เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยเดือนมีนาคม 2555 ยังสะท้อนการฟื้นตัว…แต่เริ่มชะลอลง

ภาวะเศรษฐกิจไทยในเดือนมีนาคม 2555 ยังคงสะท้อนทิศทางการฟื้นตัวของภาคอุตสาหกรรมจากเหตุการณ์น้ำท่วมเมื่อปลายปีก่อน ขณะที่ภาคการใช้จ่ายในประเทศเริ่มมีภาพของการชะลอตัวลง แม้ว่าจะได้รับแรงสนับสนุนจากกิจกรรมการซ่อมแซม-ฟื้นฟูที่ยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐบาลก็ตาม ด้านการส่งออกกลับมาหดตัวอีกครั้งจากฐานที่สูงในปีก่อน ประกอบกับภาวะการแข่งขันด้านราคาในตลาดโลกที่รุนแรงยิ่งขึ้นในกลุ่มสินค้าเกษตรกรรม และสถานการณ์เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญ ที่กลับเข้าสู่ภาวะเสี่ยงทั้งสหรัฐฯ และยุโรป รวมทั้งจีน ที่เริ่มมีสัญญาณเศรษฐกิจชะลอตัว

            ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย
                 ยกเว้น ดัชนีการผลิตสินค้าเกษตรและดัชนีราคาสินค้าเกษตร ใช้ตัวเลขของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร และดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมและอัตราการใช้กำลังการผลิต ใช้ตัวเลขของสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม 

สรุปประเด็นเศรษฐกิจที่สำคัญในเดือนมีนาคม 2555 และอัตราเงินเฟ้อเดือนเมษายน 2555

ภาคเกษตรกรรมเดือนมีนาคม 2555 รายได้เกษตรยังคงหดตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อน ตามผลผลิตและราคาสินค้าเกษตรที่ยังหดตัว โดยเมื่อเทียบกับปี ก่อน ดัชนีผลผลิตการเกษตรเดือนมีนาคม หดตัวร้อยละ 0.3 (YoY) จากผลผลิตข้าวที่แม้จะมีปริมาณเพิ่มขึ้น แต่ก็ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าปีก่อน ขณะที่สินค้าเกษตรสำคัญอื่น เช่น ปาล์มน้ำมัน และยางพารา มีปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้น ด้านดัชนีราคาสินค้าเกษตรหดตัวร้อยละ 8.4 (YoY) ส่วนหนึ่งเป็นผลจากราคายางพาราที่ลดลงจากระดับที่สูงมากในปีก่อน เนื่องจากความต้องการยางพาราของจีนซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักยังคงชะลอลง

ภาคอุตสาหกรรมยังคงมีทิศทางการฟื้นตัวต่อเนื่องจากเดือนกุมภาพันธ์ ตามแรงสนับสนุนจากกิจกรรมการฟื้นฟู-ซ่อมแซมสายการผลิตของบาง อุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นเร็วกว่าที่คาด เห็นได้จากอัตราการใช้กำลังการผลิตเดือนมีนาคมที่เพิ่มมาอยู่ที่ร้อยละ 68.07 ซึ่งเป็นระดับที่สูงสุดนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2554 ที่เหตุการณ์น้ำท่วมเริ่มส่ง ผลต่อการผลิตภาคอุตสาหกรรม อัตราการใช้กำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นจนสูงกว่าช่วงก่อนเกิดอุทกภัยนี้ เป็นผลจากการเร่งกำลังการผลิตในภาคอุตสาหกรรมยานยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้าเป็นหลัก ขณะที่อุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ นั้น แม้จะมีความล่าช้าในการฟื้นตัว แต่ก็มีทิศทางการเพิ่มอัตราการใช้กำลังการผลิตอย่างต่อเนื่องเช่นกัน

