมากขึ้น นอกจากตลาดค้าปลีกแล้วผู้ส่งออกข้าวหันมาเจาะตลาดค้าส่ง โดยเฉพาะโรงแรม โรงพยาบาล สถานศึกษา โรงงาน ฯลฯ ซึ่งตลาดค้าส่งนี้แข่งขันโดยการประมูล และไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายในการจัดจำหน่ายปลีก(ตรายี่ห้อ บรรจุภัณฑ์ แรงงาน การขนส่งฯลฯ)

นอกจากนี้ ผู้ส่งออกข้าวบางรายเริ่มหันไปผลิตข้าวที่มีคุณสมบัติพิเศษ โดยไทยยังมีความได้เปรียบในการส่งออกข้าวที่มีคุณสมบัติพิเศษหรือข้าวเพื่อสุขภาพ เช่น ข้าวกล้อง ข้าวอินทรีย์ ข้าวเสริมวิตามิน ข้าวผสมสมุนไพร เป็นต้น ซึ่งแม้ว่าตลาดจะยังไม่กว้างมากนัก และยังต้องหันไปควบคุมในขั้นตอนการผลิต รวมทั้งยังต้องการการสื่อสารกับผู้บริโภคให้มั่นใจในผลิตภัณฑ์ แต่ตลาดข้าวประเภทนี้ก็ยังมีแนวโน้มเติบโตอยู่ในเกณฑ์ดี และคุณภาพข้าวของไทยได้รับการยอมรับ ซึ่งแนวทางการเจาะขยายตลาดต้องเน้นจับตลาดผู้มีรายได้สูง และผู้ที่สนใจในเรื่องสุขภาพ โดยผู้ส่งออกต้องเข้าไปศึกษาพฤติกรรมการบริโภคข้าวของผู้บริโภคแต่ละตลาดเพื่อเป็นแนวทางในการผลิตข้าวให้ตรงตามความต้องการ ของผู้บริโภค รวมทั้งการหาพันธมิตรหรือตัวแทนการจัดจำหน่ายเพื่อกระจายสินค้าให้เข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคเป้าหมายในแต่ละประเทศ

ผู้ส่งออกข้าวขาวบางรายเลือกที่จะขยายกิจการผลิตภัณฑ์ข้าว เพื่อที่จะป้อนตลาดในประเทศ และตลาดส่งออก การส่งออกผลิตภัณฑ์ข้าวน่าจะเป็นทางเลือกในการหลีกเลี่ยงการแข่งขันที่รุนแรง รวมทั้งยังเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์อีกด้วย โดยผลิตภัณฑ์ข้าวของไทยที่น่าสนใจ คือ น้ำมันรำข้าว และผลิตภัณฑ์อาหารเสริมจากข้าว ซึ่งถือว่าเป็นสินค้าเพื่อสุขภาพที่ได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลายในต่างประเทศ รวมทั้งยังมีโอกาสในการขยายตลาดในประเทศอีกด้วย นอกจากนี้ สินค้าประเภทขนมขบเคี้ยว แป้งข้าว เส้นหมี่เส้นก๋วยเตี๋ยว ขนมปังกรอบ ฯลฯ ก็เป็นผลิตภัณฑ์ข้าวที่น่าสนใจ แม้ว่าปัจจุบันตลาดส่วนใหญ่จะอยู่ในประเทศ แต่ก็มีโอกาสในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ในการเจาะขยายตลาด เนื่องจากความต้องการในตลาดต่างประเทศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

• ผู้ส่งออกข้าวหอมมะลิ ในช่วงที่ผ่านมาข้าวหอมมะลิของไทยได้รับการยอมรับในต่างประเทศ และเป็นตลาดข้าวระดับบนที่ไทยครอบครองมาอย่างยาวนาน คู่แข่งในตลาดบนหรือตลาดระดับเดียวกับข้าวหอมมะลิไทย คือ ข้าวบาสมาติของอินเดีย แต่ด้วยเอกลักษณ์เฉพาะตัวของทั้งข้าวหอมมะลิและข้าวบัสมาติ รวมทั้งราคาข้าวบาสมาติของอินเดียก็อยู่ในเกณฑ์ที่สูงกว่าข้าวหอมมะลิของไทย ทำให้ผู้บริโภคจะเป็นคนละกลุ่มเป้าหมายกัน สำหรับคู่แข่งขันทางอ้อมของข้าวหอมมะลิของไทย คือ ข้าวหอมท้องถิ่น เนื่องจากราคาข้าวหอมมะลิอยู่ในเกณฑ์สูง ทำให้ประเทศผู้ผลิตข้าวเริ่มหันมาขยายการผลิตข้าวหอมท้องถิ่นเพื่อมาแข่งขันกับข้าวหอมมะลิ เช่น ข้าวหอมเวียดนาม ข้าวหอมของจีน ข้าวหอมของเม็กซิกัน เป็นต้น ในขณะที่สภาพเศรษฐกิจส่งผลให้ผู้บริโภคข้าวหอมมะลิบางรายเปลี่ยนไปบริโภคข้าวหอมท้องถิ่น ซึ่งมีราคาถูกกว่า ทำให้ผู้ส่งออกข้าวหอมมะลิเริ่มเผชิญกับปัญหาท้าทาย ในการถูกเบียดแย่งตลาด โดยตลาดที่เริ่มมีปัญหา ได้แก่ ตลาดในฮ่องกงและมาเลเซีย ข้าวหอมของเวียดนามเริ่มเข้ามาเบียดแย่งตลาด ในสหรัฐฯ มีข้าวหอมจากเม็กซิโกเข้ามาแข่งขัน ฯลฯ รวมทั้ง ผู้ส่งออกข้าวหอมมะลิของไทยยังเผชิญปัญหาการปลอมปนข้าวหอมมะลิในตลาดจีน ซึ่งเป็นตลาดที่มีแนวโน้มว่าข้าวหอมมะลิของไทยยังมีโอกาสในการขยายตลาดได้อีกมาก เนื่องจากข้าวหอมมะลิของไทยเป็นที่นิยมบริโภคของชาวจีนเป็นอย่างมาก ประเด็นที่รัฐบาลและผู้ส่งออกต้องร่วมมือกันเพื่อรักษาตลาดส่งออกข้าวหอมมะลิ โดยการศึกษาพฤติกรรมการบริโภค ข้าวหอมมะลิของแต่ละตลาด ทั้งนี้เพื่อผลิตข้าวหอมมะลิให้ตรงตามความต้องการของแต่ละตลาดหรือสำหรับกลุ่มผู้บริโภคเป้าหมายเฉพาะ รวมทั้งการสื่อสารกับผู้บริโภคให้ทราบถึงคุณลักษณะพิเศษของข้าวหอมมะลิ และขอความร่วมมือกับรัฐบาลของประเทศปลายทางเพื่อที่จะควบคุมคุณภาพของข้าวหอมมะลิในระดับค้าปลีก

• ผู้ส่งออกข้าวเหนียว ข้าวเหนียวนับเป็นข้าวที่ไม่เผชิญการแข่งขันที่รุนแรง โดยไทยครองตลาดส่งออกเกือบทั้งหมด และการส่งออกก็ได้ราคาอยู่ในเกณฑ์ดี อย่างไรก็ตาม ตลาดส่งออกข้าวเหนียวจะค่อนข้างแคบ โดยตลาดที่บริโภคโดยตรงนั้นจำกัดอยู่เพียงไม่กี่ประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่มีแรงงานหรือคนเอเชียเข้าไปตั้งรกรากอยู่ อย่างไรก็ตาม ตลาดที่กว้างกว่าน่าจะเป็นตลาดแป้งข้าวเหนียว ซึ่งนำไปทำขนมและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยตลาดนี้เป็นตลาดที่ภาคเอกชนควรให้ความสนใจในการขยายตลาด อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ต้องคำนึงถึงด้วยคือ ข้อจำกัดในการขยายปริมาณการผลิตข้าวเหนียว ซึ่งพื้นที่ปลูกส่วนใหญ่จะอยู่ในภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ และมีการปลูกเฉพาะในช่วงนาปี เท่านั้น

โดยสรุปแล้วไทยกำลังเผชิญความท้าทายจากการที่จะถูกแย่งตำแหน่งผู้ส่งออกข้าวอันดับหนึ่งของโลก จากประเทศคู่แข่งขันสำคัญ คือ เวียดนาม และอินเดีย ที่เข้ามาเบียดแย่งสัดส่วนการส่งออกข้าวในตลาดโลก โดยอาศัยความได้เปรียบในเรื่องราคา สิ่งที่ไทยต้องเร่งดำเนินการคือ การพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งในระยะสั้น คือ การกำหนดนโยบายแทรกแซงราคาที่เหมาะสม และการจัดตั้งไรซ์บอร์ด เพื่อกำหนดทิศทางการค้าข้าวได้ ตั้งแต่การควบคุมคุณภาพการผลิต ราคาของการซื้อขาย การแทรกแซงตลาด ไปจนถึงนโยบายการส่งออก ส่วนในระยะยาว ไทยต้องลดต้นทุนการผลิตโดยการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และการปรับผลผลิตข้าวให้ตรงกับความต้องการของตลาดทั้งในด้านปริมาณ ประเภทและคุณภาพ อย่างไรก็ตาม คาดว่าขีดความสามารถในการส่งออกข้าวของไทยในระยะถัดไปมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันต้องอาศัยระยะเวลา และการดำเนินการอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ทำให้บรรดาผู้ประกอบการSMEsในธุรกิจข้าว ทั้งโรงสี โรงงานผลิตผลิตภัณฑ์ข้าว และผู้ส่งออกข้าวต้องเร่งปรับตัวเพื่อประคองตัวให้อยู่รอด

————————————————————————————
1 กรมโรงงานอุตสาหกรรม
2 ข้อมูลจากผู้ประกอบการโรงสี
3 กรมโรงงานอุตสาหกรรม

Climate Change : การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศกับการปรับตัวของธุรกิจเอสเอ็มอีไทย

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก หรือ Climate Change คือภาวะที่เป็นผลสืบเนื่องมาจากปัญหาสิ่งแวดล้อมและมลพิษในชั้นบรรยากาศที่เพิ่มขึ้น ก่อให้เกิดภาวะเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศ ซึ่งทำให้อุณหภูมิภายในโลกสูงขึ้น และสภาพฝนฟ้าอากาศภายในโลกแปรปรวน ฤดูร้อนมีอากาศร้อนจัด ฤดูหนาวมีอากาศหนาวจัด ฤดูกาลผิดปกติ ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น เกิดภัยธรรมชาติบ่อยขึ้นและรุนแรงมากขึ้น โดยในช่วงปี 2554 ที่ผ่านมา ปัญหาสภาพอากาศโลกเปลี่ยนแปลงเริ่มทวีความรุนแรงและเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากประเทศไทยได้เผชิญกับสภาพความกดอากาศต่ำ ส่งผลให้เกิดฝนตกหนักและดินถล่มทางภาคใต้ อีกทั้งยังต้องเผชิญกับพายุโซนร้อนพัดผ่านหลายลูกติดต่อกันในบริเวณ ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่งผลให้เกิดมหาอุทกภัยครั้งใหญ่ ต่อเนื่องมายังพื้นที่ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพฯ ซึ่งส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อภาวะความเป็นอยู่ของประชาชน ภาวะเศรษฐกิจของประเทศ รวมทั้งการดำเนินธุรกิจของภาคเอกชน

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ……ผลกระทบต่อภาคธุรกิจ

จากความรุนแรงของภัยพิบัติที่เกิดจากสภาพอากาศแปรปรวนในช่วงที่ผ่านมา กระทบต่อการดำเนินงานของภาคธุรกิจ ทั้งในส่วนของการสร้างความเสียหายต่อพื้นที่ผลิต โรงงาน แหล่งวัตถุดิบ คลังเก็บสินค้า เส้นทางการขนส่งสินค้า ตลอดจนพื้นที่ขาย จนทำให้ธุรกิจที่อยู่ในพื้นที่ที่ได้รับความเสียหาย หรือมีเครือข่ายการผลิต/วัตถุดิบอยู่ ใกล้กับพื้นที่เสียหาย ต้องชะลอ/ลดปริมาณการผลิต และกิจการยอดขายลดลง นอกจากนี้ ปริมาณผลผลิตที่เข้าสู่ตลาดลดลงนั้น อาจส่งผลให้ราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้น และส่งผลต่อเนื่อง ไปยังกลุ่มผู้บริโภค ที่ต้องเผชิญกับค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น และมีกำลังซื้อสินค้าที่ลดลง

ผลกระทบที่เกิดขึ้นนับว่าบทเรียนสำคัญสำหรับภาคธุรกิจ ผู้ประกอบการควรที่จะตระหนักถึงผลกระทบและความรุนแรงที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต รวมทั้งหาแนวทางเพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อภาคธุรกิจของตนเอง โดยเฉพาะในธุรกิจที่มีโอกาสได้รับความเสี่ยงจากปัญหาสภาพอากาศแปรปรวนสูง เช่น ธุรกิจเกษตรและสินค้า เกษตรแปรรูป ธุรกิจท่องเที่ยว ทั้งนี้ ผลกระทบจากสภาพอากาศแปรปรวนที่อาจจะเกิดขึ้นต่อภาคธุรกิจ สามารถแบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลักๆ ดังนี้

◊ ผลกระทบทางตรง ที่เกิดจากปัญหาสภาพอากาศโลกแปรปรวน จะส่งผลให้ภาคธุรกิจต้องเผชิญความเสี่ยงในการดำเนินกิจการเพิ่มมากขึ้น ทั้งความเสี่ยงทางด้านการจัดหาวัตถุดิบ ปริมาณการผลิต การจำหน่ายหรือการเข้าถึงสินค้าและบริการของกลุ่มลูกค้า โดยธุรกิจที่จะได้รับผลกระทบ นอกจากจะเป็นธุรกิจที่ประกอบการอยู่ในบริเวณพื้นที่ที่ได้รับความเสียหาย ยังมีธุรกิจที่อาจจะได้รับความเสี่ยงจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ได้แก่

• ธุรกิจเกษตรและเกษตรแปรรูป เนื่องจากผลผลิตทางการเกษตรมีความอ่อนไหวอย่างมากต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ โดยภาวะอากาศแปรปรวนและการเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ จะมีผลให้ปริมาณผลผลิตทางการเกษตรลดลง ซึ่งจะกระทบต่อรายได้ของเกษตรกร นอกจากนี้ อาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่นำไปสู่ภาวะผลผลิตทางการเกษตรขาดแคลน และราคาสินค้าเกษตรปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังธุรกิจสินค้าเกษตรแปรรูป/อาหารแปรรูป ทำให้มีปริมาณวัตถุดิบไม่เพียงพอ สำหรับผลิตตามคำสั่งซื้อ หรือผู้ประกอบการอาจจะต้องแบกรับต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น

• ธุรกิจท่องเที่ยว สภาพอากาศแปรปรวนนับว่าเป็นปัจจัยที่มีผลกระทบต่อจำนวนนักท่องเที่ยวในประเทศเป็นอย่างมาก เนื่องจากแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญและมีชื่อเสียงของไทยส่วนใหญ่เป็นการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ เช่น ชายทะเล ภูเขา น้ำตก รวมทั้งการชมวัดและโบราณสถานต่างๆ ซึ่งล้วนเป็นกิจกรรมการท่องเที่ยวกลางแจ้ง ดังนั้นสภาพอากาศที่แปรปรวน จะเป็นอุปสรรคอย่างมากสำหรับการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศไทย อีกทั้งอาจส่งผลต่อความสะดวกและความเชื่อมั่น ในความปลอดภัยระหว่างการเดินทาง โดยประเด็นดังกล่าวอาจส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติลดลง ซึ่งจะกระทบต่อรายได้ของผู้ประกอบการในธุรกิจท่องเที่ยว เช่น โรงแรมและที่พัก บริษัทนำเที่ยว เป็นต้น

