ปัญหาหนี้สาธารณะในยุโรปกับผลกระทบต่อ SMEs ไทย

สรุปพัฒนาการของวิกฤตหนี้สาธารณะในยุโรป
อาจสามารถกล่าวได้ว่า วิกฤตหนี้สาธารณะในยุโรปมีจุดเริ่มต้นขึ้นในช่วงประมาณต้นไตรมาสที่ 2/2553 (ดังนั้นวิกฤตก็กำลังย่างเข้าสู่ปีที่ 3 แล้ว) จากปัญหาภาคการคลังที่ย่ำแย่ในกรีซ ซึ่งภายหลังได้ลุกลามออกไปยังไอร์แลนด์ และโปรตุเกส พร้อมๆ กับฉุดรั้งประเทศสมาชิกยูโรโซนที่มีขนาดเศรษฐกิจค่อนข้างใหญ่ อาทิ อิตาลี สเปน และ ฝรั่งเศส เข้าสู่วังวนเป็นระยะๆ แม้ว่าในส่วนของสมาชิกแกนหลัก 3 รายหลังนี้ จะยังไม่ตกอยู่ในสถานะที่เปราะบางจนต้องขอรับความช่วยเหลือทางการเงินจาก สหภาพยุโรปและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (EU/IMF) แต่ก็ไม่สามารถหลีกพ้นกระแสการปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ ซึ่งเกิดขึ้นหลายระลอกต่อเนื่องจากสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือระหว่าง ประเทศ เช่น สแตนดาร์ด แอนด์ พัวส์ (Standard and Poor’s: S&P) ฟิทช์ เรทติ้งส์ (Fitch Ratings) และมูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส (Moody’s)

ขณะที่ วิกฤตหนี้ในยุโรปพัฒนาไปอยู่ในจุดที่เพิ่มความเสี่ยงต่อระบบการเงินของยูโร โซนมากขึ้นเรื่อยๆ นั้น ในอีกด้านหนึ่งความไม่เชื่อมั่นของตลาดการเงินและนักลงทุนที่ถดถอยลง ได้สร้างแรงกดดันกลับไปที่เจ้าหน้าที่ทางการและธนาคารกลางยุโรปให้เร่งหา มาตรการสกัดการลุกลาม และแก้ไข-เยียวยาวิกฤต โดยเครื่องมือในการจัดการวิกฤตที่ประเทศสมาชิกยูโรโซนผลักดันออกมานั้น มีทั้งในส่วนที่ดำเนินการผ่านการกองทุนรักษาเสถียรภาพการเงินยุโรป (European Financial Stability Facility: EFSF) ที่เข้าไปให้ความช่วยเหลือทางด้านการเงิน และปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำเพื่อเติมสภาพคล่องวงเงินเกินกว่า 1 ล้านล้านยูโรเข้าสู่ระบบสถาบันการเงิน รวมถึงการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลของประเทศที่มีปัญหาทางด้าน การคลัง (ประกอบด้วย พันธบัตรรัฐบาลกรีซ ไอร์แลนด์ โปรตุเกส สเปน และอิตาลี) ผ่านการดำเนินการของธนาคารกลางยุโรป