การฟื้นตัวของอุตสาหกรรมสำคัญจากผลกระทบของน้ำท่วม ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนมีนาคมหดตัวเพียงร้อยละ 3.2 (YoY) ใกล้เคียงกับเดือนก่อน โดยหมวดอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก (อาทิ เครื่องใช้ไฟฟ้า หลอดอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้สำนักงาน สิ่งทอ และรองเท้า) หดตัวในอัตราที่น้อยลงมาที่ร้อยละ 13.5 (YoY) ดี ขึ้นจากที่หดตัวร้อยละ 18.3 (YoY) ในเดือนก่อน ขณะที่หมวดอุตสาหกรรมที่ผลิตเพื่อขายในประเทศ (ได้แก่ เครื่องดื่ม ปิโตรเลียม พลาสติก และผลิตภัณฑ์ยาง) ขยายตัวร้อยละ 7.2 (YoY)หมวดอุตสาหกรรมที่ผลิตเพื่อจำหน่ายทั้งในประเทศและส่งออก (เช่น เคมีภัณฑ์ ยานยนต์ และรถจักรยานยนต์) ขยายตัวร้อยละ 10.5 (YoY)

สำหรับภาพรวมในไตรมาส 1/2555 การผลิตภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม สะท้อนให้เห็นทิศทางการฟื้นตัวของบางอุตสาหกรรมจากผลกระทบน้ำท่วมในช่วงปลายปีก่อนที่เร็วกว่าที่คาดแม้จะยังไม่กลับสู่ภาวะปกติ ผ่านดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมที่หดตัวลงเพียงร้อยละ 7.1 (YoY) ดีขึ้นมากจากที่หดตัวถึงร้อยละ 34.2 (YoY) ในไตรมาส 4/2554 และอัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยที่เพิ่มมาอยู่ที่ร้อยละ 63.0 จากร้อยละ 46.3 ในไตรมาสก่อน ขณะที่ ดัชนีผลผลิตการเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.4 (YoY) ตามปริมาณผลผลิตที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม เริ่มกลับสู่ภาวะปกติ อย่างไรก็ดี ราคาพืชผลที่ยังคงหดตัวร้อยละ 12.2 (YoY) จากราคายางพาราและปาล์มน้ำมันที่สูงมากในปีก่อน ส่งผลให้รายได้เกษตรกร หดตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 2 ที่ร้อยละ 10.9 (YoY)

การบริโภคภาคเอกชนเดือนมีนาคม 2555 ยังขยายตัวเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน เป็นผลจากการฟื้นตัวของภาคการผลิต และกำลังซื้อเพื่อตอบสนองความต้องการคงค้าง (Pent-up Demand) ที่ยังมีอยู่ต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี เครื่องชี้ที่สำคัญหลายตัวมีอัตราการขยายตัวที่ชะลงจากเดือนก่อน ทั้งการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มและมูลค่าการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคที่ขยายตัวร้อยละ 11.3 (YoY) และร้อยละ 4.3 (YoY) ตามลำดับ ชะลอจากร้อยละ 19.3 (YoY) และร้อยละ 15.3 (YoY) ในเดือนกุมภาพันธ์ ตามลำดับ และ ปริมาณจำหน่ายยานยนต์ที่ขยายตัวร้อยละ 0.8 (YoY) ชะลอลงจากเดือนกุมภาพันธ์ที่ขยายตัวร้อยละ 7.8 (YoY) การชะลอตัวดังกล่าว ส่งผลให้ดัชนีการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวในอัตราชะลอลงมาที่ร้อยละ 3.7 (YoY) จากร้อยละ 6.6 (YoY) ในเดือนกุมภาพันธ์

      การลงทุนภาคเอกชนเดือนมีนาคม 2555 ก็มีทิศทางชะลอตัวเช่นเดียวกัน โดยแม้ว่าจะยังได้รับแรงบวกจากการเร่งลงทุนและฟื้นฟูกิจการที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม แต่ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ การนำเข้าสินค้าทุน และปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ ก็ขยายตัวชะลอลงมาที่ร้อยละ 2.1 (YoY) ร้อยละ 4.0 (YoY) และร้อยละ 20.3 (YoY) ตามลำดับ จากที่ขยายตัวร้อยละ 4.2 (YoY) ร้อยละ 41.6 (YoY) และร้อยละ 30.2 (YoY) ตามลำดับ และถ่วงให้ดัชนีการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 9.0 (YoY) ลดลงจากที่ขยายตัวร้อยละ 9.3 (YoY) ในเดือนกุมภาพันธ์