นอกจากนี้ ในระยะยาว สภาพอากาศแปรปรวน และปัญหาจากระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้น อาจส่งผลให้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทวีความรุนแรงมากขึ้น และอาจกระทบต่อทรัพยากรทางทะเลและระบบนิเวศบริเวณชายฝั่ง ซึ่งจะทำให้ปริมาณและคุณภาพของแหล่งท่องเที่ยวชายทะเลลดลง

◊ ผลกระทบทางอ้อม เกิดขึ้นจากการที่ผู้บริโภคตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดภาวะสภาพอากาศโลกแปรปรวน โดยความพยายามผลักดันเพื่อลดปัญหาสิ่งแวดล้อมในช่วงที่ผ่านมา ทำให้เกิดปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจ 2 ปัจจัยหลัก ได้แก่

• กระแสรักษ์โลก นับว่าเป็นกระแสที่ได้รับความนิยมอย่างมากในกลุ่มผู้บริโภค อีกทั้งยังมีแนวโน้มที่กระแสอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมจะ มีเพิ่มมากขึ้นในอนาคต จากการรณรงค์และปลูกฝั่งจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อม จนทำให้การคำนึงถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม กลายเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจเลือกซื้อ สินค้าของผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศ

โดยช่วงที่ผ่านมา ประเทศต่างๆ ได้มีการกำหนดมาตรฐานสินค้าที่ช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อม เช่น ฉลากเขียว ฉลากประหยัดไฟเบอร์ 5 (ประเทศไทย) EU Energy Labeling, EUdesign, EU Flower (สหภาพยุโรป) เป็นต้น แม้ว่ามาตรฐานดังกล่าวจะเป็นเพียงมาตรฐานโดยสมัครใจ ไม่ได้เป็นกฎระเบียบข้อบังคับสำหรับภาคธุรกิจ แต่ถ้าหากผู้ประกอบการไม่ปรับเปลี่ยนการผลิตสินค้า หรือ กระบวนการผลิตที่คำนึงถึง ปัญหาสิ่งแวดล้อม และสอดคล้องกับมาตรฐานสินค้าทางด้านสิ่งแวดล้อมต่างๆ อาจทำให้กิจการ/สินค้าเหล่านั้นไม่สามารถที่จะดึงดูดกลุ่มลูกค้า เมื่อเทียบกับธุรกิจที่มีการปรับตัวตามกระแสรักษ์โลกของกลุ่มผู้บริโภค

• กฎระเบียบและมาตรการทางการค้าที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมของประเทศคู่ค้าต่างๆ โดยเฉพาะในสหภาพยุโรป (EU) เพื่อผลักดันให้การผลิตและการบริโภคในประเทศเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ แนวโน้มของการใช้มาตรการทางการค้าเพื่อสิ่งแวดล้อมค่อนข้างเข้มงวดมากขึ้น และเริ่มเป็นประเด็นที่ประเทศต่างๆ ในโลกให้ความสำคัญ

ตัวอย่างมาตรการทางการค้าเพื่อสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ ในสหภาพยุโรป

ประเทศ มาตรการและกฎระเบียบ รายละเอียด
สหภาพยุโรป ระเบียบว่าด้วยการจัดการเศษซากเหลือทิ้งจากผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (WEEE) กำหนดให้ผู้ผลิตเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการเกี่ยวกับซาก ผลิตภัณฑ์ที่หมดอายุการใช้งาน ดำเนินการให้มีการคืนสภาพ หรือนำกลับไปใช้ใหม่
ระเบียบบรรจุภัณฑ์และขยะบรรจุภัณฑ์ (PPWD) กำหนดข้อบังคับในการออกแบบ และคัดเลือกวัสดุเพื่อลดการใช้วัสดุ สารเคมี สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ลดการใช้โลหะหนักในการผลิต รวมทั้ง กำหนดให้ผู้ผลิตรับผิด ชอบในการกำจัดซากขยะบรรจุภัณฑ์
ระบบควบคุมการค้าสิทธิการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (ETS) ควบคุมการปล่อยก๊าซของโรงงานในอุตสาหกรรมหนักที่ใช้พลังงานมาก เช่นโรงงานผลิตไฟฟ้า โรงกลั่นน้ำมัน โรงถลุงเหล็ก โรงงานผลิตซีเมนต์ แก้ว อิฐ เซรามิก กระดาษ (โดยการกำหนดเพดานในการปล่อยก๊าซ และมีระบบให้เอกชนสามารถการซื้อขายส่วนต่างก๊าซที่โรงงานปล่อยออกมา) ล่าสุดเมื่อ ม.ค.2555 มีการประกาศเพิ่มให้อุตสาหกรรมการบิน ซึ่ง รวมถึง เครื่องบินที่เข้าออกกลุ่มประเทศ EU จะต้องเข้าสู่ระบบ EST
มาตรการคาร์บอนฟุตพรินท์ และฉลากลดคาร์บอน ระเบียบว่าด้วยการแสดงข้อมูลปริมาณรวมของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากผลิตภัณฑ์หรือบริการ ตลอดทั้งวัฎจักรชีวิตของสินค้า แม้ว่าปัจจุบัน มาตรการดังกล่าวเป็นมาตรการโดยสมัครใจ แต่มีบางประเทศ ได้แก่ ฝรั่งเศสที่ได้เริ่มมีการระบุให้ผู้ผลิตเปิดเผยข้อมูลคาร์บอนฟุตพรินท์ของสินค้าไว้ในกฏระเบียบและแผน ยุทธศาสตร์ของประเทศ

ที่มา: ศูนย์วิจัยกสิกรไทย รวบรวมจากสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย และสวทช.

แม้ว่าการกำหนดมาตรการและกฎระเบียบทางการค้าเพื่อสิ่งแวดล้อม จะเป็นหนึ่งในช่องทางสำคัญที่สามารถช่วยลดและบรรเทาปัญหาทางด้านสิ่ง แวดล้อมได้ แต่ในขณะเดียวกัน มาตรการและกฎระเบียบที่เข้มงวดย่อมส่งผลกระทบผู้ส่งออกสินค้า โดยเฉพาะการส่งออกไปยังประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป ซึ่งกฎระเบียบต่างๆ ทำให้ผู้ส่งออกจำเป็นต้องปรับระบบการผลิต และออกแบบสินค้าให้สอดคล้องกับกฎระเบียบต่างๆ หรืออาจจะต้องเพิ่มกระบวนการ/ขั้นตอนในการดำเนินธุรกิจ เช่น ต้องรับผิดชอบในการกำจัดซากสินค้าและบรรจุภัณฑ์ เพิ่มการควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทุกขั้นตอนการผลิต รวมทั้งอาจต้องแบกรับต้นทุนการขนส่งทางอากาศที่เพิ่มขึ้น จากการที่เครื่องบินถูกจัดเก็บค่าธรรมเนียมในการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เป็นต้น โดยในการปรับตัวของผู้ประกอบการ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาและออกแบบผลิตภัณฑ์ ตลอดจนการเพิ่มขั้นตอนในการดำเนินงานต่างๆ ล้วนเป็นภาระทางด้านต้นทุนที่ผู้ประกอบการจะต้องแบกรับเพิ่มมากขึ้น

แนวทางในการปรับตัวสำหรับธุรกิจเอสเอ็มอี……เตรียมพร้อมรับมือกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

สำหรับแนวทางในการปรับตัวของผู้ประกอบการ เพื่อรองรับผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ควรมีดังต่อไปนี้

◊ ภาพรวมของธุรกิจทั่วไป

• แนวโน้มความรุนแรงของผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่เกิดขึ้น อาจส่งผลต่อการดำเนินกิจการ รวมไปถึงความสามารถในการประกอบกิจการและการแข่งขันในอนาคต ดังนั้น ในการดำเนินธุรกิจและวางแผนธุรกิจของผู้ประกอบการ จึงจำเป็นที่จะต้องคำนึงถึงปัจจัยเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ที่จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจของตน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ประกอบการในธุรกิจเอสเอ็มอี ซึ่งเป็นผู้ประกอบการที่มีเงินลงทุนและทรัพยากรที่ค่อนข้างจำกัด ทั้งนี้ ในการพิจารณาถึงปัจจัยเสี่ยงต่างๆ นั้น ควรจะพิจารณาให้ครอบคลุมทางด้านการผลิต แหล่ง/การจัดหาวัตถุดิบ การจัดจำหน่ายและการกระจายสินค้า รวมทั้งหาแนวทางเพื่อลดความเสี่ยงหรือบรรเทาปัญหาต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น เพื่อช่วยทำให้ธุรกิจสามารถอยู่รอดและดำเนินกิจการต่อไปได้ในระยะยาว

• จากกระแสรักษ์โลก และการเลือกใช้สินค้าที่ผลิตโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม นับว่าเป็นหนึ่งในโอกาสของผู้ประกอบการในการที่จะเพิ่มยอดขาย โดยการปรับการผลิต หรือการออกแบบสินค้าเพื่อลดปัญหาสิ่งแวดล้อม เช่น การออกแบบโดยใช้วัสดุรีไซเคิล การออกแบบเพื่อลดการใช้วัตถุดิบ การปรับปรุงระบบการผลิต ที่ลดการใช้ทรัพยากรและพลังงาน นอกจากนี้ ผู้ประกอบการอาจจะปรับการผลิตเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานทางด้านสิ่งแวดล้อมต่างๆ ที่มีในประเทศ เช่น โครงการอุตสาหกรรมสีเขียว (ระดับโรงงานผลิต) ฉลากสินค้าสีเขียว (ระดับสินค้า) รวมทั้ง ควรเร่งประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างภาพลักษณ์ให้กับสินค้า/บริษัท และสร้างความรับรู้ให้กลุ่มผู้บริโภคที่มีความต้องการใช้สินค้าที่ช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อม

◊ ธุรกิจเกษตรและเกษตรแปรรูป อาจได้รับความเสี่ยงจากปริมาณผลผลิตทางการเกษตรได้รับความเสียหาย จนเกิดปัญหาขาดแคลนและมีราคาสูง โดยแนวทางในการปรับตัวหลักๆ มี 2 แนวทาง ดังนี้

• การผลิตสินค้าเกษตร สำหรับพืช ควรที่จะนำเทคโนโลยีทางการเกษตรเข้ามาใช้ในการผลิต เช่น การปรับปรุงพันธ์หรือคัดเลือกพันธ์ให้มีความทนน้ำ ทนต่อสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง ทนต่อโรคพืชที่มักเกิดจากสภาพอากาศที่แปรปรวน ตลอดจนการปรับปรุงผลิตภาพในการผลิตสำหรับปศุสัตว์ ควรเลือกทำเลในการเพาะเลี้ยง ไม่ควรตั้งโรงเลี้ยงสัตว์บริเวณทางน้ำผ่าน หรือที่ลุ่มต่ำ ปรับปรุงโรงเลี้ยงสัตว์ให้เป็นระบบปิด สะอาดและถูกสุขลักษณะมากยิ่งขึ้น เพื่อลดปัญหาโรคระบาดในภาวะที่สภาพอากาศแปรปรวน

• การบริหารจัดการวัตถุดิบ ผู้ประกอบการควรให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการในการเลือกซื้อวัตถุดิบ ซึ่งนอกจากจะเน้นทางด้านคุณภาพของวัตถุดิบและราคาแล้ว ควรที่จะเลือกซื้อจากแหล่งผลิตที่มีการบริหารจัดการเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากภาวะอากาศแปรปรวน หรือเป็นแหล่งผลิตอยู่ในพื้นที่ที่เผชิญกับความเสี่ยงต่ำ นอกจากนี้ สำหรับการสต็อกวัตถุดิบ ควรเพิ่มความถี่ในการตรวจสอบปริมาณสินค้าในสต็อก รวมทั้ง ระยะเวลาในการสต็อกวัตถุดิบควรที่จะกำหนดให้มีความยืดหยุ่นตามฤดูกาล กล่าวคือ ในช่วงเดือนที่สภาพอากาศมีความแปรปรวนสูง ผู้ประกอบการควรจะเพิ่มปริมาณการสต็อกวัตถุดิบให้เพียงพอต่อการผลิตในช่วงเวลาที่ยาวขึ้น

◊ ธุรกิจท่องเที่ยว จากสภาพอากาศแปรปรวนจะกระทบต่อการท่องเที่ยวไทยเป็นอย่างมาก เนื่องจากกิจกรรมการท่องเที่ยวในประเทศไทย ส่วนใหญ่เป็นกิจกรรมกลางแจ้ง (Outdoor) เช่น การท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ การเที่ยวชมโบราณสถานต่างๆ การปรับตัวสำหรับผู้ประกอบการในธุรกิจท่องเที่ยว รวมทั้งสมาคมต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ควรเร่งผลักดันเพื่อสร้างความหลากหลายให้แก่กิจกรรมการท่องเที่ยว รวมทั้งเร่งพัฒนาและยกระดับการให้บริการสำหรับกิจกรรมการท่องเที่ยวในร่ม (Indoor) เช่น การบริการสปาและนวดแผนไทย สถานบันเทิง (โรงภาพยนตร์ และโรงละครจัดการแสดงมหรสพต่างๆ) แหล่งช๊อปปิ้ง และเอ้าต์เลทในบริเวณใกล้เคียงกับแหล่งท่องเที่ยว เพื่อเพิ่มทางเลือกให้แก่นักท่องเที่ยวมากขึ้น

นอกจากนี้ จากสภาพอากาศแปรปรวนและภาวะโลกร้อน ทำให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น และปัญหาการกัดเซาะบริเวณชายฝั่งทะเลทวีความรุนแรงมากขึ้น ส่งผลให้แหล่งท่องเที่ยวบริเวณชายฝั่ง ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวหลักของไทยได้รับความเสียหาย โดยแนวทางหนึ่งที่ผู้ประกอบการสามารถช่วยบรรเทาปัญหาดังกล่าวได้ คือการร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ และสมาคมต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อผลักดันให้มีโครงการเพื่ออนุรักษ์ธรรมชาติ และฟื้นฟูระบบนิเวศบริเวณชายฝั่งอย่างต่อเนื่อง เช่น โครงการปลูกป่าชายเลน โครงการปลูกปะการังเทียม ทั้งนี้ เพื่อรักษาแหล่งท่องเที่ยวบริเวณชายฝั่งให้ยังคงเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ยั่งยืน

◊ ธุรกิจส่งออก/ผู้ผลิตสินค้าเพื่อส่งออก จากปัญหาสภาพอากาศแปรปรวนซึ่งเป็นสาเหตุมาจากปัญหาสิ่งแวดล้อม ทำให้ประเทศต่างๆ มีการออกกฎระเบียบและมาตรการทางการค้าเพื่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยเฉพาะสหภาพยุโรป ดังนั้น การที่ผู้ส่งออกไทยจะสามารถรักษาตลาดส่งออกดังกล่าวไว้ได้นั้น จึงจำเป็นที่ผู้ประกอบการจะต้องปรับเปลี่ยนการผลิต เพื่อให้ได้สินค้าที่สอดคล้องตามกฎระเบียบทางการค้าต่างๆ ที่จะต้องเผชิญ