ทั้งนี้ สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและการเงินของยุโรปในปัจจุบัน แม้ว่าจะไม่ได้ไถลลงไปอย่างรุนแรงอีกครั้ง หลังจากที่กรีซสามารถปรับลดหนี้ลงบาง ส่วนผ่านกระบวนการปรับโครงสร้างหนี้กับเจ้าหนี้ภาคเอกชน ซึ่งเป็นขั้นตอนสำคัญที่เปิดทางให้กรีซได้รับความช่วยเหลือทางการเงินรอบสอง วงเงิน 1.30 แสนล้านยูโรจาก EU/IMF ขณะที่ ทางการยุโรปก็ได้เตรียมทรัพยากรทางการเงิน และปรับเปลี่ยนกฎระเบียบเพื่อดูแลวินัยทางการคลังของประเทศสมาชิกยูโรโซนใน ระยะข้างหน้า แต่ถึงกระนั้น ด้วยความที่วิกฤตหนี้ยุโรป เชื่อมโยงหลายภาคส่วนเข้าด้วยกัน ทั้งสถานะการคลังของรัฐบาล ภาคเศรษฐกิจ สถาบันการเงิน รวมไปถึงตลาดการเงินทั่วโลก ดังนั้น การยุติวิกฤตที่วนเป็นวังวนในภาคส่วนเหล่านี้ จึงไม่สามารถทำได้โดยง่าย และปัญหาหนี้สาธารณะก็ยังน่าจะเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่จะฉุดรั้งแนวโน้ม เศรษฐกิจของยูโรโซนให้อยู่ในระดับต่ำกว่าศักยภาพต่อเนื่องไปในช่วงหลายปี ข้างหน้า แม้ว่าสถานการณ์เลวร้ายที่สุดของวิกฤต อาทิ การแยกออกจากกัน และ/หรือการผิดนัดชำระหนี้ของประเทศสมาชิกยูโรโซน จะสามารถหลีกเลี่ยงได้ก็ตาม

  ปัญหาหนี้สาธารณะในยุโรปกับผลกระทบต่อ SMEs ไทย
วิกฤติเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวในปีที่ผ่านมาจากปัญหาหนี้สาธารณะในยุโรป ซึ่งกระทบต่อการบริโภคทั้งภาคครัวเรือนและภาคการผลิตในตลาดโลกนั้น ได้ส่งผลกระทบต่อเนื่องมายังการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยและประเทศในอาเซียนอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เนื่องจากส่วนใหญ่ยังพึ่งพาการส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศเป็นหลัก โดยไทยมีสัดส่วนมูลค่าการส่งออกต่อ GDP สูงถึงร้อยละ 71.3 ขณะที่สิงคโปร์พึ่งพาการส่งออกมากที่สุดร้อยละ 211.1 ส่วนมาเลเซีย เวียดนาม บรูไน กัมพูชา ฟิลิปปินส์ สปป.ลาว และอินโดนีเซีย มีสัดส่วนการพึ่งพาการส่งออกร้อยละ 97.2 ร้อยละ 77.4 ร้อยละ 67.7 ร้อยละ 59.6 ร้อยละ 36.4 ร้อยละ 35.7 และร้อยละ 24.61 ตามลำดับ