สำหรับความเชื่อมั่นภาคเอกชนยังคงปรับตัวดีขึ้นเช่นเดียวกับทิศทางการขยายตัวของภาคการใช้จ่ายในประเทศ ทั้งดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ความเชื่อมั่นทางธุรกิจและความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ที่ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 76.6 ระดับ 55.5 และระดับ 102.1 ในเดือนมีนาคม สะท้อนให้เห็นบรรยากาศการลงทุนและการจับจ่ายใช้สอย ที่ปรับตัวดีขึ้นจากเหตุการณ์น้ำท่วมเป็นลำดับ สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนเมษายน 2555 ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 สู่ระดับสูงสุดในรอบ 7 เดือนที่ 77.6 อย่างไรก็ดี ค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น ได้เริ่มสร้างความกังวลใจให้แก่ผู้บริโภค สะท้อนให้เห็นจากระดับการปรับเพิ่มดัชนีคาดการณ์ความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ชะลอตัวลง ส่วนภาคธุรกิจนั้น ความกังวลด้านต้นทุน ที่เพิ่มขึ้นและภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่ยังมีความเปราะบาง ได้สะท้อนผ่านดัชนีคาดการณ์ต้นทุนการผลิต และดัชนีคาดการณ์ยอดสั่งซื้อจากต่างประเทศที่ลดระดับลงเช่นกัน

      สำหรับภาพรวมในไตรมาสแรกของปี 2555 ภาคการใช้จ่ายในประเทศได้รับแรงหนุนจากกิจกรรมเร่งฟื้นฟู-ซ่อมแซม และทดแทนส่วนที่เสียหายจากน้ำท่วมในช่วงปลายปี 2554 ของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ จนสามารถพลิกกลับมาขยายตัวได้เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 4.1 (YoY) เทียบกับไตรมาสก่อนที่ขยายตัวเพียงร้อยละ 1.2 (YoY) ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวสูงถึงร้อยละ 9.0 (YoY) จากที่หดตัวร้อยละ 3.7 (YoY) ในไตรมาสก่อน

ด้านการค้าระหว่างประเทศ การส่งออกเดือนมีนาคม มีมูลค่า 19, 661 ล้านดอลลาร์ฯ ลดลงร้อยละ 6.8 (YoY) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน โดยเป็นผลจากฐานมูลค่าการส่งออกที่สูงมากในปีก่อน ประกอบกับการสูญเสียความสามารถในการแข่งขันด้านราคาของสินค้าส่งออกในหมวดเกษตร และหมวดอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานในการ ผลิตอย่างเข้มข้น (เช่น สิ่งทอ และเครื่องนุ่งห่ม) ที่มีมูลค่าส่งออกหดตัวลงอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี สินค้าที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม เช่น ยานยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์ สามารถฟื้นกลับมา ส่งออกได้มากขึ้น สำหรับการนำเข้าในเดือนมีนาคม มีมูลค่า 21,062 ล้านดอลลาร์ฯ ขยายตัวถึงร้อยละ 21.5 (YoY) โดยมีสาเหตุหลักมาจากการเร่งนำเข้าน้ำมันดิบเพื่อเพิ่มการสำรองน้ำมันดิบของประเทศ และโรงกลั่นบางแห่งต้องการเร่งการผลิตก่อนจะปิดซ่อมบำรุงในเดือนพฤษภาคม


การนำเข้าที่เพิ่มขึ้นสูงสุดเป็นประวัติกาณ์นี้ ทำให้ไทยบันทึกดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล 1, 401 ล้านดอลลาร์ฯ และ 1,522 ล้านดอลลาร์ฯ ตามลำดับ จากที่เกินดุล 2,052 ล้านดอลลาร์ฯ และ 1,092 ล้านดอลลาร์ฯ ในเดือนก่อน ตามลำดับ