ทั้งนี้ ในเบื้องต้นผู้ประกอบการควรจะทำความเข้าใจกฎระเบียบและมาตรการต่างๆ และควรจัดหาบุคลากรที่รับผิดชอบในการศึกษารายละเอียดของกฎระเบียบและมาตรการต่างๆ รวมทั้งคอยติดตามความเคลื่อนไหว และการเปลี่ยนแปลงของกฎระเบียบดังกล่าว เพื่อให้ธุรกิจสามารถปรับเปลี่ยนการผลิต/การดำเนินธุรกิจได้ทันต่อสถานการณ์ ซึ่งจะเป็นการช่วยลดความเสี่ยงในการส่งออก ทั้งนี้ ผู้ประกอบการสามารถรวบรวมรายละเอียดของกฎระเบียบและมาตรการทางการค้าเพื่อสิ่งแวดล้อมต่างๆ ได้จากหน่วยงาน ทั้งภาครัฐและเอกชน เช่น กรมส่งเสริมการส่งออก กรมการค้าต่างประเทศ สถาบันสิ่งแวดล้อม และสมาคมการค้าต่างๆ

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการควรหาแนวทางในการลดต้นทุน ที่จะเพิ่มขึ้นจากการปรับเพิ่มขึ้นตอนการผลิต และการดำเนินงาน เพื่อให้สอดคล้องกับ มาตรการทางด้านสิ่งแวดล้อมต่างๆ เช่น

• มาตรการ WEEE และ PPWD ที่กำหนดให้ผู้ผลิตต้องรับผิดชอบในการกำจัดซากสินค้า และบรรจุภัณฑ์ ทั้งนี้ ผู้ประกอบการควรหาแนวทางเพื่อลดต้นทุนในการกำจัดซากดังกล่าว โดยอาจจะเลือกใช้วัสดุที่สามารถย่อยสลายได้ง่าย และมีต้นทุนในการย่อยสลายที่ไม่สูงมาก หรืออาจพัฒนาการออกแบบสินค้าและ บรรจุภัณฑ์ให้มีขนาดเล็กลง เพื่อลดปริมาณซาก/ขยะที่ต้องกำจัด ซึ่งจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ได้

• มาตรการคาร์บอนฟุตพริ้นท์ และมาตรการฉลากลดคาร์บอน ซึ่งจะต้องมีการตรวจสอบและวัดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอน ไดออกไซด์ทุกขั้นตอนการผลิต ทั้งนี้ในการดำเนินการดังกล่าว มีเอกสารที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก ที่จะต้องจัดเก็บเพื่อให้สามารถตรวจสอบได้ภายหลัง ดังนั้น ผู้ประกอบการจำเป็นต้องปรับ ระบบการจัดเก็บเอกสารต่างๆ ให้สามารถเรียกใช้ได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว อีกทั้งยังช่วยลดจำนวนบุคลากรที่รับผิดชอบเรื่องเอกสารต่างๆ ลงได้

โดยสรุป ปัญหาสภาพอากาศโลกที่แปรปรวนมากขึ้นในปัจจุบัน กลายเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญในการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการ ซึ่งอาจกระทบต่อ ความสามารถในการดำเนินกิจการ รายได้ของผู้ประกอบการ ตลอดจนความสามารถในการแข่งขันในตลาด ดังนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ประกอบการควรจะเร่งหาแนวทางเพื่อลดผลกระทบและความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในธุรกิจที่จะได้รับผลกระทบหลัก เช่น1) ธุรกิจเกษตรและเกษตรแปรรูป ผู้ประกอบการควรเน้นการสร้างความมั่นคงในการจัดหาวัตถุดิบ โดยอาจนำเทคโนโลยีทางการเกษตร มาใช้เพื่อเพิ่มผลิตภาพการผลิต และเลือกซื้อวัตถุดิบจากแหล่งผลิตที่มีการบริหารจัดการเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากสภาพอากาศแปรปรวน รวมทั้งควรให้ความสำคัญกับเรื่องของการบริหารจัดการสต็อกวัตถุดิบมากขึ้น 2) ธุรกิจท่องเที่ยว ผู้ประกอบการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเร่งพัฒนามาตรฐานการบริการ และขยายการให้บริการกิจกรรมท่องเที่ยวในร่ม (Indoor) ให้มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น รวมทั้งควรเร่งอนุรักษ์พื้นที่ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ โดยเฉพาะแหล่งท่องเที่ยวบริเวณชายฝั่งทะเล เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับการท่องเที่ยวไทย

สำหรับผลกระทบทางอ้อมที่จะเกิดต่อภาคธุรกิจ คือ การกำหนดกฎระเบียบและมาตรการทางการค้าในต่างประเทศ เพื่อลดปัญหาสิ่งแวดล้อมและ ภาวะอากาศแปรปรวน แม้ว่า ในทางปฎิบัติมาตรการดังกล่าวจะเป็นการช่วยให้การลดปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นรูปธรรมมากขึ้น แต่จะส่งผลให้ผู้ผลิต/ส่งออกสินค้าจำเป็นต้องปรับการผลิตเพื่อ ให้สินค้าสอดคล้องกับมาตรการต่างๆ ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงจำเป็นต้องมีความเข้าใจในกฎระเบียบมาตรการที่ธุรกิจตนเองต้องเผชิญ และติดตามการเปลี่ยนแปลงของมาตรการต่างๆ รวมทั้งหาแนวทางในการลดค่าใช้จ่ายในการปรับตัว/ปรับมาตรฐานการผลิต เพื่อลดภาระต้นทุนในการดำเนินงานที่ผู้ประกอบการต้องแบกรับ นอกจากนี้ ผู้ประกอบการอาจสร้างโอกาสโดยการปรับปรุงการผลิตสินค้า/บริการที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม เพื่อรองรับกับกระแสรักษ์โลกที่มีความนิยมมากขึ้นในกลุ่มผู้บริโภค

————————————————-

แหล่งที่มาของข้อมูล
http://www.tei.or.th
http:// thaieurope.net
http:// http://www.depthai.go.th

เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยเดือน ม.ค. 2555 บ่งชี้สัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจนยิ่งขึ้น

ภาวะเศรษฐกิจไทยในเดือนมกราคม 2555 สะท้อนภาพการฟื้นตัวจากวิกฤติอุทกภัยที่ชัดเจนขึ้นจากเดือนก่อน ดังจะเห็นได้จากการปรับตัวดีขึ้นของเครื่องชี้ทางเศรษฐกิจทั้งด้านอุตสาหกรรม การบริโภค และการลงทุน สอดคล้องกับความเชื่อมั่นที่ฟื้นตัวขึ้น หลังจากลดลงมากในช่วงปลายปี 2554

เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยเดือนมกราคม 2555

   ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย
ยกเว้น ดัชนีการผลิตสินค้าเกษตรและดัชนีราคาสินค้าเกษตร ใช้ตัวเลขของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร และดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมและอัตราการใช้กำลังการผลิต ใช้ตัวเลขของสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

สรุปประเด็นสำคัญจากเครื่องชี้เศรษฐกิจไทยเดือนมกราคม 2555 และอัตราเงินเฟ้อเดือนกุมภาพันธ์ 2555 

เครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรเดือนมกราคม 2555 ด้านผลผลิต ขยายตัวเล็กน้อยเพียงร้อยละ 0.9 (YoY) และ 1.0 (MoM) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเดือนก่อนตามลำดับ โดยการขยายตัวของผลผลิตสินค้าเกษตรที่สำคัญ เช่น ยางพารา อ้อย และมันสำปะหลัง ช่วยชดเชยผลผลิตข้าวที่หดตัวเนื่องจากปัญหาอุทกภัย ส่วนด้านราคา เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเดือนก่อน ลดลงร้อยละ 12.0 (YoY) และ 5.2 (MoM) ตามลำดับ เป็นผลมาจากราคายางพาราที่ปรับตัวลดลงตามภาวะอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย และราคาปาล์มน้ำมันที่ปรับตัวลดลงจากฐานที่สูงในปีก่อนตามระดับผลผลิตที่เริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ

Source: OAE, KResearch

ด้านการผลิตภาคอุตสาหกรรมนั้น ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (Manufacturing Production Index) หดตัวร้อยละ 15.2 (YoY) หดตัวในอัตราที่ลดลง จากร้อยละ 25.3 (YoY) ในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา และเมื่อเทียบกับเดือนก่อน ขยายตัวร้อยละ 19.1 (MoM) ขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่สอง สะท้อนภาพการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคอุตสาหกรรม โดยหมวดอุตสาหกรรมที่มีการฟื้นตัวชัดเจน ได้แก่ ปิโตรเลียม พลาสติก เหล็ก ปูนซีเมนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และรถจักยานยนต์ ส่วนหมวดอุตสาหกรรมยานยนต์และส่วนประกอบรถจักรยานยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วน เริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวที่แข็งแกร่งมากขึ้น สำหรับอัตราการใช้กำลังการผลิต (Capacity Utilization) อยู่ที่ร้อยละ 58.5 ต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปี ก่อน แต่สูงกว่าเดือนก่อน โดยหมวดอุตสาหกรรมยานยนต์และส่วนประกอบ รถจักรยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งได้รับความเสียหายมากจากอุทกภัยเมื่อปลายปีก่อน มีอัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ยังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับช่วงก่อนอุทกภัย

Source: OIE, KResearch

ด้านการบริโภคภาคเอกชนนั้นได้รับแรงหนุนจากการฟื้นตัวของภาคการผลิต เห็นได้จากการที่ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน (Private Consumption Index) ขยายตัวร้อยละ 2.6 (YoY) และ 0.4 (MoM) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเดือนก่อนตามลำดับ เป็นการขยายตัวติดต่อเป็นเดือนที่สอง โดยเครื่องชี้การบริโภคที่สำคัญ อาทิ ยอดจำหน่ายรถยนต์นั่ง และรถจักรยานยนต์ ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อน ส่วนการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มนั้น ขยายตัวตามพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนที่กลับสู่ภาวะปกติ จากที่มีการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเพื่อกักตุนสินค้าอุปโภคบริโภคจำเป็นในช่วงที่เกิดอุทกภัย

การลงทุนภาคเอกชนก็มีสัญญาณการปรับตัวดีขึ้นเช่นกัน โดยแม้ว่าดัชนีการลงทุนภาคเอกชน (Private Investment Index) จะหดตัวร้อยละ 0.4 (YoY) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่หากพิจารณาเปรียบเทียบกับเดือนก่อน พบว่ามีอัตราการขยายตัวสูงถึงร้อยละ 8.0 (MoM) สูงสุดในรอบเกือบ 12 ปีเป็นอย่างน้อย ตามปัจจัยบวก ได้แก่ ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศที่เพิ่มขึ้นจากความต้องการใช้เพื่อการซ่อมแซมสิ่งปลูกสร้างที่เสียหายจากอุทกภัย และปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในประเทศที่ปรับตัวสูงขึ้นหลังจากการผลิตเริ่มกลับสู่ภาวะปกติ

ในส่วนของความเชื่อมั่นภาคเอกชนนั้น พบว่า ทั้งดัชนีการบริโภคภาคเอกชน (CCI) ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจ (BSI) และดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (TISI) ล้วนปรับตัวดีขึ้น แม้จะยังอยู่ในระดับต่ำกว่าช่วงก่อนเกิดอุทกภัย แต่ก็สะท้อนให้เห็นความเชื่อมั่นที่เริ่มกลับคืนมาหลังจากปัญหาอุทกภัยเริ่มคลี่คลาย สำหรับเดือน กุมภาพันธ์ 2555 ดัชนีการบริโภคภาคเอกชน (CCI) ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่สาม และสูงสุดในรอบ 5 เดือน อย่างไรก็ดี ปัจจัยที่ผู้บริโภคและผู้ประกอบการยังคงมีความกังวล ได้แก่ ค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น ความชัดเจนของนโยบายด้านการบริหารจัดการน้ำ และสถานการณ์ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกซึ่งมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการจ้างงานในประเทศ

ด้านการค้าระหว่างประเทศ ข้อมูลเบื้องต้นจากกรมศุลกากรที่รายงานโดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลังรายเดือน แสดงให้เห็นว่า มูลค่าการส่งออก ขยายตัวร้อยละ 1.2 (YoY) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนธันวาคม 2554 ที่หดตัวร้อยละ 2.0 (YoY) สอดคล้องกับดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของสินค้าที่เน้นผลิตเพื่อการส่งออก ได้แก่ อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า ที่ปรับตัวดีขึ้นมากจากเดือนก่อนหน้า ส่วนมูลค่าการนำเข้า หดตัวร้อยละ 0.2 (YoY) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แย่กว่า เดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 19.1 (YoY) ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยฐานที่สูงของช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ดุลการค้า ขาดดุล 626.2 ล้านดอลลาร์ฯ

สำหรับอัตราเงินเฟ้อเดือนกุมภาพันธ์ 2555 เพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่สาม โดยหากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเดือนก่อน อัตราเงินเฟ้อทั่วไป เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.35 (YoY) และ 0.37 (MoM) ตามลำดับ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.72 (YoY) และ 0.11 (MoM) ตามลำดับ เมื่อพิจารณาองค์ประกอบในตะกร้าดัชนีราคาผู้บริโภค พบว่า ปัจจัยสำคัญที่หนุนระดับราคาสินค้ามาจากการเพิ่มขึ้นของราคาหมวดอาหาร เครื่องดื่ม และหมวดอื่นๆไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มที่ปรับตัวสูงขึ้นตามต้นทุนการผลิตและการขนส่ง หลังจากที่ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกในประเทศปรับตัวสูงขึ้นตามราคาน้ำมันตลาดโลก และการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันตามนโยบายรัฐบาล

เงินบาทในประเทศ (Onshore) ปิดตลาด ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2555 ที่ระดับ 30.26 บาทต่อดอลลาร์ฯ แข็งค่าขึ้นจากระดับ 30.90 บาทต่อดอลลาร์ฯ ณ สิ้นเดือนมกราคม 2555 สอดคล้องกับค่าเงินในภูมิภาคเอเชีย ภายหลังจากที่แผนการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่กรีซมีข้อตกลงที่ชัดเจนขึ้น ทำให้นักลงทุนคลายความกังวล และกลับเข้ามาลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง ทั้งการถือครองเงินและหลักทรัพย์ต่างๆ โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งมีพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่น

Source: Reuters, MOC and Kresearch

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องของเครื่องชี้สำคัญต่างๆ ทั้งในด้านอุตสาหกรรมการบริโภค การลงทุน ตลอดจนความเชื่อมั่นในภาคเอกชน เป็นการตอกย้ำความชัดเจนในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ดังนั้นจึงยังคงประเมินในภาพเดิมว่า กิจกรรมการซ่อมแซมและฟื้นฟู รวมถึงการลงทุนใหม่เพื่อทดแทนส่วนที่เสียหายไป จากอุทกภัยทั้งในระดับครัวเรือน ธุรกิจ และประเทศ จะเป็นปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจไทยสามารถเติบโตได้อีกครั้งตั้งแต่ช่วงต้นปี 2555 เป็นต้นไป โดยคาดว่าเศรษฐกิจไทยใน ไตรมาส 1/2555 จะขยายตัวร้อยละ 1.0-1.5 (YoY) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งดีขึ้นจากที่หดตัวอย่างรุนแรงในช่วงไตรมาส 4/2554 อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามปัจจัยที่มีผล กระทบต่อเศรษฐกิจไทยในปี 2555 ได้แก่ ความเปราะบางของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และยุโรป การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน การเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันดิบจากปัญหาความขัดแย้งระหว่างอิหร่าน กับชาติตะวันตก ซึ่งย่อมมีผลต่อค่าครองชีพของประชาชน และเพิ่มแรงกดดันด้านต้นทุนของผู้ประกอบการ รวมถึงความต่อเนื่องในการเบิกจ่ายงบประมาณและการดำเนินนโยบายเกี่ยวกับค่าจ้างแรงงาน การบริหารจัดการน้ำ และราคาพลังงานของรัฐบาล ซึ่งจะมีผลต่อบรรยากาศการบริโภค และการลงทุนภาคเอกชนในระยะต่อไป

