ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ปี 2558 : ผลด้านบวกและด้านลบต่อธุรกิจท่องเที่ยว

ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC) ในปี 2558 ซึ่งการรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนนั้นมาจากแนวคิดที่ว่า อาเซียนจะรวมตัวกันเป็นตลาดหรือฐานการผลิตเดียวกัน (Single Market and Production Base) โดยมีข้อตกลงร่วมกันว่า จะทำให้มีการเคลื่อนย้ายเสรี (Free Flow) ใน 5 สาขา ได้แก่ (1) การเปิดเสรีการค้าสินค้า คือ มีเป้าหมายที่จะดำเนินการยกเลิกภาษีสินค้า (2) การเปิดเสรีการค้าบริการ โดยเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นของนักลงทุนอาเซียนไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 ในสาขาบริการที่สำคัญ ซึ่งจะเปิดโอกาสให้แก่ผู้ประกอบการไทยที่สนใจเข้าไปลงทุนในประเทศที่เป็น สมาชิกได้อย่างเสรีมากขึ้น เช่นเดียวกับผู้ประกอบการจากประเทศที่เป็นสมาชิกก็จะสามารถเข้ามาลงทุนใน ประเทศไทยได้อย่างเสรีเช่นกัน ซึ่งรวมถึงธุรกิจท่องเที่ยวและการบริการที่เกี่ยวเนื่อง (3) การเปิดเสรีการลงทุน ในสาขาอุตสาหกรรมที่ตกลงกัน โดยมี การเคลื่อนย้ายปัจจัยการผลิตได้อย่างเสรีเหมือนอยู่ในประเทศเดียวกัน ผู้ประกอบการในประเทศสมาชิกสามารถดำเนินกระบวนการผลิตในประเทศใดก็ได้ (4) การเปิดเสรีด้านเงินทุน เคลื่อนย้าย และ (5) การเคลื่อนย้ายแรงงานฝีมืออย่างเสรี โดยให้สอดคล้องกับกฎเกณฑ์ของแต่ละประเทศ

ภายใต้กรอบ AEC การเปิดเสรีด้านบริการ ซึ่งรวมถึงธุรกิจท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวเนื่อง ได้แก่ ธุรกิจโรงแรม ธุรกิจจำหน่ายสินค้าของที่ระลึกนักท่องเที่ยว ธุรกิจร้านอาหารและสถานบันเทิง ธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ เป็นต้น จัดอยู่ในกลุ่มเร่งรัด ที่กำหนดยกเลิกเงื่อนไขข้อจำกัดทั้งหมด และขยายเพดานสัดส่วนการถือหุ้นของนักลงทุนอาเซียนเป็นร้อยละ 70 ตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นไป

อย่างไรก็ดี การเปิดเสรีบริการด้านท่องเที่ยว ทำให้หลายประเทศในอาเซียนต่างตื่นตัวและเร่งปรับกลยุทธ์ โดยเฉพาะการวางแผนนโยบายท่องเที่ยว ระดับประเทศ อาทิ รัฐบาลสิงคโปร์ทุ่มงบประมาณ 2 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์ เพื่อพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวก และเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับนักท่องเที่ยว ที่คาดว่าจะมีจำนวนเพิ่มขึ้น โดยรัฐบาลสิงคโปร์คาดการณ์รายได้จากภาคท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 200 หรือ 30 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์ในปี 2558 รวมไปถึงบรรดาประเทศเพื่อนบ้านในอินโดจีนของไทย ที่เพิ่งเปิดประเทศไม่นาน ได้แก่ ลาว กัมพูชา และพม่า ซึ่งได้รับความสนใจอย่างมากจากนานาประเทศ และรัฐบาลของประเทศเหล่านี้กำลังเร่งพัฒนาบริการขั้นพื้นฐาน เพื่อรองรับการขยายตัวด้านการลงทุนที่หลั่งไหลเข้ามาจากต่างประเทศ รวมทั้งนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