หากพิจารณาไตรมาสที่ 1/2555 พบว่า ไทยบันทึกดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล1,173 ล้านดอลลาร์ฯ และ 551 ล้านดอลลาร์ฯ ตามลำดับ จากภาคการส่งออกที่มีมูลค่า 53,803 ล้านดอลลาร์ฯ หดตัวร้อยละ 4.0 (YoY) เป็นผลจากการหดตัวของสินค้าเกษตรกรรมที่ต้องเผชิญกับภาวะการแข่งขันด้านราคาที่มีความรุนแรงมากขึ้น ในตลาดโลก ส่วนสินค้าอุตสาหกรรมนั้น แม้ยังอยู่ในภาวะหดตัว แต่ก็มีสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจนขึ้น ตามการฟื้นตัวของภาคอุตสาหกรรมในประเทศ โดยเฉพาะในสินค้ากลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ได้แก่ ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องจักรและอุปกรณ์ ขณะที่สินค้าเกษตรยังคงหดตัวจากภาวะการแข่งขันด้านราคาที่มีความรุนแรงมากขึ้นในตลาดโลก ขณะที่การนำเข้า มีมูลค่า 52,630 ล้านดอลลาร์ฯ ขยายตัวร้อยละ 9.6 (YoY) ตามการนำเข้าน้ำมันดิบ สินค้าอุปโภคบริโภค และสินค้าทุนที่เร่งตัวขึ้น ตามการบริโภคและการลงทุนในประเทศ

อัตราเงินเฟ้อเดือนเมษายน 2555 ชะลอลงมากกว่าที่คาด จากฐานที่สูงในปีก่อนหน้าที่ราคาสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่มเพิ่มสูงขึ้นมากจากภาวะภัยแล้ง ประกอบกับมีการปรับขึ้นราคาน้ำมันปาล์ม นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อเดือนเมษายน 2555 ที่ชะลอลง ยังเป็นผลมาจากราคาอาหารสด เช่น เนื้อหมู-ไก่ สัตว์น้ำ และไข่ไก่ ที่กลับเข้าสู่ภาวะปกติ หลังจากเร่งตัวขึ้นมากในช่วงวิกฤติอุทกภัย ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปชะลอลงมาอยู่ที่ร้อยละ 2.47 (YoY) จากร้อยละ 3.45 (YoY) ในเดือนมีนาคม โดยสินค้าหมวดอาหาร และเครื่องดื่ม เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.51 (YoY) ชะลอลงจากร้อยละ 7.07 (YoY) ในเดือนก่อน ขณะที่สินค้าที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.18 (YoY) และเมื่อหักสินค้าในกลุ่มอาหารสดและพลังงานออกแล้ว อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.13 (YoY) ชะลอจากร้อยละ 2.77 (YoY) ในเดือนมีนาคม

  


ค่าเงินบาทในประเทศ (Onshore) ณ สิ้นเดือนเมษายน 2555 ปิดตลาดที่ระดับ 30.74 บาทต่อดอลลาร์ฯ แข็งค่าขึ้นจาก 30.84 บาทต่อดอลลาร์ฯ ณ สิ้น เดือนมีนาคม 2555 หลังจากที่สหรัฐฯ ประกาศตัวเลข GDP ไตรมาส 1/2555 ต่ำกว่าที่คาด ทำให้เงินดอลลาร์ฯ อ่อนค่าลงในวันทำการสุดท้าย หลังจากเคลื่อนไหวอย่างผันผวนตลอดทั้งเดือน เมษายน ตามปัจจัยที่ตลาดให้ความสำคัญ คือ กระแสการคาดการณ์ต่อโอกาสการเกิดมาตรการผ่อนคลายรอบใหม่ของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) และวิกฤติหนี้สาธารณะในยูโรโซน