แผนสำรอง BCP เพื่อรองรับในสภาวะฉุกเฉินสำหรับอุตสาหกรรมผลิต

BCP คืออะไร และมีความสำคัญอย่างไร 

จากปัญหาอุทกภัยในช่วงปีที่ผ่านมา ส่งผลให้หลายบริษัทไม่สามารถดำเนินธุรกิจได้ เนื่องจากโรงงานผลิต ระบบขนส่ง ศูนย์กระจายสินค้า รวมถึงร้านค้าได้รับความเสียหาย จึงทำให้ไม่สามารถผลิตและกระจายสินค้าหรือชิ้นส่วนเข้าสู่ตลาดได้ นอกจากค่าใช้จ่ายจากความเสียหายต่อทรัพย์สินที่เกิดขึ้นจากอุทกภัยแล้ว การหยุดชะงักของธุรกิจก็ทำให้บริษัทไม่มียอดขายเป็นระยะเวลาหลายเดือนติดต่อกัน ยิ่งไปกว่านั้นผู้ผลิตไม่สามารถส่งวัตถุดิบและชิ้นส่วนได้ตรงตามเวลา อาจจะทำให้เสียลูกค้าประจำและส่วนแบ่งการตลาดได้ นอกจากนั้นเรื่องการขนส่งและการจัดเก็บสินค้า ยังเป็นปัญหาที่อุตสาหกรรมการผลิตจะต้องนำมาประกอบการตัดสินใจและวางแผนรับมือในอนาคต

เนื่องจากการดำเนินธุรกิจในปัจจุบันมีปัจจัยเสี่ยงหลายอย่างจากทั้งภายในและภายนอกองค์กร ซึ่งรวมถึงภัยธรรมชาติต่างๆและภัยจากการกระทำ ของมนุษย์ แนวทางการบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจ (Business Continuity Management: BCM) และการจัดทำแผนรองรับการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง หรือแผนสำรองการทำงานในภาวะฉุกเฉิน (Business Continuity Planning: BCP) คือการวางแผนการบริหารจัดการธุรกิจ เพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่องในเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดต่างๆ จึงเข้ามามีบทบาทที่ สำคัญต่อการดำเนินธุรกิจ นอกจากจะช่วยป้องกันหรือบรรเทาความเสียหายต่อทรัพย์สิน ข้อมูลภายในองค์กร โอกาสในการสร้างรายได้ และผลกระทบต่างๆต่อองค์กรแล้ว ยังมีส่วนเสริมสร้างภาพลักษณ์ขององค์กรในด้านของการบริหารจัดการที่ดี หรือ Good Governance ซึ่งจะสร้างความมั่นใจต่อนักลงทุนและลูกค้าได้ เนื่องจากธุรกิจสามารถดำเนินได้อย่างต่อเนื่องพร้อมทั้งสามารถบ่งบอกถึงสาเหตุของผลกระทบและความเสียหาย ทำให้สามารถแก้ไขปัญหาได้ถูกต้องและรวดเร็ว เหมาะสมกับสถานการณ์

ทั้งนี้ต้องยอมรับว่า การทำแผน BCP คงไม่สามารถป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นได้ครบถ้วนทั้งหมด และยังคงมีข้อจำกัดสำหรับ SME ขนาดเล็กที่มีอุปสรรคในด้านเงินทุนและความสามารถในการปรับตัวต่อความผันผวนของปัจจัยภายนอก เช่น ธุรกิจที่มีสถานที่ผลิตเพียงแห่งเดียวและยากต่อการเคลื่อนย้ายวัสดุอุปกรณ์การผลิตไปยังสถานที่ตั้งสำรอง อย่างไรก็ตาม การจัดทำแผน BCP เป็นเสมือนความพยายามที่จะลดผลกระทบและป้องกันความเสียหายจากเหตุการณ์ต่างๆ ให้ได้มากที่สุด และแม้ว่าการทำ BCP เต็มรูป แบบอาจมีค่าใช้จ่ายในหลายด้าน เช่น การใช้บริการจัดเก็บข้อมูล แต่ในหลายขั้นตอนของ BCP ทุกๆองค์กรสามารถทำได้ด้วยตนเองโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งธุรกิจเอสเอ็มอีอาจนำแนวคิดดังกล่าวไปประยุกต์ใช้ให้สอดคล้องกับรูปแบบการดำเนินธุรกิจและกำลังทุนของตนเอง เนื่องจากแผน BCP ที่มีประสิทธิภาพก็ต่อเมื่อเป็นแผนที่นำไปปฏิบัติจริงได้

การเตรียมแผนรองรับการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง 

ปัจจุบันมาตรฐานการทำแผนรองรับการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง BS25999 ซึ่งกำหนดโดยสถาบัน Business Standard Institute (BSI) ในปี 2007 และมีสำนักงานใหญ่อยู่ในประเทศอังกฤษ โดยปัจจุบันมาตรฐาน BS25999 อยู่ในขั้นตอนการอนุมัติและพัฒนาของ International Organization for Standard (ISO) เพื่อตั้งเป็นมาตรฐานสากล ISO/FDIS 22301 ซึ่งสามารถนำมาแบ่งเป็นขั้นตอนในการเตรียมแผนการดำเนินงานได้ดังนี้

1. การวิเคราะห์ผลกระทบทางธุรกิจ และ ประเมินความเสี่ยง (Business Impact Analysis: BIA and Risk Assessment) 

ในขั้นตอนแรก เริ่มจากการวิเคราะห์ผลกระทบทางธุรกิจ (Business Impact Analysis: BIA) และการประเมินความเสี่ยง (Risk Assessment) ซึ่งเป็นขั้นตอนสำคัญในการศึกษาผลกระทบจากสถานการณ์ภายในและภายนอกที่จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ เพื่อใช้ในการจัดความสำคัญของแต่ละกิจกรรมในธุรกิจว่าได้รับผลกระทบ อย่างไรจากแต่ละเหตุการณ์ ทั้งในด้านสินค้าและบริการ พร้อมทั้งระบุความเร่งด่วนในแต่ละขั้นตอนเพื่อใช้ในการออกแบบแผนการป้องกันต่อไป ยกตัวอย่างเช่น ในอุตสาหกรรมผลิตจะได้รับ ผลกระทบอย่างมากในช่วงน้ำท่วมในปีที่ผ่านมา จนอาจถึงขั้นหยุดการดำเนินการของบริษัททั้งหมด และยังส่งผลกระทบต่อทรัพย์สิน เช่น เครื่องจักร รถยนต์ วัตถุดิบ และสินค้า เป็นต้น

โดยธุรกิจการผลิตจะต้องลำดับความสำคัญ ซึ่งอาจจะวัดจากมูลค่า เพื่อในการเตรียมขนย้ายเครื่องจักร สินค้า หรือทรัพย์สินต่างๆ ไปในสถานที่ที่ปลอดภัยจากภัยต่างๆได้ทันเวลา เพราะว่าที่ผ่านมายังไม่มีการเตรียมการรับมือกับเหตุการณ์ฉุกเฉินทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถปรับตัวได้ทัน และการเคลื่อนย้ายวัสดุอุปกรณ์การผลิต และวัตถุดิบที่เป็นกิจกรรมหลักของธุรกิจสามารถทำได้ลำบาก เพราะว่ามีปริมาณและน้ำหนักมาก ทำให้ทรัพย์สินเสียหายเป็นจำนวนมาก

นอกจากนี้ สถานการณ์ฉุกเฉินอาจจะเกิดได้จากซัพพลายเออร์ประสบปัญหาจากภัยต่างๆ ทำให้ไม่สามารถจัดส่งวัตถุดิบในการผลิตให้ได้ ทำให้เกิดการขาดช่วงของห่วงโซ่อุปทานและสินค้าคงคลังไม่พอต่อการผลิต ก็จะส่งผลต่ออุตสาหกรรมการผลิตได้เช่นกัน

2. การออกแบบแผนวิธีป้องกันและการสร้างแผนฟื้นฟูหลังจากประสบภัย (Solution Design and Creating a Disaster Recovery Plan) 

หลังจากวิเคราะห์ความเสี่ยงและผลกระทบที่มีต่ออุตสาหกรรมการผลิตแล้ว จึงนำผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นมาออกแบบแผนป้องกันและการสร้างแผนฟื้นฟูหลังจากประสบภัย ซึ่งเป้าหมายของการออกแบบแผนป้องกันและฟื้นฟูคือ ต้นทุนต่ำ ขั้นตอนในการจัดการน้อยและรวดเร็ว เพื่อให้สามารถป้องกันเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นได้ทันต่อเหตุการณ์ นอกจากวางแผนการป้องกันทรัพย์สินแล้วยังควรจะวางแผนครอบคลุมไปถึงฐานข้อมูลของธุรกิจ ซึ่งที่ผ่านมาบางธุรกิจต้องหยุดชะงักเนื่องจากไม่สามารถเข้าถึงฐานข้อมูลของบริษัทเพื่อใช้ในการต่อติดซื้อขาย วิธีการป้องกันของอุตสาหกรรมการผลิตสามารถแบ่งออกได้เป็นหลายส่วน ในส่วนของทรัพย์สินภายในโรงงาน คือ การเคลื่อนย้ายเครื่องจักรและขนย้ายวัตถุดิบไปในที่ที่ปลอดภัย โดยอาจจะเช่าคลังสินค้าในบริเวณที่ปลอดภัย เพื่อป้องกันในส่วนของทรัพย์สิน โดยเฉพาะต่อเหตุการณ์น้ำท่วม ที่จะทำให้ทรัพย์สินเสียหายทั้งหมด ซึ่งจะต้องดำเนินการล่วงหน้าก่อนเกิดอุทกภัย เพราะเส้นทางลำเลียงสินค้าอาจจะตัดขาดจากภัยน้ำท่วม ถึงแม้ว่าตัวอุตสาหกรรมการผลิตบางแห่งอาจจะไม่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์โดยตรง แต่ในทางอ้อม ถ้าผู้ผลิตสินค้าและวัตถุดิบ ประสบภัย ทำให้ขาดวัตถุดิบในการผลิต ผู้ประกอบการผลิตอาจจะวางแผนในการหาผู้ผลิตวัตถุดิบอื่นชั่วคราว หรือปรับเปลี่ยนเป็นการจัดซื้อจัดจ้างจากหลายๆแหล่ง เพื่อป้องกันสินค้าและวัตถุดิบขาดตลาด แต่ผู้ประกอบการอาจจะต้องเปลี่ยนส่วนประกอบบางส่วน

ในส่วนของการป้องกันคลังสินค้า ผู้ประกอบการอาจจะเช่าหรือสร้างคลังสินค้าสำรองเพิ่มเติมเพื่อกระจายความเสี่ยงต่อเหตุการณ์ และอาจจะเพิ่ม ปริมาณการเก็บสินค้าและวัตถุมากขึ้นเพื่อป้องกันสินค้าและวัตถุดิบขาดแคลน อย่างไรก็ตาม ต้องระวังการเก็บตุนสินค้าสูงเกินไป อาจจะส่งผลต่อเงินหมุนเวียนในบริษัทน้อยลงและต้นทุนของบริษัทที่สูงขึ้น

ในด้านของการจัดเก็บข้อมูลของบริษัท สามารถใช้บริการบริษัทเอกชนต่างๆให้เข้ามาช่วยในการเก็บสำรองข้อมูลไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน ที่ไม่สามารถเข้าที่ทำงานเพื่อดึงข้อมูลมาใช้ได้ หรือข้อมูลได้รับความเสียหายจากภัยต่างๆ

ส่วนในด้านของการฟื้นฟูหลังจากประสบภัย ควรจะวางแผนและขั้นตอนการดำเนินงานซ่อมแซมและฟื้นฟู โดยใช้เวลาให้น้อยที่สุดเพื่อกลับมาเดินสายการผลิตได้เต็มศักยภาพ เพื่อให้สามารถแข่งขันกับผู้ประกอบการรายอื่นได้ ผู้ประกอบการบางรายอาจจะเลือกย้ายฐานการผลิต เพราะอาจจะมองว่ามีความเสี่ยงต่อเหตุการณ์และภัยธรรมชาติต่ำกว่าที่ตั้งเดิม เพื่อป้องกันภัยธรรมชาติที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต นอกจากนี้ยังสามารถดำเนินโรงงานผลิตในหลายๆที่ เพื่อกระจายความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น เมื่อแห่งหนึ่งเกิดปัญหา อีกแห่งหนึ่งสามารถผลิตและจัดเก็บสินค้าทดแทนกันได้

อย่างไรก็ตาม การปฏิบัติตามแผน BCP ที่วางไว้จะต้องพิจารณาถึงระยะเวลาของเหตุการณ์ที่มีผลกระทบ เนื่องจากเกิดปัญาในระยะสั้น อาจจะไม่คุ้มต่อการขนย้าย เพราะว่าการแต่ขั้นตอนมีค่าใช้จ่าย ซึ่งต้องประเมินความเสียหายประกอบกับค่าใช้จ่ายในการดำเนินการต่างๆ


ตัวอย่างการใช้ BCP ในช่วงอุทกภัยปี 2554 ในพื้นที่กรุงเทพ

กรณีตัวอย่าง : บริษัท A เป็นบริษัทรับผลิตและบรรจุผลิตภัณฑ์อาหาร ตั้งอยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร และมีบุคลากรทั้งหมด 10 คน โดยบริษัทได้มีการวางแผนตามแนวทาง BCP ไว้ระดับหนึ่ง

 สถานการณ์อุทกภัยเกิดขึ้นในพื้นที่อื่น ส่งผลกระทบต่อบริษัทซัพพลายเออร์ถังพลาสติกที่เป็นภาชนะบรรจุสินค้า ทำให้ไม่สามารถนำภาชนะมาส่งได้ตามปกติ บริษัทจึงได้หาซัพพลายเออร์อื่นทดแทน โดยภาชนะบรรจุแตกต่างจากเดิม จึงได้ติดต่อไปยังลูกค้าเพื่อแจ้งการเปลี่ยนแปลงและตกลงการใช้ภาชนะบรรจุอื่นทดแทน เพื่อรักษาระดับการผลิตและสามารถส่งของแก่ลูกค้าตามตารางเวลาที่ได้วางแผนไว้