♦ จากวิกฤติในครั้งนี้ แต่ละประเทศประสบภาวะชะลอตัวทางเศรษฐกิจในระดับที่แตกต่างกันไป…มาตรการ รัดเข็มขัดทางการคลังของประเทศในยุโรปและประเทศอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องจากปัญหาวิกฤตหนี้สาธาณะในยุโรปนั้น ย่อมส่งผลต่อการทิศทางการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคในประเทศดังกล่าว รวมไปถึงการตัดสินใจทางธุรกิจที่รัดกุมหรือชะลอการขยายธุรกิจและการลงทุน ต่างๆ ในระยะนี้ตามมาได้ ซึ่งแน่นอนว่าประเทศผู้ส่งออกในอาเซียนที่เกี่ยวโยงกับประเทศในตลาดหลักดัง กล่าวย่อมได้รับผลกระทบตามไปด้วย อย่างไรก็ดี แต่ละประเทศจะได้รับผลกระทบจากปัญหาดังกล่าวแตกต่างกันไปทั้งในทางตรงและทาง อ้อม ตามสัดส่วนในการพึ่งพาภาคการส่งออก โดยเฉพาะสหภาพยุโรปและตลาดที่เป็นคู่ค้าหลักกับยุโรปและสหรัฐฯ เช่น จีน โดยประเทศที่ตลาดในประเทศมีขนาดใหญ่อย่างอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ผลกระทบจากภาวะอุปสงค์ในตลาดโลกชะลอตัวจะลดระดับความรุนแรงลงไป รวมทั้งมาเลเซีย ซึ่งส่งออกไปยังตลาดยุโรปในสัดส่วนไม่มากนักเพียงร้อยละ 10 เพราะเริ่มขยายการค้าในตลาดเกิดใหม่ ตลาดประเทศกำลังพัฒนา และตลาดเอเชียมากขึ้น ทำให้ผลกระทบจากวิกฤติในยุโรปต่อมาเลเซียจึงไม่กระทบต่อภาคเศรษฐกิจจริง รุนแรงมากนัก ในขณะที่ประเทศที่มีสหภาพยุโรปเป็นตลาดส่งออกหลักอย่างกลุ่ม CLMV มี แนวโน้มว่าภาคการส่งออกอาจชะลอตัวต่อไปอีกระยะหนึ่ง ทั้งนี้ สำหรับสิงคโปร์ แม้ว่าการส่งออกทั้งปีที่ผ่านมายังคงขยายตัวได้ในระดับร้อยละ 8 โดยการส่งออกสินค้าและบริการเติบโต ร้อยละ 7.5 และ4.8 ตามลำดับ แต่คงต้องเผชิญกับภาวะการส่งออกไปยังยุโรปที่ค่อนข้างผันผวนต่อไป โดยล่าสุดในเดือนมกราคม 2555 ที่ผ่านมา การส่งออกไปตลาดยุโรปซึ่งเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของสิงคโปร์ก็ลดลงร้อยละ 14.5 ซึ่งสวนทางกับภาวะการส่งออกไปยังยุโรปในเดือนธันวาคม 2554 ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 122

                         ที่มา: กระทรวงพาณิชย์ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาในภาพรวมของการค้าของประเทศในอาเซียนแล้ว จะพบว่าตลาดส่งออกหลักของอาเซียน ก็คือ ประเทศอาเซียนด้วยกันเอง มีสัดส่วนถึงร้อยละ 25.2 (ปี 2553) รองลงมาเป็นตลาดจีน สหภาพยุโรป สหรัฐฯ และญี่ปุ่น สัดส่วนร้อยละ 13.2, 11.2, 10.1 และ 9.7 ตามลำดับ ดังนั้น จึงเป็นไปได้ว่า นับจากนี้บทบาทการค้าระหว่างกันและกันของประเทศสมาชิกอาเซียนน่าจะยิ่งทวี บทบาทเพิ่มมากขึ้นท่ามกลางปัญหาวิกฤตหนี้ยุโรปที่ยังวุ่นวาย ขณะเดียวกันแต่ละประเทศในอาเซียนก็น่าจะหันมาส่งเสริมการขยายตัวของตลาดใน ประเทศ ควบคู่ไปกับการขยายตลาดส่งออกให้หลากหลายมากขึ้น โดยตลาดเกิดใหม่และตลาดอาเซียนด้วยกันจะเป็นตลาดที่ต้องให้ความสำคัญมากขึ้น ต่อไป ทั้งนี้ การส่งออกไปยังตลาดหลักอื่นๆ อาจชะลอตัวลงอีกระยะหนึ่ง โดยเฉพาะตลาดที่ยังเชื่อมโยงกับการนำเข้าสินค้าและบริการของยุโรปและสหรัฐฯ เป็นหลัก ในขณะที่การบริหารจัดการและ กำกับดูแลตลาดเงินและตลาดทุนของประเทศในอาเซียน จะดำเนินไปอย่างรัดกุมต่อไป เพื่อป้องกันผลกระทบจากวิกฤติที่อาจส่งผลให้เกิดการไหลเข้า-ออกของเงินทุน อย่างรวดเร็ว ซึ่งจะส่งผลให้ค่าเงิน ตลาดหุ้น และตลาดพันธบัตรเกิดการผันผวนได้ง่าย รวมทั้งอาจส่งผลต่อสภาพคล่อง (Liquidity) ทางการเงินของสถาบันการเงินในภูมิภาคได้ ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงต้องจับตาการเปลี่ยนแปลงที่จะตามมาอย่างใกล้ชิดต่อไป