โดยสรุป ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยเดือนมีนาคม 2555 ยังคงอยู่ในทิศทางการฟื้นตัวจากเหตุการณ์น้ำท่วมเมื่อปลายปีก่อน สะท้อนผ่านการเร่งกำลังการผลิตของอุตสาหกรรมที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม และดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมที่หดตัวในอัตราที่ลดลงตามลำดับ อย่างไรก็ดี ภาคการผลิตที่ปรับตัวดีขึ้น ยังไม่เพียงพอต่อการรักษาอัตราการขยายตัวของภาคการส่งออกซึ่งได้รับความกดดันทั้งด้านราคาและภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า รวมทั้งฐานมูลค่าการส่งออกที่สูงมากในปีก่อน ทำให้ภาคการส่งออกพลิกกลับมาหดตัวอีกครั้ง ขณะที่ภาคการใช้จ่ายในประเทศเริ่มมีสัญญาณของการชะลอตัว จากความกังวลด้านค่าครองชีพและต้นทุนการผลิตที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

จากภาวะที่ภาคการผลิตและการส่งออกของไทยยังไม่กลับสู่ภาวะปกติ เมื่อผนวกกับภาพความอ่อนแรงของภาคการใช้จ่ายในประเทศในช่วงเดือน มีนาคม อาจส่งผลให้อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจในไตรมาสแรกของปี 2555 ลดต่ำลงกว่าที่ประเมินไว้ ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงทำการปรับลดตัวเลขคาดการณ์อัตราการขยายตัว เศรษฐกิจไทยไตรมาส 1/2555 ลงมาที่ร้อยละ 0.3 (YoY) น้อยกว่าประมาณการเดิมที่ร้อยละ 1.0 (YoY) อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังคงมุมมองเดิมว่า ภาคการผลิต ภาคการส่งออก รวมทั้งเครื่องชี้เศรษฐกิจในภาคส่วนอื่นๆ น่าจะสามารถกลับมาขยายตัวได้อย่างพร้อมเพรียงกันในไตรมาส 2/2555 แต่ยังต้องติดตามปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่จะมีผลต่อการรักษาอัตราการขยายตัว ของเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2555 อย่างใกล้ชิด ทั้งภาวะค่าครองชีพและต้นทุนการผลิตที่มีผลกระทบต่อสถานการณ์เงินเฟ้อ ภัยธรรมชาติ และทิศทางเศรษฐกิจโลก สำหรับภาพรวมปี 2555 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังคงตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจไทยที่ร้อยละ 4.5-6.0 ไว้เช่นเดิม

เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยเดือนกุมภาพันธ์ 2555 ขยายตัวต่อเนื่องทุกกิจกรรม

     ภาวะเศรษฐกิจไทยในเดือนกุมภาพันธ์ 2555 สะท้อนภาพการเร่งตัวของกิจกรรมเศรษฐกิจที่ชัดเจนขึ้นจากเดือนก่อน ตามภาคอุตสาหกรรมที่ฟื้นตัว เข้าใกล้ระดับก่อนน้ำท่วมได้เร็วกว่าที่คาด และความเชื่อมั่นภาคเอกชนที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลให้การใช้จ่ายในประเทศเติบโตได้ในอัตราสูง ขณะที่การส่งออกพลิกกลับมาขยายตัวตามผลผลิตที่เพิ่มขึ้น และสถานการณ์เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่เริ่มมีเสถียรภาพและยังไม่มีปัจจัยลบที่มีนัยสำคัญมากระทบในระยะนี้


ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย
ยกเว้น ดัชนีการผลิตสินค้าเกษตรและดัชนีราคาสินค้าเกษตร ใช้ตัวเลขของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร และดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมและอัตราการใช้กำลังการผลิต ใช้ตัวเลขของสำนัก งานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม 