 สถานการณ์อุทกภัยเกิดขึ้นในพื้นที่กรุงเทพรอบนอก และมีความเสี่ยงที่จะเกิดน้ำท่วมในบริเวณสถานประกอบการ 0.5-1 เมตร (ตามที่ได้ประเมินจากสื่อต่างๆและภาครัฐ) จึงได้ขนย้ายสินค้าและวัตถุดิบขึ้นชั้นสอง พร้อมทั้งย้ายเครื่องจักรที่สำคัญไปในพื้นที่ที่สูงกว่าพื้นถนน 1 เมตร และโดยปกติแล้วเครื่องจักรเหล่านั้นวางอยู่บนขาตั้งซึ่งสูงกว่าระดับพื้น 1 เมตร ทำให้สามารถป้องกันความเสียหายได้ประมาณ 2 เมตร พร้อมทั้งนำถุงทรายและกั้นกำแพงปูนโดยรอบ เพื่อป้องกันความเสียหายต่อสถานที่ผลิต ส่วนในด้านเอกสารต่างๆ ได้นำไปเก็บในชั้นสอง โดยเหลือเพียงอุปกรณ์สำนักงานที่ง่ายต่อการเคลื่อนย้ายบางอย่างไว้ เพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจได้ตามปกติ ในด้านของรถยนต์ บริษัทได้จัดการเช่าที่จอดในตึกสูงบริเวณใกล้เคียงไว้ล่วงหน้า เพื่อนำรถไปจอดในช่วงหลังเลิกงานและเหตุการณ์น้ำท่วมรุนแรง ซึ่งการดำเนินการต่างๆได้ปฎิบัติพร้อมกับการติดตามข่าวสารและสถานการณ์น้ำท่วมอยู่ตลอดเวลา เพื่อใช้ในการตอบสนองต่อสถานการณ์ความรุนแรงที่อาจจะเกิดขึ้น

 การวางแผนเตรียมรับมือกับสถานการณ์อุทกภัยที่อาจจะเข้าสู่ขั้นรุนแรงในบริเวณพื้นที่สถานประกอบการ การรับมือสำหรับการเกิดอุทกภัยที่รุนแรง บริษัทวางแผนที่จะหยุดการประกอบการในช่วงเวลาหนึ่ง เนื่องจากบริษัทได้ประเมินเปรียบเทียบมูลค่าความเสียหายจากการหยุดชะงักของธุรกิจและค่าใช้จ่ายที่อาจเกิดขึ้นหากต้องขนย้ายเครื่องจักรไปผลิตในสถานที่อื่นแล้ว เห็นว่าเครื่องจักร อุปกรณ์ และวัถดุดิบต่างๆ ยากต่อการเคลื่อนย้าย เนื่องจากมีจำนวนและน้ำหนักมาก รวมถึงเป็นการผลิตส่วนประกอบของอาหาร ทำให้ยากที่จะขนย้ายไปผลิตในสถานที่อื่นได้ โดยบริษัทวางแผนจะเร่งการผลิตในช่วงระยะเวลาที่สถานการณ์น้ำท่วมยังไม่รุนแรงมากนัก และเร่งขนส่งให้แก่ลูกค้า โดยจะเก็บสินค้าและวัตถุดิบให้น้อยลงมากที่สุด ซึ่งการกระทำทั้งหมดไม่ได้มีการเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมในการจัดทำแผน BCP เนื่องจากฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์มีไม่มาก และเอกสารส่วนมากได้นำไปเก็บไว้ในที่ปลอดภัยแล้ว จึงไม่ได้ใช้บริการจากบริษัทเอกชนต่างๆในการบริการฐานข้อมูล

3. การดำเนินการ (Implementing) 

หลังจากออกแบบและวางแผน BCP ควรเก็บรวบรวมกันไว้ที่เดียวและทำสำเนาไว้หลายๆชุด เพื่อแจกจ่ายและกระจายงานในองค์กร ซึ่งในหลายกรณี ผู้ประกอบการวางแผนแล้ว แต่ไม่ได้ปฎิบัติตามแผนที่วางไว้ ทำให้ไม่สามารถป้องกันเหตุที่เกิดขึ้นได้ ซึ่งหลังจากวางแผนแล้วจะต้องเริ่มปฎิบัติตาม เพื่อใช้ในการวัดประสิทธิภาพของแผนที่ได้วางเอาไว้ พร้อมทั้งตรวจสอบและปรับให้เข้ากับองค์กร ทั้งในเรื่องของคุณภาพของแผนและผลของแผนสำรอง นอกจากนี้ยังต้องกระจายให้พนักงานทุกคนมีส่วนร่วมเข้าใจในแผนและสามารถปฎิบัติได้ โดยอาจจะมีจัดอบรมทำความเข้าใจกับพนักงาน

4. การทดสอบและระดับการยอมรับขององค์กร (Testing & Organization Acceptance) 

หลังจากเริ่มดำเนินการตามแผน BCP ครบทุกขั้นตอนแล้ว จะต้องมีการทดสอบและวัดผลของแผนดำเนินการว่าสามารถปฎิบัติได้ตามแผนและจุดประสงค์ที่วางไว้หรือไม่ ซึ่งแผนจะสามารถประสบผลสำเร็จตามระดับของการดำเนินการที่ยอมรับได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับ การวิเคราะห์ผลกระทบที่ครอบคลุมการออกแบบแผนการป้องกันและ ฟื้นฟูให้ตรงตามเป้าหมาย รวมไปถึงการปฎิบัติที่ครบถ้วนตามที่ได้วางแผนไว้ ซึ่งการปฎิบัติทั้งหมดจะต้องทำตามและให้เข้ากับระดับการทำงานที่องค์กรได้ตั้งไว้ หรือบางบริษัทอาจจะตั้งไว้ ตามข้อตกลงที่ทำไว้กับลูกค้าในเรื่องการส่งมอบสินค้า

5. การบำรุงรักษาและทบทวน (Maintenance and Reviewing) 

ในขั้นตอนสุดท้ายในการจัดทำและพัฒนาแผน BCP คือ การบำรุงรักษา ซึ่งตรวจสอบข้อมูลในการจัดทำแต่ละขั้นตอน พร้อมทั้งฝึกอบรมบุคลากรให้เข้าใจถึงปัญหาและแผนป้องกัน นอกจากนี้หมั่นทดลองและตรวจสอบแนวทางการป้องกัน และฟื้นฟูขั้นตอนการปฎิบัติงาน และขั้นตอนการกู้คืนเอกสาร โดยเป็นประจำทุกปี เพื่อให้แผนการดำเนินการพร้อมสำหรับปฎิบัติเสมอ และเพื่อเป็นแนวทางพัฒนาปรับปรุงให้ทันต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป

ผู้ประกอบการ SME จะสามารถหาข้อมูลหรือหาที่ปรึกษาได้อย่างไร 

ผู้ประกอบการ SME ส่วนใหญ่จะไม่เคยวางแผน BCP เอาไว้ เนื่องจากยังขาดความรู้ความเข้าใจในการทำแผน และขาดการส่งเสริมความรู้ในด้านการทำแผนป้องกัน ซึ่งภาครัฐและเอกชนได้เริ่มตื่นตัวในการทำแผนป้องกันหลังจากช่วงเกิดความไม่สงบทางด้านการเมืองและภัยธรรมชาติในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ทำให้ในปัจจุบันผู้ประกอบการ SME เริ่มตื่นตัวและหาข้อมูลในการจัดทำแผน ซึ่งภาครัฐได้มีโครงการช่วยเหลือจากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม และมีการจัดอบรมแผน BCP ของสมาคมส่งเสริมความปลอดภัยและอนามัยในการทำงาน รวมไปถึงภาคเอกชนที่มีบริษัทที่ปรึกษาด้านแผน BCP ขึ้นมากมาย อย่างไรก็ตามความสำเร็จของแผน BCP ขึ้นอยู่กับผู้ประกอบการสามารถนำไปใช้ให้ เกิดขึ้นได้อย่างไร เนื่องจากที่ผ่านมาหลายบริษัทได้จัดทำแผน BCP แต่ไม่สามารถนำมาตอบสนองต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้จริง จากปัจจัยในหลายๆด้าน เช่น ไม่มีการปฎิบัติอย่างต่อเนื่อง และขาดความเข้าใจและพัฒนาแผนการทำงานเดิมที่มีอยู่ เป็นต้น จนอาจจะทำให้ถึงขั้นต้องบริหารงานในช่วงวิกฤต (Crisis Management) ซึ่งจะใช้เมื่อเกิดสถานการณ์วิกฤตเกิดขึ้นแล้ว โดยองค์กรที่สามารถใช้ BCP ได้ดีจะช่วยลดผลกระทบและโอกาสที่ต้องใช้ Crisis Management

ในการจัดทำแผน BCP ผู้ประกอบการสามารถเข้าร่วมอบรมจากทั้งภาครัฐได้ หรือใช้บริการจากบริษัทเอกชนให้เข้ามาช่วยเหลือในการวางแผนและซอฟต์แวร์ในการวางแผน BCP และ Disaster Recovery Planning (DRP) ซึ่งจะเน้นไปในด้านไอทีเป็นหลัก ซึ่งอุตสาหกรรมการผลิตจะเน้นไปในได้อุปกรณ์และวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต มากกว่าการจัดการในด้านข้อมูล ซึ่งการวางแผน BCP ด้วยตัวเองสำหรับ SME สามารถทำได้ไม่ยาก แต่ต้องสามารถนำมาปฏิบัติได้จริงและอาศัยการวางแผนที่รัดกุมครอบคลุมทุกสถานการณ์ เพื่อให้สามารถรองรับกับเหตุการณ์ฉุกเฉินที่เกิดขึ้นได้ อย่างไรก็ตาม การจัดเก็บข้อมูลก็มีความสำคัญ ซึ่งสามารถซื้อบริการจากบริษัทเอกชนต่างๆ ในระบบการจัดเก็บข้อมูล เพื่อให้บริษัทสามารถดำเนินกิจการในช่วงประสบสภาวะฉุกเฉินได้อย่างราบรื่น และช่วยในการติดต่อสื่อสารในองค์กร และการนำข้อมูลมาจัดเก็บได้อย่างปลอดภัย พร้อมทั้งใช้งานในช่วงเกิด สถานการณ์ฉุกเฉิน แต่อาจจะเป็นอุปสรรคในด้านค่าใช้จ่ายสำหรับ SME ซึ่งภาครัฐได้เข้ามาช่วยเหลือในการทำ Cloud Computing และสนับสนุนด้านเงินทุนผ่านทางโครงการคลีนิคอุตสาหกรรมเพื่อการฟื้นฟูสถานประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อยที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย กระทรวงอุตสาหกรรม ทำให้ SME สามารถป้องกันข้อมูลเสียหายจากสภาวะต่างๆ ได้

ที่ผ่านมา SME ใช้การแก้ไขสถานการณ์แบบเฉพาะหน้า เช่น ขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูง ก่อปูนและใช้กระสอบทรายกั้นน้ำรอบบริเวณ เป็นต้น ซึ่งไม่ได้มีการวางแผน BCP ไว้ล่วงหน้า อีกทั้งส่วนใหญ่จะมีสถานที่ประกอบการเพียงแห่งเดียวไม่สามารถขนย้ายไปที่อื่นได้ อาจจะเพราะเป็นธุรกิจขนาดเล็ก เงินทุนไม่เพียงพอ และไม่มีการช่วยเหลือจากภาครัฐในการวางแผนป้องกันและโครงข่ายความช่วยเหลือระหว่างธุรกิจ SME ด้วยกันเอง ซึ่งในอนาคตภาครัฐควรเข้ามาช่วยเหลือและส่งเสริมในการจัดทำแผน BCP และโครงข่ายของ SME เพื่อใช้ในป้องกันน้ำท่วม เช่น การเคลื่อนย้ายสถานที่ผลิต เป็นต้น

เมื่อต้องใช้ BCP จะกระทบต่อการผลิตมากน้อยเพียงใด 

เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินที่จะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการผลิตทั้งจากทางตรงและทางอ้อม ทั้งยอดขายที่ต่ำลง ต้นทุนสูงขึ้น คุณภาพวัตถุดิบและสินค้าที่เปลี่ยนไป แรงงานที่ไม่สามารถมาทำงาน การขนส่งในระบบโลจิสติกส์หยุดชะงัก ห่วงโซ่อุปทานตัดขาดและทรัพย์สินที่เสียหาย ซึ่งจะส่งผลให้การเติบโตทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมชะลอตัวลง ซึ่งผู้ประกอบการล้วนได้รับความเสียหายต่อการผลิต และจะมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมและแผน BCP ซึ่งการทำแผนที่ดีจะสามารถป้องกันความเสียหายได้เป็นส่วน มากถึงอาจจะไม่ส่งผลใดๆต่อการผลิตเลย ในทางกลับกัน บางธุรกิจอาจจะได้โอกาสจากสถานการณ์ฉุกเฉิน เช่นอุทกภัยในปีที่ผ่านมา ธุรกิจอาหาร และธุรกิจก่อสร้าง สามารถเพิ่มยอดขาย ในระหว่างและหลังจากเหตุการณ์น้ำท่วม ก็ต่อเมื่อธุรกิจเหล่านั้นอยู่ในพื้นที่ที่ไม่ได้รับผลกระทบหรือสามารถใช้แผนป้องกันได้ดี

ผู้ประกอบการที่สามารถใช้แผนสำรองการทำงานได้ดี จะสามารถช่วยให้ธุรกิจสามารถดำเนินได้อย่างราบรื่น ยิ่งไปกว่านั้นอาจจะสามารถแย่งยอดขาย และมีโอกาสในการค้าสูงขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการอื่นๆอาจจะประสบปัญหาและต้องใช้เวลาแก้ไขนานกว่า ทั้งในเรื่องของยอดขายที่จะอาจจะลดลงหรือเพื่อขึ้น เนื่องจากกำลังการผลิต อาจจะปรับตัวลดลง ส่วนยอดขายซึ่งขึ้นอยู่กับอุปสงค์ในขณะนั้น ยกตัวอย่างเช่น น้ำดื่ม อาจจะขายได้ราคาสูงขึ้น และปริมาณที่มากขึ้น เนื่องจากมีความต้องการจากตลาดสูงขึ้น จนถึงขึ้นมีผู้ประกอบหลายรายนำเข้าน้ำดื่มจากต่างชาติเข้ามาขาย เพราะว่าอุตสาหกรรมการผลิตไม่สามารถผลิตได้เพียงพอต่อความต้องการ ซึ่งอุตสาหกรรมการผลิตเสียโอกาสสร้างยอดขายในส่วนนี้ไป

อย่างไรก็ตาม การใช้แผน BCP ไม่สามารถหลีกเลี่ยงความเสียหายที่จะเกิดขึ้นได้ทั้งหมด แต่จะสามารถช่วยป้องกันทรัพย์สิน และข้อมูลการทำงานของบริษัทส่วนมากไว้ได้ พร้อมทั้งสามารถฟื้นฟูสถานที่ผลิตให้กลับมาทำงานได้เต็มศักยภาพในเวลาที่รวดเร็ว พร้อมทั้งสามารถแข่งขันในตลาดได้สูงกว่าบริษัทที่ไม่สามารถจัดการแก้ปัญหาได้ นอกจากนี้ยังอาจจะเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดจากที่ลูกค้าย้ายเข้ามาชั่วคราวและประจำ เนื่องจากคู่ค้าเดิมประสบปัญหาไม่สามารถส่งสินค้าให้ได้

การพัฒนาธุรกิจค้าปลีก…เพื่อเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือ AEC

จากการเปิดเสรีทางการค้าในประเทศไทย ทำให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนทำธุรกิจในประเทศไทยมากขึ้น ส่งผลให้ผู้ประกอบการค้าปลีกทั้งราย เล็กและรายใหญ่ต่างก็ปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลงของสังคม เพื่อความอยู่รอดของธุรกิจ ส่งผลให้รูปแบบการค้าปลีกได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างมาก การขยายตัวอย่างรวดเร็วของค้าปลีกสมัยใหม่ หรือแม้แต่ร้านสะดวกซื้อที่มีจำนวนสาขามากขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี ทำให้ผู้บริโภคมีช่องทางในการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น อันส่งผลกระทบต่อธุรกิจค้าปลีกดั้งเดิมที่มีขนาดกลาง และขนาดเล็ก หรือผู้ประกอบการค้าปลีกเอสเอ็มอี