ภาคการส่งออกของไทยโดยรวมยังขยายตัวได้ แต่ในอัตราที่ชะลอตัวลง… โดยในปี 2554 ที่ผ่านมา การส่งออกของไทยเพิ่มขึ้นจากปี 2553 ร้อยละ 17.2 มีมูลค่าการส่งออกทั้งสิ้น 228,825.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาการส่งออกในตลาดหลักเป็นรายประเทศและกลุ่มประเทศแล้ว พบว่ายังเป็นการขยายตัวในอัตราที่ ชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับปี 2553 และมีบางกลุ่มสินค้าที่หดตัวลง โดยการส่งออกไปยังตลาดหลัก 15 อันดับแรก พบว่าส่วนใหญ่ยังขยายตัวเพิ่มขึ้นในระดับเลขสองหลัก โดยที่ตลาดอาเซียน (9 ประเทศ) ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ที่สุดของไทยในสัดส่วนร้อยละ 23.7 ของการส่งออกทั้งหมด ยังคงขยายตัวมากที่สุดในอัตราร้อยละ 22.5 เมื่อเทียบกับตลาดหลักอื่นๆ อย่างญี่ปุ่น (ร้อยละ 17.9) สหรัฐฯ (ร้อยละ 8.2) และสหภาพยุโรป (ร้อยละ 10.7) โดยตลาดหลักในอาเซียน คือ มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์

♦ วิกฤติส่งผลกระทบต่อ SMEs ไทยในระดับที่ไม่สูงนัก เนื่องจากตลาดส่งออกหลักของ SMEs ไทยจะเป็นตลาดหลักอื่นๆ ที่ไม่ใช่ตลาดยุโรป… ตลาดส่งออกหลัก 5 อันดับแรกในช่วง 11 เดือนแรกปี 2554 คือ ญี่ปุ่น ฮ่องกง จีน สหรัฐฯ และ สวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งจะมีสวิตเซอร์แลนด์เพียงประเทศเดียวที่อยู่ในกลุ่มยุโรป ในขณะที่มูลค่า ส่งออกไปยังตลาดอาเซียนในปี 2554 (มกราคม-พฤศจิกายน) มีมากถึงร้อยละ 30.2 หรือประมาณ 1 ใน 3 ของการส่งออกทั้งหมดของ SMEs นอกจากนี้ทิศทางการส่งออกของ SMEs ในปีที่ผ่านมาก็ยังคงเติบโตได้ในแดนบวกต่อเนื่องจากปี 2553 หลังจากที่ชะลอตัวค่อนข้างมากในปี 2552 โดยมูลค่าการส่งออกรวมทั้งสิ้นในช่วง 11 เดือนแรกปี 2554 คิดเป็น 62,149.3 ล้าน ดอลลาร์สหรัฐฯ3 มากกว่ามูลค่าการส่งออกในช่วงเดียวกันของปี 2553 ซึ่งมีมูลค่า 50,571 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ4 และคิดเป็นอัตราการขยายตัวที่ระดับร้อยละ 22.9 ทั้งนี้ คาดว่า ในปี 2555 การส่งออกของ SMEs จะยังขยายตัวได้ในทิศทางบวก เนื่องจากตลาดอาเซียนยังขยายตัวได้และตลาดหลัก เช่น สหรัฐฯ ก็เริ่มมีสัญญาณบวกของการฟื้นตัวจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยให้เห็นบ้างแล้ว