สรุปประเด็นเศรษฐกิจที่สำคัญในเดือนกุมภาพันธ์ 2555 และอัตราเงินเฟ้อเดือนมีนาคม 2555 
ภาคเกษตรกรรมเดือนกุมภาพันธ์ 2555 มีสัญญาณการปรับตัวดีขึ้นของผลผลิตสินค้าเกษตรที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5 (YoY) เมื่อเทียบกับปีก่อน และ ร้อยละ 1.2 (MoM) เมื่อเทียบกับเดือนก่อน ตามผลผลิตของยางพารา อ้อย มันสำปะหลัง ที่ปรับตัวดีขึ้น และปาล์มน้ำมันที่เข้าสู่ฤดูเก็บเกี่ยว ขณะที่ราคาสินค้าเกษตรลดลงร้อยละ 16.1 (YoY) และร้อยละ 1.3 (MoM) ดีขึ้นจากเดือนมกราคมที่ลดลงร้อยละ 5.2 (MoM) เนื่องจากราคายางพาราและปาล์มน้ำมันเริ่มปรับตัวสูงขึ้นจากเดือนก่อน หลังจากที่อุตสาหกรรมยานยนต์ ฟื้นตัว และความต้องการน้ำมันในประเทศเพิ่มขึ้นสูงขึ้น เช่นเดียวกับราคาข้าวที่ได้รับประโยชน์จากโครงการรับจำนำของรัฐบาล

ภาคอุตสาหกรรมเร่งตัวขึ้นเข้าใกล้ระดับก่อนอุทกภัยได้เร็วกว่าที่คาด สะท้อนจากอัตราการใช้กำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 62.27 ในเดือนกุมภาพันธ์ จากร้อยละ 58.46 ในเดือนก่อน นำโดย การฟื้นฟู-ซ่อมแซมสายการผลิตของอุตสาหกรรมยานยนต์ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมจนกลับมาดำเนินกิจกรรมได้เกือบเป็นปกติ ขณะที่ การเร่งเพิ่มกำลังการผลิตของอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า ฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ แม้ว่าจะทำได้ล่าช้ากว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ แต่ก็นับว่ามีความคืบหน้าไปมาก จากหลายเดือนก่อนเช่นกัน ทั้งนี้ กำลังการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้นส่งผลให้ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในเดือนกุมภาพันธ์ หดตัวในอัตราที่ลดลงเหลือเพียงร้อยละ 3.4 (YoY) เมื่อเทียบกับปีก่อน ดีขึ้นจากที่หดตัวร้อยละ 15.0 (YoY) ในเดือนก่อน โดยหมวดอุตสาหกรรมที่ผลิตเพื่อขายในประเทศ (ได้แก่ เครื่องดื่ม ปิโตรเลียม พลาสติก และผลิตภัณฑ์ยาง) ขยายตัวร้อยละ 19.6 (YoY) หมวดอุตสาหกรรมที่ผลิตเพื่อจำหน่ายทั้งในประเทศและส่งออก (เช่น เคมีภัณฑ์ ยานยนต์ และรถจักรยานยนต์) ขยายตัวร้อยละ 8.5 (YoY) ขณะที่ หมวดอุตสาหกรรมที่ผลิตเพื่อส่งออก (อาทิ เครื่องใช้ไฟฟ้า หลอดอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้สำนักงาน สิ่งทอ และรองเท้า) หดตัวในอัตราที่น้อยลงมาที่ร้อยละ 18.6 (YoY) เทียบกับเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ 29.3 (YoY)

การบริโภคภาคเอกชนได้รับแรงหนุนจากการฟื้นตัวของกำลังซื้อในช่วงหลังน้ำลด ส่งผลให้ภาพรวมการบริโภคยังขยายตัวได้ดีในกลุ่มสินค้าอุปโภค บริโภค เห็นได้จากมูลค่านำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคและการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มที่ขยายตัวร้อยละ 15.3 (YoY) และร้อยละ 19.3 (YoY) ตามลำดับ ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับการบริโภคสินค้าคงทน ทั้งรถยนต์นั่งและรถจักรยานยนต์ ที่ขยายตัวร้อยละ 2.7 (YoY) และร้อยละ 6.8 (YoY) ตามลำดับ หลังจากที่ภาวะการผลิตของอุตสาหกรรมยานยนต์ฟื้นตัว และปัญหาขาดแคลนชิ้นส่วนคลี่คลายลงไปมาก ทั้งนี้ ดัชนีการบริโภคภาคเอกชนเดือนกุมภาพันธ์ ขยายตัวร้อยละ 6.6 (YoY) ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวที่สูงกว่าในช่วงก่อนเกิดอุทกภัย