การก้าวไปสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC อย่างเต็มรูปแบบในปี 2558 ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้ภาคธุรกิจค้าปลีกของไทยมีการตื่นตัวกันมากขึ้นในปัจจุบัน ซึ่งจะส่งผลต่อการเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรง โดยเฉพาะผู้ประกอบการค้าปลีกเอสเอ็มอี ซึ่งนอกจากจะเผชิญกับการแข่งขันกับผู้ประกอบการรายใหญ่ในประเทศ แล้วยังต้องแข่งขันกับนักลงทุนต่างชาติที่สนใจจะเข้ามาลงทุนในไทย ในขณะเดียวกันผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยก็มีโอกาสที่จะขยายการลงทุนไปในอาเซียน ดังนั้น เพื่อให้ผู้ประกอบการค้าปลีกเอสเอ็มอีพร้อมที่จะรุกและรับภายใต้สภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนไป จึงจำเป็นที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงแนวทางการดำเนินธุรกิจ ซึ่งเป็นการปรับตัวเพื่อความอยู่รอด และเป็นการเตรียมความพร้อมเพื่อขยายโอกาสทางธุรกิจภายหลังการก้าวไปสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนเกิดขึ้นในปี 2558

ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน-AEC… ผลต่อภาคธุรกิจค้าปลีกไทย 

การก้าวไปสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ที่จะเกิดขึ้นอย่างเต็มรูปแบบในปี 2558 ส่งผลให้ตลาดอาเซียนมีขนาดใหญ่ขึ้น โดยมี จำนวนประชากรในอาเซียนรวมกันกว่า 600 ล้านคน สามารถเคลื่อนย้ายหรือไปมาหาสู่กันได้อย่างเสรี ภาคการค้ามีแนวโน้มขยายตัวมากขึ้น ผู้บริโภคในกลุ่มรายได้ปานกลางจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น รวมถึงรูปแบบในการบริโภคสินค้า/บริการของผู้บริโภคจะสอดคล้องกับสังคมสมัยใหม่มากขึ้น เช่น นิยมสินค้าที่มีคุณภาพ และให้ความคุ้มค่ามากขึ้น มีความทันสมัยและสนใจในการใช้เทคโนโลยี เป็นต้น

ในส่วนของภาคบริการของธุรกิจค้าปลีก นับเป็นภาคธุรกิจที่มีความสำคัญและมีบทบาทต่อภาพรวมของเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งจากการเปิด AEC ที่ กำลังจะมาถึงในปี 2558 นั้น อาจจะเป็นทั้งโอกาสและอุปสรรคสำหรับผู้ประกอบการค้าปลีกเอสเอ็มอีของไทย โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ธุรกิจค้าปลีกมีโอกาสได้ประโยชน์จากการเปิด AEC ในหลายแง่มุม ได้แก่

• ผู้ประกอบการค้าปลีกเอสเอ็มอีของไทยมีโอกาสขยายธุรกิจ โดยหันไปทำการลงทุนในอาเซียนได้มากขึ้น จากการขยายเพดานการถือหุ้นของนักลงทุนต่างชาติที่มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 49 เป็นร้อยละ 70 ในปี 2558

• ผู้ประกอบการมีโอกาสในการนำเข้าสินค้าจากอาเซียนมาจำหน่ายในราคาที่ถูกลงอันเนื่องมาจากการปรับลดอัตราภาษีนำเข้า

• โอกาสในการหาพันธมิตรทางธุรกิจในอาเซียน โดยแม้ว่าค้าปลีกที่เป็นแบรนด์อาเซียนอาจจะเข้ามามีบทบาทในตลาดอาเซียนมากขึ้น ส่งผลให้ การแข่งขันอาจมีแนวโน้มรุนแรง แต่ผู้ประกอบการค้าปลีกเอสเอ็มอีของไทยอาจใช้โอกาสนี้สร้างเครือข่ายพันธมิตรกับธุรกิจในอาเซียนอื่นๆ เสริมความเข้มแข็งภายใต้สภาพแวดล้อมการแข่งขันที่ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น

ที่มา: MOC,KResearch

ทั้งนี้ จะเห็นว่า ประเทศในอาเซียนมีความต้องการสินค้าจากไทยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และผู้บริโภคในแต่ละประเทศก็เริ่มนิยมและชื่นชอบสินค้าไทย โดยจะ เห็นได้ว่าการส่งออกสินค้าไทยไปอาเซียนในปี 2554 มีมูลค่าประมาณ 5.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 22.5 (YoY) โดยประเทศที่มูลค่าการส่งออกมากที่สุดได้แก่ มาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย ในขณะที่ประเทศพม่า และลาวมีอัตราการเติบโตที่น่าสนใจ

นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้สรุปข้อมูลพื้นฐานเบื้องต้นของแต่ละประเทศสมาชิกในอาเซียน เพื่อให้ผู้ประกอบการค้าปลีกที่สนใจจะออกไปเจาะตลาดอาเซียนใช้ประกอบการตัดสินใจลงทุน

สิงคโปร์/มาเลเซีย – เป็นกลุ่มประเทศที่มีกำลังซื้อค่อนข้างสูง นิยมเลือกซื้อสินค้าแบรนด์เนม สินค้าฟุ่มเฟือยและสินค้าหรูหรามากขึ้น
– วัฒนธรรมไลฟ์สไตล์ทางตะวันตกมีอิทธิพลมาก โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่นสิงคโปร์มีพฤติกรรมอ่อนไหวต่อกระแสนิยมและแฟชั่นในตลาดโลกสูง และค่อนข้างให้ความสำคัญกับเทคโนโลยี และนวัตกรรมใหม่ๆ
– ให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพมาก และนิยมทานอาหารเสริมเพื่อบำรุงร่างกาย เครื่องดื่มในกลุ่ม Functional Food เช่น เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ/ให้พลังงาน
– มีการขยายตัวของธุรกิจค้าปลีกอย่างต่อเนื่อง อาทิ ห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต ดังนั้น ช่องทางในการจำหน่ายสินค้าของผู้ประกอบการค้าปลีกของไทยอาจจะเป็นไปในลักษณะของการ เช่าพื้นที่ในห้างสรรพสินค้า หรือการตั้งซูเปอร์มาร์เก็ตจำหน่ายสินค้าตามชุมชนต่างๆ แต่ค่าเช่าจะมีราคาที่ค่อนข้างสูง และต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรง
อินโดนีเซีย/เวียดนาม – เป็นประเทศที่ประชากรส่วนใหญ่มีรายได้ระดับปานกลาง-ต่ำ ผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังค่อนข้างอ่อนไหวกับราคาสินค้า ทำให้ไม่ค่อยนิยมสินค้านำเข้าที่ราคาแพงหรือสินค้าที่มีบรรจุภัณฑ์ราคาสูง
– มีการใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าอาหารค่อนข้างสูง
– พฤติกรรมการซื้อสินค้าอาหารหันมานิยมซื้ออาหารสำเร็จรูป อาหารพร้อมปรุง และอาหารพร้อมรับประทานที่เก็บไว้ได้นานมากขึ้น
– อาหารสไตล์ตะวันตกได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นมาก โดยเฉพาะอาหารฟาสฟู้ดที่เข้ามาในรูปแบบธุรกิจแฟรนไชส์
– ช่องทางการค้าปลีกของผู้ประกอบการไทยในอินโดนีเซีย และเวียดนามอาจเป็นการจำหน่ายสินค้าผ่านช่องทางร้านปลีกแบบดั้งเดิม เพราะพฤติกรรมของผู้บริโภคส่วนใหญ่จะนิยมซื้อสินค้า ตามร้านค้าปลีกรายย่อยมากกว่า แต่อย่างไรก็ตาม ช่องทาง Modern Trade ก็เริ่มมีบทบาทมากขึ้น
พม่า / สปป.ลาว / กัมพูชา – ส่วนใหญ่ยังมีกำลังซื้อไม่สูงนัก ทำให้การตัดสินใจซื้อส่วนใหญ่เน้นพิจารณาจากประโยชน์ของสินค้าเป็นสำคัญ และมักซื้อสินค้าเท่าที่จำเป็น อย่างไรก็ดี สำหรับกลุ่มวัยรุ่นชาวลาว พบว่า กระแสแฟชั่นสมัยใหม่เข้ามามีอิทธิพลต่อการเลือกซื้อสินค้าค่อนข้างมาก โดยเฉพาสินค้าด้าน เครื่องแต่งกายและการดูแลสุขภาพ
– ประเทศเพื่อนบ้านทั้ง 3 มีรสนิยมค่อนข้างคล้ายคลึงกับไทย จากประเพณีและวัฒนธรรม และพรมแดนที่อยู่ติดกัน ทั้งยังนิยมเลียนแบบการบริโภคสินค้าผ่านสื่อโทรทัศน์ของไทย
– ผู้บริโภคทั้ง 3 ประเทศ ส่วนใหญ่ยังเน้นบริโภคสินค้าจำเป็นในชีวิตประจำวัน ขณะที่สินค้าฟุ่มเฟือยหรือสิ่งอำนวยความสะดวกยังได้รับความนิยมในวงจำกัดเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้สูง / นักการเมือง
– ช่องทางการค้าปลีกของผู้ประกอบการไทยในประเทศกลุ่มนี้ น่าจะเป็นลักษณะของร้านค้าปลีกย่อยที่เป็นตัวแทนจำหน่าย เพราะผู้บริโภคนิยมซื้อสินค้าผ่านตัวแทนจำ นอกจากนี้ การเข้าไปเช่าพื้นที่ขายผ่านช่องทาง Modern Trade ก็เริ่มน่าสนใจ เพราะผู้บริโภคเริ่มมีพฤติกรรมซื้อสินค้าผ่านทาง Modern Trade มากขึ้น ในขณะที่บางสินค้าก็อาจจะนิยมซื้อขายโดยตรงเลย (ขาย ตรง) เช่น เครื่องสำอาง อาหารเสริม เป็นต้น

ทั้งนี้ ประเภทของธุรกิจค้าปลีกที่คาดว่า จะมีโอกาสขยายตัวได้มากขึ้นจากการเปิดเสรี AEC ดังกล่าว ได้แก่

ประเภทของธุรกิจ รายละเอียด
ค้าปลีกสินค้ากลุ่มแฟชั่น – กระแสอุตสาหกรรมบันเทิงของไทย กำลังเป็นที่นิยมและชื่นชอบอย่างมากในประเทศเพื่อนบ้าน
– กลุ่มเสื้อผ้าสำเร็จรูป เครื่องประดับ รองเท้าและกระเป๋า ที่อิงกระแสดาราไทย จะเป็นที่ต้องการของผู้บริโภค ดังนั้น นอกจากผู้ประกอบการสินค้าแฟชั่นของไทยจะต้องคอยตามพฤติกรรม ของผู้บริโภคอาเซียนแล้ว ยังต้องติดตามกระแสละครของไทยด้วย
– ด้วยความพร้อมทางด้านวัตถุดิบตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ประกอบกับมั่นใจในคุณภาพและภาพลักษณ์ที่ดีของสินค้าไทยเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน และคาดว่า สินค้าแฟชั่นของไทย น่าจะเป็นที่นิยมในอาเซียนมากขึ้น
– ประเทศที่น่าลงทุนในกลุ่มค้าปลีกสินค้าแฟชั่น ได้แก่ ลาว กัมพูชา พม่า
ค้าปลีกสินค้ากลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า/อิเล็กทรอนิกส์ – กำลังซื้อที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ประกอบกับจำนวนประชากรในวัยทำงานที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ความต้องการสินค้าที่มีคุณภาพมีมากขึ้น
– ความมีชื่อเสียงทางด้านคุณภาพและมาตรฐานของสินค้าเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆในอาเซียน ก็น่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้สินค้าของไทยเป็นที่ต้องการในอาเซียน
ค้าปลีกอาหารและเครื่องดื่ม – ด้วยจุดแข็งทางด้านวัตถุดิบทางการเกษตรที่มีความหลากหลาย ประกอบกับรสชาติของอาหารที่เป็นที่นิยม และลักษณะของรสชาติอาหารใกล้เคียงกับไทย เช่น ลาว ฟิลิปปินส์ เป็นต้น
– เป็นภูมิภาคที่มีมุสลิมอยู่เป็นจำนวนมาก ส่งผลให้ค้าปลีกประเภทอาหารฮาลาลน่าจะมีโอกาสขยายตัวเพิ่มมากขึ้นในอาเซียน เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย เป็นต้น
– ด้วยพฤติกรรมของผู้บริโภคในอาเซียนที่มีการปรับเปลี่ยนตามสมัยสังคมในปัจจุบันมากขึ้น ร้านค้าปลีกจำหน่ายอาหารพร้อมปรุง และอาหารพร้อมรับประทาน (ready to eat) ก็น่าจะมีโอกาสในการขยายตัวในอาเซียนมากขึ้นเช่นกัน นอกจากนี้ พวกอาหารเสริมหรืออาหารออร์แกนิกหรือเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพก็น่าจะมีโอกาสขยายตัวตามกระแสการหันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้นของผู้บริโภค
ค้าปลีกสินค้า/ของที่ระลึก/สินค้า OTOP – มีโอกาสขยายตัวเพิ่มขึ้นสอดคล้องกับการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยวที่คาดว่า จะสามารถรองรับกับจำนวนนักท่องเที่ยวจากอาเซียนที่เพิ่มขึ้นภายหลังเปิด AEC ในปี 2558
– อาศัยฝีมือแรงงาน รวมถึงความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของไทยในการเจาะตลาดผู้บริโภค โดยเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยวให้หันมาสนใจซื้อสินค้า/ของที่ระลึกมากขึ้น โดยผู้ประกอบการค้าปลีก สินค้ากลุ่มดังกล่าวอาจจะร่วมมือกับภาคการท่องเที่ยว เช่น กลุ่มบริษัททัวร์นำเที่ยว ให้มีการเชิญชวนหรือพานักท่องเที่ยวมาแวะจับจ่ายสินค้าดังกล่าว เป็นต้น
ค้าปลีกสินค้ากลุ่มชิ้นส่วนและอุปกรณ์ตกแต่งรถยนต์/จักรยานยนต์ – ผลจากเศรษฐกิจที่เติบโต กำลังซื้อของประชาชนในภูมิภาคอาเซียน เช่น เวียดนาม พม่า ลาว และกัมพูชา มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น จึงทำให้ยอดจำหน่ายรถยนต์/จักรยานยนต์ในประเทศดังกล่าวปรับเพิ่มขึ้น
– ส่งผลต่อเนื่องถึงความต้องการชิ้นส่วนและอุปกรณ์ รวมทั้งอุปกรณ์ตกแต่งปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งอุตสาหกรรมด้านนี้ไทยมีความสามารถในการแข่งขัน

อย่างไรก็ตาม อาจจะมีประเภทของกลุ่มสินค้า/บริการอีกหลากหลายรูปแบบที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยมีโอกาสที่จะขยายตลาดในอาเซียน ซึ่งทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับว่า ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีของไทยมีการเตรียมความพร้อมในการแข่งขันภายหลัง AEC เกิดขึ้นอย่างเต็มรูปแบบในปี 2558 มากน้อยเพียงใด เพราะในขณะเดียวกัน การเปิด AEC ก็อาจจะจูงใจให้นักลงทุนต่างชาติในอาเซียนสนใจที่จะเข้ามาขยายธุรกิจในไทยเช่นกัน ซึ่งนับเป็นความท้าทายของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยที่จะต้องเผชิญกับการแข่งขันที่คาดว่าจะมีแนว โน้มรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะนักลงทุนที่มีความพร้อมทางด้านเงินทุน และมีชื่อเสียงทางด้านธุรกิจค้าปลีกพอสมควรอย่างสิงคโปร์ หรือแม้แต่มาเลเซีย ดังนั้น ในช่วงเวลาอีก 3 ปีข้างหน้าก่อน ที่จะเข้าสู่ประตู AEC อย่างเต็มรูปแบบ จำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีของไทยจะต้องมีการปรับตัว และเตรียมความพร้อมเพื่อพัฒนาธุรกิจค้าปลีกให้มีศักยภาพในการแข่งขัน