                         ที่มา: สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย

สินค้าส่งออกหลักของไทยโดยรวมและสินค้าส่งออกหลักของ SMEs ไทย ปี 2554

สินค้าส่งออก 10 อันดับแรกของไทยโดยรวมปี 2554 สินค้าส่งออกหลักของ SMEs ปี2554
(มกราคม-พฤศจิกายน)
สัดส่วนการส่งออก
สินค้าหลักของ
SMEs ปี 2554
 1. เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ (-13.9%)  1. อัญมณีและเครื่องประดับ (9.72 % ) 13.24%
 2. รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ (-8.8%)  2. ยางและผลิตภัณฑ์ยาง (90.99 % ) 8.37%
 3. ยางพารา (59.3 %)  3. พลาสติกและผลิตภัณฑ์พลาสติก (NA.) 8.34%
 4. อัญมณีและเครื่องประดับ (1.2%)  4. ผลิตภัณฑ์สิ่งพิมพ์ต่างๆ (NA.) 4.53%
 5. น้ำมันสำเร็จรูป (25.2%)  5. น้ำตาลและขนมทำจากน้ำตาล (28.63% ) 4.41%
 6. เม็ดพลาสติก (32.4%)
 7. ผลิตภัณฑ์ยาง (24.4%)
 8. เคมีภัณฑ์ (37.0%)
 9. แผงวงจรไฟฟ้า (-6.7%)
 10. ข้าว (16.6%)

         ที่มา: สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และกระทรวงพาณิชย์ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย

จากตารางข้างต้นพบว่าสินค้าส่งออกหลักของ SMEs ไทยไม่ได้อยู่ในกลุ่มสินค้าที่ประสบกับภาวะการส่งออกลดลงไปยังตลาดโลกโดยรวมในปี 2554 ที่ผ่านมา แต่กลับเป็นกลุ่มที่ยังคงขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอัญมณีและเครื่องประดับ รวมทั้งยางและผลิตภัณฑ์ยางที่อัตราการเติบโตโดดเด่นกว่าการส่งออกโดยรวมของ ประเทศที่สำคัญ คือ การส่งออกของ SMEs ไทยในปีที่ผ่านมา ไม่ได้พึ่งพาการส่งออกสินค้าชนิดใดชนิดหนึ่งมากเป็นพิเศษ จะมีเพียงสินค้าประเภทอัญมณีและเครื่องประดับที่มีสัดส่วนการส่งออกมาก ที่สุดอยู่ที่ร้อยละ 13.245 ที่ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นผลของการปรับขึ้นของมูลค่าสินค้าตามทิศทางราคาวัตถุดิบ โดยสินค้าส่งออกหลักของผู้ประกอบการ SMEs นอกจากอัญมณีและ เครื่องประดับ ยังมีพลาสติกและของทำด้วยพลาสติก ยางและของทำด้วยยาง ซึ่งยังคงขยายตัวต่อเนื่อง และมีมูลค่ารวมกันแล้วสูงกว่า 18,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ นอกจากนี้ ข้อสังเกตที่น่าสนใจ คือ มูลค่าการส่งออกสินค้า 5 อันดับแรกของ SMEs ในปี 2554 ขยายตัวในทิศทางที่เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม แม้ว่ายุโรปจะไม่ใช่ตลาดหลักของไทยและดูเหมือนว่าเราจะไม่ได้รับผลกระทบใน ทางตรงต่อการส่งออกไปยังยุโรปในระดับรุนแรงมากนัก แต่สิ่งที่น่ากังวลสำหรับ SMEs ไทย คือ ผู้ประกอบการที่ผลิตสินค้าหรือผู้ประกอบการที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตสินค้า ที่มีมูลค่าการส่งออกลดลงอันเนื่องมาจากผลกระทบของอุปสงค์ที่ชะลอตัว ในยุโรปและสหรัฐฯ ที่เป็นเหตุให้ประเทศที่นำเข้าสินค้าวัตถุดิบ และสินค้าขั้นกลางจากไทยเพื่อไปผลิตเป็นสินค้าขั้นสุดท้าย และส่งออกต่อไปยังยุโรปและสหรัฐฯ ต้องลดการสั่งซื้อสินค้าจาก ไทยตามไปด้วย โดยกลุ่มสินค้าที่หดตัวอย่างชัดเจนในทุกตลาดหลัก อาทิ คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้า แผงวงจรไฟฟ้า รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบเครื่องนุ่งห่ม รวมทั้งสินค้าอาหารบางประเภท เป็นต้น