การลงทุนภาคเอกชนก็มีแนวโน้มการฟื้นตัวต่อเนื่องเช่นกัน เห็นได้จากดัชนีการลงทุนภาคเอกชนเดือนกุมภาพันธ์ที่ขยายตัวร้อยละ 8.8 (YoY) เร่งตัว ขึ้นมากจากเดือนก่อนที่ขยายตัวเพียงร้อยละ 0.6 (YoY) ตามการเร่งลงทุน และกิจกรรมซ่อมแซม-ฟื้นฟูสายการผลิต-การค้า หลังน้ำลด ทำให้มูลค่าการนำเข้าสินค้าทุน มูลค่าการจำหน่าย เครื่องจักรในประเทศ และยอดจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ ขยายตัวร้อยละ 40.7 (YoY) ร้อยละ 8.6 (YoY) และร้อยละ 30.2 (YoY) ตามลำดับ ด้านการลงทุนโครงการก่อสร้างใหม่ก็ยังมี อยู่ต่อเนื่อง เห็นได้จากยอดจำหน่ายปูนซีเมนต์ และมูลค่าโครงการขอรับส่งเสริมการลงทุน ที่ขยายตัวร้อยละ 2.0 (YoY) และร้อยละ 89.7 (YoY) ตามลำดับ

ความเชื่อมั่นภาคเอกชนมีทิศทางสอดคล้องกับการฟื้นตัวของภาคการใช้จ่ายในประเทศ โดยความเชื่อมั่นผู้บริโภค ความเชื่อมั่นทางธุรกิจและความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม พร้อมใจกันปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ75.5 ระดับ 100.9 และระดับ 52.7 ในเดือนกุมภาพันธ์ โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากภาพของการฟื้นตัวภาคอุตสาหกรรมหลังน้ำลดที่มีความชัดเจนขึ้นเป็นลำดับ ทำให้เกิดการเร่งตัวของการบริโภคและการลงทุนเพื่อตอบสนองความต้องการเดิมที่มีอยู่ และเพื่อซ่อมแซม-ฟื้นฟูส่วนที่เสียหาย อย่างไรก็ดี ผู้บริโภคและ ผู้ประกอบการ ยังคงมีความกังวลใจในประเด็นค่าครองชีพที่คาดว่าจะทรงตัวในระดับสูง ความไม่แน่นอนของสถานการณ์การเมืองไทย และภาวะเศรษฐกิจโลก ซึ่งสะท้อนผ่านการปรับตัว ลดลงของดัชนีคาดการณ์ทั้ง 3 ตัว สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนมีนาคม 2555 ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 สู่ระดับ 76.6 สูงสุดในรอบ 6 เดือน

ด้านการค้าระหว่างประเทศ การส่งออกเดือนกุมภาพันธ์ มีมูลค่า 18,621 ล้านดอลลาร์ฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.2 (YoY) เมื่อเทียบกับปีก่อน ดีขึ้นจากที่หดตัวร้อยละ 6.1 (YoY) ในเดือนมกราคม โดยเป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมที่กลับมาขยายตัวร้อยละ 4.7 (YoY) ดีขึ้นจากที่หดตัวร้อยละ 8.8 (YoY) ในเดือนมกราคม โดยเฉพาะการส่งออกในหมวดผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมที่ได้รับอานิสงส์จากการปรับตัวขึ้นของราคาในตลาดโลก และการส่งออกยานยนต์ที่เพิ่มขึ้นตามการผลิตในประเทศที่ฟื้นตัวจากอุทกภัย ส่วนสินค้าเกษตรกรรมยังคงหดตัวร้อยละ 15.1 (YoY) สำหรับการนำเข้าในเดือนกุมภาพันธ์ มีมูลค่า 16,569 ล้านดอลลาร์ฯ ขยายตัวร้อยละ 8.2 (YoY) จากการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค และสินค้าทุน ที่ขยายตัวถึงร้อยละ 25.5 (YoY) และร้อยละ 21.9 (YoY) ตามลำดับ ตามการเติบโตของการใช้จ่ายในประเทศ
ทั้งนี้ มูลค่าการส่งออกที่เพิ่มขึ้นนี้ ทำให้ไทยสามารถบันทึกดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลถึง 2,052 ล้านดอลลาร์ฯ และ 1,092 ล้าน ดอลลาร์ฯ ตามลำดับ ดีขึ้นจากเดือนก่อนที่เกินดุล 522 ล้านดอลลาร์ฯ และ 981 ล้านดอลลาร์ฯ ตามลำดับ