การเตรียมความพร้อมของผู้ประกอบการ…เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน

นอกจากการวางแผนดำเนินธุรกิจในขั้นพื้นฐานแล้ว ผู้ประกอบการค้าปลีกเอสเอ็มอียังควรเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ เพื่อเสริมสร้างศักยภาพของ ธุรกิจให้แข็งแกร่ง ท่ามกลางภาวะการแข่งขันของธุรกิจค้าปลีกที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในอีก 2-3 ปีข้างหน้า โดยการเตรียมความพร้อมของผู้ประกอบการค้าปลีกเอสเอ็มอีของไทย มีดังนี้

การศึกษา เรียนรู้ และทำความเข้าใจเกี่ยวกับประเด็น AEC

ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีของไทยส่วนใหญ่ยังคงขาดความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับเนื้อหาและรายละเอียดเกี่ยวกับ AEC อยู่มาก ดังนั้น ผู้ประกอบการเอส เอ็มอีของไทยควรที่จะทำความเข้าใจเกี่ยวกับ AEC ให้เข้าใจอย่างชัดเจนเสียก่อน ทั้งทางด้านกฎระเบียบ เงื่อนไข การลงทุน ภาษี และกฎหมายแรงงาน โดยอาจจะเข้าร่วมรับฟังสัมมนากับ ทางหน่วยงานภาครัฐที่จัดสัมมนาเกี่ยวกับ AEC หรือสอบถามไปทางหน่วยงานของภาครัฐที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลเรื่องดังกล่าว เช่น กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กรมส่งเสริมการส่งออก สมาคมค้าปลีก เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีของไทยมีพื้นฐาน และมีความเข้าใจที่ชัดเจน ซึ่งเป็นหนทางที่จะนำไปสู่การพัฒนาธุรกิจ เพื่อเตรียมความพร้อมในการรองรับการ แข่งขันในลำดับถัดไป

การบริหารจัดการต้นทุนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

อุปสรรคที่สำคัญอีกหนึ่งประการสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี คือ การบริหารต้นทุนให้ต่ำที่สุด เพราะจะส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขัน ดังนั้น ร้านค้าปลีกจำเป็นต้องมีการบริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นด้านการสั่งซื้อสินค้า การบริหารสต็อกสินค้า ควรมีการจัดทำบัญชีรายการสินค้าเข้าออก และบัญชีรายรับรายจ่ายในแต่ละวัน เพื่อนำข้อมูลที่ได้มาประยุกต์ใช้ในการวางแผนการจัดซื้อสินค้า และการทำสต็อกสินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสร้างศักยภาพในการแข่งขันของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยให้เพิ่มขึ้นภายหลังเปิด AEC ในปี 2558

พัฒนาสินค้าและบริการ

ผู้ประกอบการการเอสเอ็มอีควรที่จะผูกมัดใจลูกค้าในทุกรูปแบบ ด้วยการพัฒนาสินค้าและบริการให้มีความหลากหลายและเกิดความแตกต่าง มีการพัฒนาสินค้าให้เกิดเป็นแบรนด์ของตนเอง ด้วยความคิดสร้างสรรค์ ที่มีคุณภาพและมาตรฐาน ทั้งนี้ เนื่องด้วยสินค้าและบริการของไทยมีข้อเสียเปรียบในเรื่องของต้นทุนที่สูงกว่าอีกหลายๆ ประเทศในอาเซียน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ทำให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีของไทยไม่สามารถแข่งขันได้ ดังนั้น ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยควรหลีกเลี่ยงการแข่งขันทางด้านราคา และหันมายกระดับสินค้าและบริการให้มีคุณภาพและมาตรฐานเพิ่มขึ้น ซึ่งคาดว่า จะทำให้สินค้าและบริการของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยเป็นที่สนใจมากขึ้นในอาเซียน

พัฒนาคุณภาพของบุคลากร

การจ้างบุคลากรที่ดี การพัฒนาความสัมพันธ์ที่เหมาะสม และทำให้พนักงานเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิบัติงานเป็นกุญแจสำคัญสำหรับธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะแรงงานที่มีทักษะ และความชำนาญเหมาะสมกับตำแหน่งงาน อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าคุณจะจ้างแรงงานที่มีความเหมาะสมแล้ว การที่นายจ้างสามารถดูแลพนักงาน ได้อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม ก็จะทำให้พนักงานมีขวัญ และกำลังใจที่ดีในการทำงาน ผลที่ตามมา คือ กิจการก็จะประสบผลสำเร็จตามที่วางไว้

รักษาฐานลูกค้าเก่าให้มั่น ไปพร้อมๆกับการสร้างฐานลูกค้าใหม่

ภายหลังจากการเปิด AEC จะทำให้มีคู่แข่งเข้ามาทำการแข่งขันมากขึ้น รวมถึงมีโอกาสที่จะขยายฐานลูกค้าใหม่ๆได้เพิ่มขึ้นเช่นกัน ดังนั้น ด้วยความได้เปรียบของผู้ประกอบการค้าปลีกเอสเอ็มอีที่มีความน่าเชื่อถือ มีความใกล้ชิดและผูกพันกับกลุ่มลูกค้าเก่ามายาวนาน อาจจะง่ายต่อการเข้าใจในพฤติกรรมของลูกค้า ซึ่งผู้ประกอบการควรที่จะรักษาจุดแข็งตรงนี้ อีกทั้งการใส่ใจในเรื่องของการให้บริการทั้งก่อนและหลังการขาย ก็นับเป็นหัวใจสำคัญของธุรกิจค้าปลีกที่ทำให้ลูกค้ามีความรู้สึกที่ดี และอยากที่จะกลับมาใช้บริการซ้ำ ซึ่งลูกค้าเก่าที่รู้สึกดีจากการให้บริการ จนเกิดการบอกกล่าวแบบปากต่อปากจนกลายเป็นกลยุทธ์สำคัญที่ทำให้เกิดลูกค้าใหม่ๆมากขึ้น นอกเหนือจากการจูงใจกลุ่มลูกค้าด้วยการจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดต่างๆ

นำเทคโนโลยีมาใช้ในการพัฒนาธุรกิจมากขึ้น

ไม่ว่าจะเป็น Wireless Technology และเว็บไซต์ต่างๆ บนอินเทอร์เน็ตที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีควรนำมาใช้ เพื่อเป็นช่องทางในการขายสินค้าและ บริการ รวมถึงการใช้ดิจิตอลคอนเทนท์เพื่อการโฆษณาเป็นภาพเคลื่อนไหวดึงดูดใจผู้ใช้บริการ และตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างทันท่วงที โดยในปัจจุบันการใช้เทคโนโลยีเพิ่ม เติมเข้ามาในร้านค้าเพื่อสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้าเป็นสิ่งที่ต่างประเทศมีความตื่นตัวมากขึ้น ดังนั้น จากที่เคยขายผ่านหน้าร้านธรรมดา ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยควรหันมาใช้ Internet ที่มีเว็บไซต์ 2 ภาษา ในการเจาะกลุ่มลูกค้าให้กว้างขวางมากขึ้น หรือที่เรียกว่า E-Commerce ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวก และสามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าทั้งในและต่างประเทศเกิดได้เพิ่มขึ้น ซึ่งปัจจุบันพบว่า พฤติกรรมของผู้บริโภคในอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ เริ่มหันมาซื้อขายสินค้าและบริการผ่านทางช่องทางออนไลน์กันมากขึ้น

เตรียมความพร้อมทางด้านภาษา

เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการไทยส่วนใหญ่ยังคงต้องพัฒนาทักษะทางด้านภาษาให้พร้อมที่จะทำการค้าขายกับคนต่างชาติ ซึ่งภายหลังจากการเปิด AEC ในปี 2558 การค้าขายจะสะดวกมากขึ้น จะกว้างขวางขึ้นภายใต้จำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นกว่า 600 ล้านคน ดังนั้น จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้เลยในเรื่องของภาษา หากผู้ประกอบการเอสเอ็มอีต้องการที่จะขยายธุรกิจทั้งในและต่างประเทศให้เติบโตมากขึ้น เพราะหากการติดต่อสื่อสารกับลูกค้าไม่สามารถสื่อความให้เข้าใจตรงกันได้ ก็นับเป็นอุปสรรคในการทำธุรกิจ และอาจจะทำให้สูญเสีย ลูกค้าไปให้กับคู่แข่งที่มีความพร้อมทางด้านภาษาได้อย่างง่ายดาย

ในขณะเดียวกัน นอกจากผู้ประกอบการค้าปลีกเอสเอ็มอีจะตั้งรับกับการเปลี่ยนแปลงและการเข้ามาของคู่แข่งที่มีโอกาสจะเกิดขึ้นได้ในอีก 2-3 ปีข้างหน้าแล้ว ผู้ประกอบการค้าปลีกเอสเอ็มอีของไทยก็มีโอกาสที่จะนำพาธุรกิจค้าปลีกของไทยไปเจาะตลาดอาเซียนด้วยเช่นกัน ซึ่งหากมีการเตรียมความพร้อมที่ดี กล้าที่จะรุกออกสู่ตลาดอาเซียน การเปิด AEC ในปี 2558 ถือเป็นช่องทางสำคัญที่จะทำให้ค้าปลีกของไทยมีโอกาสขยายตัวได้อีกมาก ทั้งนี้ การเริ่มต้นรุกตลาดออกนอกประเทศของผู้ประกอบการค้าปลีกเอสเอ็มอีอาจจะต้องเริ่มต้นจาก

ประเมินความพร้อมของธุรกิจ – ผู้ประกอบการค้าปลีกเอสเอ็มอีไทยควรที่จะประเมินความพร้อมทางธุรกิจก่อนที่จะออกไปแข่งขันกับคู่แข่งในต่างประเทศ ทั้งในส่วนของเงินทุน บุคลากร รวมถึงตัวสินค้าและบริการ ว่ามี ความพร้อมที่จะแข่งขันกับคู่แข่งมากน้อยเพียงใด เงินทุนมีพอที่จะอออกไปลงทุนในต่างประเทศหรือไม่ หรือมีช่องทางและแผนที่จะหาเงินทุนมาทำธุรกิจหรือไม่ ความพร้อมของบุคลากรทาง ด้านภาษา รวมถึงจะเอาสินค้าและบริการชนิดใดไปแข่งขันกับคู่แข่ง เป็นต้น นอกจากนี้ จะต้องเตรียมความพร้อมในการแข่งขันกับคู่แข่งในอาเซียนที่อาจจะสนใจหันไปลงทุนทำธุรกิจค้าปลีก ในตลาดเดียวกับเรา
ศึกษากฎระเบียบทางการค้าของประเทศในอาเซียน – ก่อนที่เข้าไปทำธุรกิจการค้าในอาเซียน ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีก็ต้องทำความเข้าใจ และศึกษาถึงกฎระเบียบ และข้อปฏิบัติของแต่ละประเทศสมาชิกให้ชัดเจนเสียก่อน ซึ่งแต่ละประเทศก็ อาจจะมีกฏระเบียบ และข้อปฏิบัติที่แตกต่างกัน ซึ่งการเข้าใจถึงกฎระเบียบ จะช่วยทำให้ผู้ประกอบการทำธุรกิจได้อย่างถูกต้อง สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น
ศึกษาตลาดอาเซียน – กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย คือใคร สินค้าที่จะไปวางจำหน่ายในร้านค้าปลีกตรงกับความต้องการของกลุ่มลูกค้าหรือไม่ พร้อมทั้งวางแผนการเข้าถึงกลุ่มลูกค้า รวมถึงข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับโครง สร้างของตลาด ขนาดและอัตราการเติบโตของกลุ่มลูกค้า
– ทำเลที่ตั้ง นับเป็นปัจจัยสำคัญของการทำธุรกิจค้าปลีก ผู้ประกอบการควรมองหาทำเลที่เหมาะสมกับธุรกิจ ซึ่งแต่ละธุรกิจก็จะมีทำเลที่เหมาะสมแตกต่างกันไปตามกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย เช่น ย่านศูนย์การค้า ชุมชน อยู่ใกล้แหล่งวัตถุดิบ เป็นต้น ทั้งนี้ ผู้เริ่มต้นธุรกิจควรศึกษารายละเอียดของสัญญาว่าคุ้มค่ากับการลงทุนหรือไม่ มากน้อยเพียงไร
– ทำการศึกษารสนิยม และพฤติกรรมของผู้บริโภคแต่ละประเทศในอาเซียน การเรียนรู้และเข้าใจในรสนิยม และพฤติกรรมของผู้บริโภคแต่ละประเทศในอาเซียนได้ก่อน นับเป็นความได้เปรียบของผู้ประกอบการที่สนใจจะขยายธุรกิจในอาเซียน ทำให้สินค้าและบริการสามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในอาเซียนได้ โดยอาจจะเริ่มจากการเข้าร่วมงานแสดง สินค้า/บริการในอาเซียน ซึ่งน่าจะเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้เรียนรู้ ความต้องการที่แท้จริงของตลาดและความเคลื่อนไหวของคู่แข่งในอาเซียนอีกด้วย
สร้างพันธมิตรทางการค้า – การทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ ควรให้ความสำคัญในการสร้างพันธมิตรทางธุรกิจ เพราะจะช่วยสร้างเครือข่ายธุรกิจให้มีการเชื่อมโยง เอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน เพื่อร่วมถ่ายทอด เทคนิคการจัดการ ทักษะต่างๆ การทำการตลาด และสร้างอำนาจต่อรอง ให้มากขึ้นกว่าการดำเนินธุรกิจเพียงลำพัง
ทำการตลาดอย่างต่อเนื่อง การตลาดเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะมีผลต่อการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าและบริการของผู้บริโภค เพื่อให้สินค้าเป็นที่รู้จัก และตอกย้ำแบรนด์เพื่อให้ลูกค้าจดจำได้

การสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐ ก็นับเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่มีบทบาทสำคัญสำหรับผู้ประกอบการธุรกิจค้าค้าปลีกเอสเอ็มอี เพราะนอกจากผู้ประกอบการค้าปลีกเอสเอ็มอีจะต้องปรับตัวและเตรียมความพร้อมกับการเผชิญการแข่งขันที่คาดว่าจะรุนแรงมากขึ้นในอนาคตอันใกล้แล้ว ภาครัฐควรเข้ามามีบทบาทในการช่วยเหลือผู้ประกอบการ ค้าปลีกเอสเอ็มอีให้สามารถขับเคลื่อนไปได้ภายหลังเปิด AEC ในปี 2558 ด้วยเช่นกัน ซึ่งรัฐบาลควรวางมาตรการในการส่งเสริมและสนับสนุนธุรกิจค้าปลีกอย่างเป็นรูปธรรม อาทิ เร่งผลักดันการค้าตามแนวชายแดนให้มีประสิทธิภาพ ด้วยการตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ นิคมอุตสาหกรรม เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้ประกอบการไทย และก่อให้เกิดเม็ดเงินสะพัดในบริเวณพื้นที่ แนวชายแดน หรือควรที่จะปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับค้าปลีกให้ชัดเจนตั้งแต่ต้นน้ำไปถึงปลายน้ำ ซึ่งอาจจะเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการค้าปลีกของไทย รวมถึงการถ่ายทอดความรู้ ที่เกี่ยวข้องกับ AEC ให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าใจอย่างถ่องแท้ เพื่อให้สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้โดยเฉพาะในอาเซียนด้วยกัน โดยเฉพาะสิงคโปร์ และมาเลเซีย ซึ่งถือเป็นคู่แข่งที่สำคัญ