สำหรับธุรกิจบริการ โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ยังคงมีโอกาสขยายตัวได้ เนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวจากทั้งเอเชีย ยุโรป และสหรัฐฯ ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยจากสถิติของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พบว่าในปี 2554 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมายังประเทศไทยมีจำนวน 19,098,323 คน เพิ่มขึ้น 3,161,923 คน หรือประมาณร้อยละ 19.8 โดยนักท่องเที่ยว 10 อันดับแรก ได้แก่ มาเลเซีย จีน ญี่ปุ่น รัสเซีย เกาหลี อินเดีย สปป.ลาว ออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร และสหรัฐฯ

กล่าวคือ วิกฤติหนี้ยุโรปจะส่งผลกระทบต่อ SMEs บางกลุ่มซึ่งเป็นผู้ผลิตหรืออยู่ในห่วงโซ่การผลิตสินค้าบางประเภทที่เกี่ยว โยงกับอุปสงค์ของตลาด ยุโรปทั้งทางตรงและทางอ้อม ที่คาดว่าน่าจะยังต้องเผชิญกับความยากลำบากในการบริหารจัดการและการประคับ ประคองธุรกิจอีกระยะหนึ่ง ขณะเดียวกัน ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อ SMEs ไทยในช่วงที่ผ่านมาและยังจะส่งผลในระยะต่อไปในระดับที่น่าเป็นห่วงมากกกว่าวิกฤติหนี้สาธารณะในยุโรป คือ ปัจจัย ภายในประเทศเอง ทั้งภาวะเงินเฟ้อ ต้นทุนการประกอบการที่สูงขึ้น ซึ่งเป็นผลจากต้นทุนด้านพลังงาน ต้นทุนค่าแรงขั้นต่ำและเงินเดือนลูกจ้างระดับปริญญาตรีที่กำลังปรับตัวสูง ขึ้นเป็น 300 บาท และ 15,000 บาท ตามลำดับ ประกอบกับปัญหาอุทกภัยในช่วง ที่ผ่านมาที่ทำให้ผู้ประกอบการ SMEs ได้รับความเสียหายไม่ ต่ำกว่า 5 แสนราย และบางรายต้องปิดกิจการ หรือต้องลดต้นทุนด้วยการเลิกจ้างงาน จึงก่อให้เกิดความเสียหายทั้งทางตรงและทางอ้อมเฉลี่ยแล้วประมาณ 71,156.42 ล้านบาทต่อเดือน และส่งผลให้เศรษฐกิจของกลุ่ม SMEs ในไตรมาส 4/2554 หดตัวลงจากไตรมาส 3/2554 ร้อยละ 1.5 ขณะที่อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของ SMEs(GDP SMEs) ในปี 2554 อาจเหลือเพียงร้อยละ 1.8-2.06 จากเดิมที่เคยมีการคาดการณ์ว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.0-4.2 ดังนั้น เมื่อปัญหาจากวิกฤติในยุโรปยังไม่อาจวางใจได้ ผนวกกับปัญหาจากปัจจัยภายในประเทศที่ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น มีแนว โน้มว่า SMEs ภาคการผลิตและการส่งออกสินค้าจะยังเผชิญกับความไม่แน่นอนของผลประกอบการ บางกลุ่มต้องประสบกับภาวะผลประกอบการลดลง หรือบางรายอาจต้องเผชิญกับภาวะขาดทุน หากยังไม่สามารถปรับตัวให้ทันกับสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไป แต่อย่างไรก็ตาม คาดการณ์ว่าการส่งออกโดยรวมของ SMEs ไทยในปี 2555 ยังเติบโตในแดนบวก แม้อาจจะเป็นไปในอัตราที่ชะลอตัวลง เพราะตลาดส่งออกหลักอย่างตลาดเอเชียยังขยายตัวได้ โดยสินค้าที่ยังมีโอกาสขยายตัวได้ดี อาทิ ชิ้นส่วนยานยนต์ ชิ้นส่วนไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อาหารแปรรูปเพื่อสุขภาพ น้ำตาล ยาง และผลิตภัณฑ์ยาง เป็นต้น ในขณะที่สินค้าแฟชั่น (เช่น สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เครื่องหนัง อัญมณีและเครื่องประดับ) สินค้าประมง รวมทั้งเหล็กและของที่ทำด้วยเหล็กต้องระวังเป็นพิเศษ