อัตราเงินเฟ้อเดือนมีนาคม 2555 เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 โดยเร่งตัวขึ้น หลังราคาสินค้าปรับตัวเพิ่มขึ้นตามต้นทุนการผลิต-ขนส่ง ที่มีแรงหนุน จากราคาเชื้อเพลิงในประเทศ ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.45 (YoY) เมื่อเทียบกับปีก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.59 (MoM) เมื่อเทียบกับเดือนก่อน นำโดย หมวดอาหารและ เครื่องดื่ม เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.66 (MoM) และหมวดที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.55 (MoM) และเมื่อหักสินค้าในกลุ่มอาหารสดและพลังงานซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.24 (MoM) ออก แล้ว อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.77 (YoY) และ 0.33 (MoM) ตามลำดับ

ค่าเงินบาทในประเทศ (Onshore) ปิดตลาด ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2555 ที่ระดับ 30.84 บาทต่อดอลลาร์ฯ อ่อนค่าลงจาก 30.26 บาทต่อดอลลาร์ฯ ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2555 จากแรงซื้อดอลลาร์ฯของกลุ่มผู้นำเข้า และความกังวลต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ หลังจากมีการเปิดเผยตัวเลขดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและตัวเลขอุตสาหกรรมที่ต่ำกว่าที่คาด ทำให้นักลงทุนลดสัดส่วนการถือครองสินทรัพย์เสี่ยง และเทขายสกุลเงินในภูมิภาคเอเชียในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือน ส่งผลให้ค่าเงินบาท ณ สิ้นเดือนมีนาคม อ่อนค่าลงจากระดับปิด ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ร้อยละ 1.9


ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยเดือนกุมภาพันธ์ สะท้อนภาพการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจชัดเจนขึ้นกว่าเดือนมกราคม โดยนอกจากภาคการใช้จ่ายในประเทศที่ยังรักษาอัตราการขยายตัวได้ดีแล้ว เศรษฐกิจไทยยังได้รับแรงหนุนจากภาคอุตสาหกรรมและภาคการส่งออกที่ฟื้นตัวเร็วกว่าที่คาด ปัจจัยบวกดังกล่าว น่าจะส่งผลให้เศรษฐกิจในไตรมาสที่ 1/2555 กลับมาขยายตัวได้ราวร้อยละ 1.0 (YoY) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และต่อเนื่องไปยังไตรมาสที่ 2/2555 สำหรับช่วงครึ่งหลังของปี 2555 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า เศรษฐกิจไทยต้องเผชิญความท้าทายในการรักษาอัตราการขยายตัว เนื่องจากมีปัจจัยเสี่ยงหลายประการที่อาจกดดันให้การเติบโตของเศรษฐกิจไม่เป็นไป ตามที่คาด อาทิ ภาวะต้นทุนการผลิต ค่าครองชีพ และแรงกดดันเงินเฟ้อในประเทศ ตลอดจนทิศทางเศรษฐกิจต่างประเทศที่ยังอาจสะท้อนภาพเชิงลบจากการชะลอตัวของจีน และวิกฤตหนี้ยุโรป เป็นต้น ด้วยเหตุนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงยังคงตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจไทยทั้งปี 2555 ที่กรอบร้อยละ 4.5-6.0 โดยต้องติดตามประเด็นค่าครองชีพและภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งอาจจะมีแรงกดดันที่สูงขึ้น และทำให้ภาพรวมของอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปี 2555 ทรงตัวอยู่ในระดับสูงร้อยละ 3.9