บทสรุป 

การก้าวไปสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ในปี 2558 เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้ภาคธุรกิจค้าปลีกของไทยมีการตื่นตัวกันมากขึ้น เนื่องจากประชากรกว่า 600 ล้านคนในอาเซียน สามารถเคลื่อนย้ายหรือไปมาหาสู่กันได้อย่างเสรี ภาคการค้ามีแนวโน้มขยายตัวมากขึ้น รวมถึงรูปแบบในการบริโภคสินค้า/บริการของผู้บริโภคจะ สอดคล้องกับสังคมสมัยใหม่มากขึ้น อาทิ นิยมสินค้าที่มีคุณภาพ มีความทันสมัยและสนใจในการใช้เทคโนโลยี ซึ่งจะเป็นทั้งโอกาสและอุปสรรคสำหรับผู้ประกอบการค้าปลีกเอสเอ็มอีของไทย

โดยภายหลังจากการเปิด AEC คาดว่า แนวโน้มการแข่งขันในภาคธุรกิจค้าปลีกจะมีความรุนแรงและเข้มข้นมากขึ้น ซึ่งผู้ประกอบการเอสเอ็มอีรายใดที่มีความพร้อมและสามารถปรับตัวได้ก่อนทั้งในเชิงรุกและเชิงรับ ย่อมสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน ในขณะที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีรายใดที่ไม่พร้อมที่จะปรับตัว ก็อาจจะทำให้เสียโอกาสให้กับคู่แข่งไป ดังนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่นับตั้งแต่วันนี้ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีของไทยจะต้องเร่งปรับตัว โดยอาจจะเริ่มจากการมองหาจุดแข็งและจุดอ่อนของตนเอง มาพัฒนาและปรับปรุงสินค้าและบริการให้ดีขึ้น ในขณะเดียวกันก็ควรที่จะมองหาโอกาสหรือช่องว่างในการขยายตลาดไปในอาเซียน อาทิ การเข้าร่วมงานแสดงสินค้าและบริการของทางภาครัฐ น่าจะเป็นโอกาสที่ทำให้สามารถเรียนรู้คู่ค้าและคู่แข่งได้อย่างแท้จริง ในขณะเดียวกันภาครัฐเองก็ควรที่จะเข้ามามีส่วนช่วยในการผลักดันให้ธุรกิจค้าปลีกสามารถขับเคลื่อนไปได้ โดยภาครัฐจะต้องวาง มาตรการในการส่งเสริมและสนับสนุนธุรกิจค้าปลีกอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้ธุรกิจค้าปลีกไทยสามารถแข่งขันกับต่างประเทศภายหลังการเกิดขึ้นของ AEC ได้อย่างมีศักยภาพ

แหล่งที่มา
สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) http://www.sme.go.th
http://thailaosbiz.com/index.php?option=com_frontpage&Itemid=1

แนวโน้มเศรษฐกิจปี 2555…ขยายตัวในกรอบร้อยละ 4.5-6.0

กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากอุทกภัยในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2554 นั้น ได้ฉุดรั้งให้ภาพรวมของเศรษฐกิจไทยในปี 2554 ขยายตัวเพียงร้อยละ 0.1 ชะลอลงจากที่เติบโตสูงถึงร้อยละ 7.8 ในปี 2553 อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า การฟื้นตัวจากกิจกรรมฟื้นฟูความเสียหายจากน้ำท่วมทั้งในส่วนที่มาจากภาคเอกชนและภาครัฐ การทยอยฟื้นกำลังการผลิตในภาคอุตสาหกรรม ตลอดจนมาตรการสนับสนุนการเติบโตของรัฐบาล น่าจะช่วยให้เศรษฐกิจไทยกลับมาขยายตัวดีขึ้นได้ประมาณร้อยละ 5.0 ในปี 2555 นี้ แต่ก็คงต้องยอมรับว่า สถานการณ์ข้างหน้ายังมีโอกาสพลิกผันได้จากหลายจุดเสี่ยงที่รออยู่ตลอดเส้นทางการฟื้นตัวในช่วงเวลาที่เหลือของปี… 

สรุปภาพรวมเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4/2554…ภาคอุตสาหกรรมและการส่งออกได้รับผลกระทบรุนแรงจากน้ำท่วม

• จีดีพีด้านการผลิตหดตัวลงตามการหยุดชะงักของการผลิตในภาคอุตสาหกรรม
 โดย ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวลงถึงร้อยละ 21.8 (YoY) เนื่องจากวิกฤตน้ำ ท่วมได้สร้างความเสียหายต่อแหล่งผลิตภาคอุตสาหกรรมที่สำคัญของประเทศ (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อุตสาหกรรมยานยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์) ซึ่งได้มีผลกระทบทางอ้อมผ่านห่วงโซ่อุปทานไปทำให้การผลิตในพื้นที่อื่นๆ หยุดชะงักลง ส่วนผลผลิตในภาคเกษตรนั้น ขยายตัวร้อยละ 0.7 (YoY) โดยผลผลิตยางพาราและปาล์มน้ำมันที่ขยายตัวดี ช่วยชดเชยความเสียหายของผลผลิตข้าวที่เกิดขึ้นในช่วงอุทกภัย

• จีดีพีด้านการใช้จ่ายหดตัวลงพร้อมกันในทุกด้าน โดย ภาวะน้ำท่วมทำลายบรรยากาศการจับจ่ายใช้สอยในภาคครัวเรือน ชะลอการตัดสินใจลงทุน และเพิ่มแรง กดดันต่อภาคการส่งออกซึ่งเป็นผลเชื่อมโยงมาจากผลผลิตอุตสาหกรรมที่หดตัวลง ส่วนการใช้จ่ายของภาครัฐนั้น ทำได้ค่อนข้างจำกัด เนื่องจากเป็นช่วงสุญญากาศที่ยังไม่มีการประกาศใช้พ .ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2555

ผลกระทบน้ำท่วมใหญ่ปลายปี 2554…ตามด้วยการพลิกฟื้นกลับมาในช่วงต้นปี 2555


สัญญาณการปรับตัวดีขึ้นของภาวะการผลิตในภาคอุตสาหกรรม และกิจกรรมการใช้จ่ายในภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจหลังภาวะน้ำท่วมคลี่คลายลง ช่วยทำให้ภาพการกลับเข้าสู่เส้นทางการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยเริ่มมีความชัดเจนมากขึ้นในช่วงต้นปี 2555 จากที่ทรุดตัวลงรุนแรงถึงร้อยละ 9.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน (YoY) ใน ช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2554

ในช่วงไตรมาสที่ 1/2555 นั้น ถือได้ว่าเป็นช่วงเวลาของการซ่อมแซม-เสริมสร้าง สิ่งปลูกสร้าง ตลอดจนซื้อทดแทนเครื่องมือ/เครื่องจักร และเครื่องใช้ภายในบ้านเรือน ที่สูญเสียไปในช่วงน้ำท่วมของทั้งภาคธุรกิจและภาคครัวเรือน ดังนั้น คาดว่า บรรยายกาศการจับจ่ายใช้สอยที่มีทิศทางดีขึ้นหลังผลกระทบน้ำท่วมผ่านพ้นไป น่าที่จะช่วยหนุนให้ รายจ่ายของภาคเอกชนเพิ่มสูงขึ้น และกลายมาเป็นกลไกที่สำคัญที่จะช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจไทยเริ่มกลับมาขยายตัวได้อีกครั้งตั้งแต่ในช่วงไตรมาสที่ 1/2555 เป็นต้นไป

นอกจากนี้ การผลิตในภาคอุตสาหกรรมบางส่วนของไทยที่ทยอยฟื้นตัวขึ้น (แม้ว่าโรงงานบางส่วนที่ถูกน้ำท่วมเสียหายรุนแรง อาจจะยังไม่สามารถกลับไปสู่ระดับเดิมที่เป็นปกติก่อนเกิดเหตุการณ์น้ำท่วม) ก็ถือเป็นสัญญาณที่ดีในอีกด้านหนึ่งของเศรษฐกิจไทยด้วยเช่นกัน โดยข้อมูลของอุตสาหกรรมรถยนต์ ซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบหนักจากปัญหาอุทกภัย สะท้อนภาพด้านบวกมากขึ้นในช่วงต้นปี 2555 เนื่องจากการเร่งเพิ่มกำลังการผลิตของค่ายรถยนต์ต่างๆ ได้ส่งผลทำให้ยอดการผลิตรถยนต์เพิ่มขึ้นเข้าใกล้ ระดับที่ปกติมากขึ้น ขณะที่ กิจกรรมในภาคการบริการที่สะท้อนผ่านจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติก็มีทิศทางดีขึ้นเช่นกัน อย่างไรก็ดี คงต้องยอมรับว่า เหตุการณ์ระเบิดที่เกิดขึ้นในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา อาจส่งผลกระทบต่อบรรยากาศการท่องเที่ยว ซึ่งทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งหาข้อเท็จจริง และชี้แจงทำความเข้าใจกับนานาประเทศโดยเร็ว

ดังนั้น จากทิศทางกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่กลับมาเร่งระดับขึ้นทำให้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 1/2555 น่าจะพลิกกลับมา ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 12.5-13.5 (QoQ, s.a.) เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 4/2554 ที่หดตัวลงอย่างรุนแรงจากผลของภับพิบัติน้ำท่วม อย่างไรก็ดี ผลของฐานเปรียบเทียบที่สูงในช่วงไตรมาสที่ 1/2554 อาจทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสที่ 1/2555 จะยังมีระดับที่ต่ำประมาณร้อยละ 1.0-1.5 (YoY) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2555…ขยายตัวร้อยละ 4.5-6.0 แต่มีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องระวัง


ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า เศรษฐกิจไทยในช่วงเวลาส่วนใหญ่ของปี 2555 น่าจะได้รับแรงหนุนสำคัญจากแรงขับเคลื่อนของกิจกรรมการใช้จ่ายภายในประเทศ การลงทุน-การผลิตในภาคอุตสาหกรรม ที่น่าจะเร่งตัวกลับมาเพื่อชดเชยในช่วงน้ำท่วม ขณะที่ การเบิกจ่ายเม็ดเงินจากงบประมาณของรัฐบาล อาจเริ่มทยอยเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ตั้งแต่ในช่วงต้นไตรมาสที่ 2/2555 หลังจากที่พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2555 เริ่มมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2555 นอกจากนี้ คาดว่า การใช้จ่ายใน ส่วนที่เกี่ยวข้องกับแผนการลงทุนเพื่อการวางระบบบริหารจัดการน้ำที่บางส่วนสามารถเริ่มดำเนินการได้ตั้งแต่ปี 2555 นี้ ก็น่าจะเพิ่มแรงบวกให้กับภาคธุรกิจที่มีความเชื่อมโยงกับโครงการนั้นๆ อาทิ ธุรกิจก่อสร้าง-วัสดุก่อสร้าง เป็นต้น

นอกจากนี้ นโยบายเพิ่มรายได้ของรัฐบาล อาทิ โครงการรับจำนำสินค้าเกษตรที่สำคัญ การปรับเพิ่มเงินฐานเงินเดือนข้าราชการ และการยกระดับค่าจ้างขั้นต่ำแบบก้าวกระโดดในภาคเอกชน ก็น่าจะเป็นปัจจัยที่ช่วยหนุนกำลังซื้อของประชาชนในระยะข้างหน้า ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ว่าอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2555 น่าจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 5.0 โดยมีกรอบประมาณการอยู่ในช่วงร้อยละ 4.5-6.0 เทียบกับฐานมูลค่าเศรษฐกิจที่ขยายตัวในระดับต่ำที่ประมาณร้อยละ 0.1 ในปี 2554

อย่างไรก็ตาม คงต้องยอมรับว่า อัตราการขยายตัวในระดับสูงร้อยละ 5.0 ของเศรษฐกิจไทยในปี 2555 นี้ ตั้งอยู่ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงหลายด้านจาก 1) ความเปราะบางของแนวโน้มเศรษฐกิจโลก จากปัญหาเรื้อรังของวิกฤตหนี้ยูโรโซนและระดับการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน 2) ทิศทางราคาน้ำมันในตลาดโลกที่กลับมาพุ่งสูงขึ้นจากปัญหา ความตึงเครียดระหว่างอิหร่านกับชาติตะวันตก และ 3) ปัจจัยไม่แน่นอนภายในประเทศ โดยเฉพาะประเด็นทางการเมืองและปัญหาอุทกภัย ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะมีผลต่อบรรยายกาศการลงทุนในไทย

ประมาณการแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2555

ประมาณการโดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย ณ วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2555

สำหรับในด้านผู้ประกอบการแล้ว ทิศทางการขยายตัวของการใช้จ่ายภายในประเทศตามฐานรายได้ที่ขยับสูงขึ้น น่าจะสร้างโอกาสในการทำธุรกิจให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โดยเฉพาะกลุ่มที่เน้นตลาดในประเทศ อาทิ ธุรกิจค้าปลีก ขณะที่ ธุรกิจก่อสร้าง-วัสดุก่อสร้าง และการซ่อมแซม-ติดตั้งเครื่องจักรกล ก็น่าจะขยายตัวได้อย่างโดดเด่น ตามกระบวนการฟื้นฟูบูรณะประเทศและกอบกู้โรงงานอุตสาหกรรม ตลอดจนการเสริมสร้างความแข็งแกร่ง/ขยายการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพื่อพัฒนาระบบบริหารจัดการน้ำและป้องกันภัยพิบัติ นอกจากนี้ ยังมีธุรกิจบางประเภทได้รับอานิสงส์โดยตรงจากมาตรการกระตุ้นจากภาครัฐบาล อาทิ โครงการจำนำสินค้าเกษตร มาตรการคืนภาษีสำหรับรถยนต์คันแรก มาตรการลดหย่อนภาษีสำหรับที่อยู่อาศัยหลังแรก อย่างไรก็ดี ก็คงต้องยอมรับว่า ธุรกิจบางประเทศอาจเผชิญกับสถานการณ์ที่ยากลำบากในการทำธุรกิจในปีนี้

และในท้ายที่สุด นอกจากผู้ประกอบการจะเตรียมวางแผนรับมือกับภัยธรรมชาติที่อาจเกิดขึ้นโดยไม่คาดคิดแล้ว ในปี 2555 นี้ ควรที่จะให้ความสำคัญ กับการบริหารจัดการด้านต้นทุนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วยเช่นกัน เนื่องจากต้นทุนการผลิตหลายด้านมีแนวโน้มปรับสูงขึ้นชัดเจนกว่าในปี 2554 ที่ผ่านมา อาทิ การขยับสูงขึ้นราคา พลังงานตามการทยอยปรับโครงสร้างราคาของภาครัฐ (ทั้งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ) ค่าจ้างแรงงาน ค่าไฟฟ้า ตลอดจนต้นทุนการประกอบการด้านอื่นๆ เช่น ต้นทุนการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน และความผันผวนของต้นทุนสินค้าวัตถุดิบอื่นๆ โดยเฉพาะวัตถุดิบที่ทิศทางราคามีความผันผวนไปตามตลาดโลก