สำหรับธุรกิจบริการ คาดว่าอาจจะได้รับผลกระทบไม่มากนัก เพราะธุรกิจบริการอย่างการท่องเที่ยวยังคงขยายตัวได้ ประกอบกับการบริโภคในประเทศ เริ่มปรับตัวไปในทิศทางบวกมากขึ้น โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนกุมภาพันธ์ 2555 ปรับตัวดีขึ้นอยู่ที่ระดับ 75.57 สูงสุดในรอบ 5 เดือน ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2554 เป็นต้นมา จึงมีแนวโน้มว่าการใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าและบริการต่างๆ ของภาคครัวเรือนจะกลับมาฟื้นตัวอย่างชัดเจนมากขึ้น เป็นผลให้ธุรกิจจัดจำหน่าย และธุรกิจบริการที่เกี่ยวเนื่องกับภาคครัวเรือนกลับมาขยายตัวได้มากขึ้นเช่น กัน

สรุปและข้อเสนอแนะ

แม้ว่าจะมีสัญญาณในทางบวกจากความพยายามแก้ปัญหาวิกฤติออกมาอย่างต่อ เนื่อง แต่ธนาคารโลกก็ได้ปรับลดการขยายตัวของเศรษฐกิจยุโรป เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมาจากร้อยละ 1.8 เหลือเพียงร้อยละ -0.3 ซึ่งเมื่อเทียบกับตลาดหลักอื่นๆ แล้วตลาดยุโรปเป็นเพียงแห่งเดียวที่จะยังอยู่ในภาวะเศรษฐกิจถดถอย อย่างไรก็ตาม นอกจากวิกฤติดังกล่าวแล้ว ปัจจัยภายในประเทศอย่างต้นทุนที่สูงขึ้น และภัยธรรมชาติที่ทำให้สายการผลิตต้องสะดุดลงในช่วงปีที่ผ่านมา เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ SMEs ไทยมีผลประกอบการลดลง และผู้ประกอบการจำนวนมากต้องประสบกับภาวะยากลำบาก ปัจจัยเหล่านี้จึงเป็นสิ่งที่ต้องได้รับการจัดการอย่างเหมาะสมและเร็วที่สุด เพื่อลดระดับความรุนแรงของผลกระทบที่ จะเกิดกับ SMEs ในอนาคต ทั้งนี้ เพื่อให้ SMEs สามารถแข่งขันและอยู่รอดได้ในระยะยาว ผู้ประกอบการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรตระหนักถึงประเด็นดังต่อไปนี้

• การเพิ่มความหลากหลายของตลาดส่งออกให้มากขึ้นมุ่งไปที่ตลาดที่ยังมีโอกาส ขยายตัว หรือตลาดที่ได้รับผลกระทบจากความผันผวนที่เกิดขึ้น ในสหภาพยุโรปอย่างต่อเนื่อง โดยตลาดที่น่าสนใจ อาทิ ตลาดอาเซียน จีน อินเดีย รัสเซีย โดยเฉพาะตลาดอินเดียที่นับวันจะทวีบทบาทเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ สำหรับสินค้าที่มีโอกาสในตลาดอินเดีย อาทิ เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์พลาสติก อัญมณีและเครื่องประดับ ชิ้นส่วนยานยนต์ ผลิตภัณฑ์อลูมิเนียม เฟอร์นิเจอร์และส่วนประกอบ เครื่องสำอาง ผักและพืชประเภทถั่ว อาหารปรุงแต่ง ปลาซาร์ดีนกระป๋อง และน้ำผลไม้ เป็นต้น

• การใช้สิทธิประโยชน์จากกรอบข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) และกรอบความร่วมมืออื่นๆ ที่มีอยู่ จะช่วยให้ผู้ประกอบการด้านการส่งออกลดต้นทุน ทางด้านภาษีลงได้เป็นอย่างมาก โดยปัจจุบันไทยได้บรรลุข้อตกลงการค้าเสรีกับหลายประเทศทั้ง จีน ญี่ปุ่น อินเดีย เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เปรู ชิลี ซึ่งปัจจุบัน พบว่าการใช้สิทธิประโยชน์ทางด้านภาษียังไม่มากนัก ไม่ว่าจะเป็นสิทธิประโยชน์ภายใต้ FTA หรือสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ไทยได้รับจากประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐฯ อย่างสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร เป็นการทั่วไป (GSP) ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากผู้ประกอบการยังขาดความรู้ความเข้าใจและไม่ได้ติดตามความ คืบหน้าของข้อตกลงต่างๆ อย่างทันเหตุการณ์

• ผู้ประกอบการที่เป็นผู้ผลิตหรืออยู่ในสายการผลิตสินค้าส่งออกที่ยังขยายตัว ได้ เช่น ยางพารา อัญมณีและเครื่องประดับ น้ำมันสำเร็จรูป เม็ด พลาสติก ผลิตภัณฑ์ยาง เคมีภัณฑ์ ข้าว และอาหารแปรรูป ควรเร่งเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต และบริหารจัดการต้นทุนในการผลิตให้เหมาะสม ตลอดจนการทำการตลาดสินค้าให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าผ่านช่องทางต่างๆให้มากขึ้น โดยอาจเลือกใช้ช่องทางการตลาดและการขายสินค้ารูปแบบใหม่ที่อาจมีต้นทุนในการ บริหารจัดการต่ำลง เช่น การซื้อ-ขายผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (E-commerce) ซึ่งกำลังขยายตัวในตลาดจีน เป็นต้น ทั้งนี้ ปัจจุบันสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ได้มีการสนับสนุนให้ธุรกิจไทยให้ความสำคัญกับการใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์มาก ขึ้น ภายใต้โครงการ “ธุรกิจไทย Go Online ฟื้นฟู ก้าวไกล ปีใหม่ สดใส”

• ผู้ประกอบการที่เป็นผู้ผลิตหรืออยู่ในสายการผลิตสินค้าที่ยังอยู่ในช่วงการ ส่งออกหดตัว อาจต้องหาช่องทางในการลดต้นทุนในการผลิต หรือใช้ โอกาสนี้ในการพัฒนาสินค้าประเภทใหม่ๆ ซึ่งอาจจะตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้มากขึ้นในอนาคต

• SMEs ควรติดตามสถานการณ์ในยุโรป และผลกระทบที่จะตามมาอย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินสถานการณ์และเตรียมพร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลงให้ได้ทันท่วงที

——————————————
1 สถิติปี 2553
2 ข้อมูลจาก International Enterprise (IE) Singapore
3 อัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยในปี 2554 อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ = 30.49 บาท
4 อัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยในปี 2553 อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย 1ดอลลาร์สหรัฐฯ = 31.73 บาท
5 สินค้าที่พึ่งพาการส่งออก หมายถึง สินค้าที่มีสัดส่วนการส่งออกตั้งแต่ ร้อยละ 15 ขึ้นไป
6 ข้อมูลจากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)
7 จัดทำโดยศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

ใส่ความเห็น