ตลาดอาเซียน : สร้างรายได้ท่องเที่ยวให้ไทยปีละ 1.3 แสนล้านบาท

สำหรับประเทศไทยนั้น ภาครัฐโดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬามีนโยบายเร่งพัฒนามาตรฐานวิชาชีพของ ผู้ปฏิบัติงาน และอยู่ระหว่างการผลักดัน ให้มีสภาวิชาชีพของธุรกิจท่องเที่ยวเพื่อพัฒนาบุคลากรให้มีคุณภาพเป็นที่ ยอมรับในระดับสากล เนื่องจากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศไทยอย่าง มาก โดยในปี 2553 รายได้ท่องเที่ยวจากนักท่องเที่ยวต่างชาติมี มูลค่า 5.931 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 5.9 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) ที่มีมูลค่า 10,1052 พันล้านบาท และในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา (ปี 2551-2554) มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาในประเทศไทยเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 7.5 จาก จำนวน 14.46 ล้านคนในปี 2550 เพิ่มขึ้นเป็น 19.10 ล้านคนในปี 2554 ขณะที่นักท่องเที่ยวจากตลาดอาเซียน ขยายตัวอย่างรวดเร็วเฉลี่ยร้อยละ 9.3 ต่อปีในช่วงปี 2543-2554 จากที่มีจำนวนเพียง 1.94 ล้านคนในปี 2542 มีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 22.6 ของตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยรวมของไทย ที่มีจำนวน 8.58 ล้านคนในปีเดียวกัน เพิ่มขึ้นเป็น 5.53 ล้านคนในปี 2554 และมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 29.0 ในปี 2554

นอกจากจะเติบโตอย่างรวดเร็วแล้ว ตลาดนักท่องเที่ยวอาเซียนยังสามารถสร้างรายได้เข้าประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 4 เท่าตัว จากที่มีมูลค่าเพียง 32,381 ล้านบาทในปี 2542 เพิ่มขึ้นเป็น 97,537 ล้านบาทในปี 2553 และ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ว่า ในปี 2554 รายได้จากนักท่องเที่ยวอาเซียนจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 22 จากปีก่อนหน้า โดยมีมูลค่าประมาณ 119,000 ล้านบาท ทำให้รายได้ท่องเที่ยวจากตลาดอาเซียนเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 13.5 ต่อปีในช่วงปี 2543-2554

สำหรับในปี 2555 ช่วงไตรมาสแรก (มกราคม-มีนาคม) มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามายังประเทศไทยรวมทั้งสิ้นประมาณ 5.69 ล้านคนเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามามากอันดับหนึ่ง คือ นักท่องเที่ยวจากภูมิภาคเอเชีย โดยมีสัดส่วนร้อยละ 53.3 (ประกอบด้วย นักท่องเที่ยวจากประเทศในอาเซียนร้อยละ 24.2 นักท่องเที่ยวจากประเทศต่างๆในภูมิภาคเอเชียตะวันออกร้อยละ 24.4 และนักท่องเที่ยวจากประเทศในภูมิภาคเอเชียใต้ร้อยละ 4.7) รองลงมา คือ นักท่องเที่ยวจากภูมิภาคยุโรปมีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 33.9 ภูมิภาคอเมริการ้อยละ 5.3 ภูมิภาคโอเชียเนียร้อยละ 4.2 ภูมิภาคตะวันออกกลางร้อยละ 2.5 และภูมิภาคแอฟริการ้อย ละ 0.8 ตามลำดับ

เมื่อพิจารณานักท่องเที่ยวในตลาดอาเซียน พบว่า ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2555 มีนักท่องเที่ยวจากประเทศในกลุ่มอาเซียนเดินทางเข้ามายังประเทศไทยรวมทั้ง สิ้นประมาณ 1.38 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยตลาดที่มีขนาดใหญ่ 3 อันดับแรกในกลุ่มอาเซียน คือ มาเลเซีย ซึ่งมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามายังประเทศไทยจำนวน 5.8 แสนคน รองลงมา คือ ลาว มีจำนวน 2.4 แสนคน และสิงคโปร์ มีจำนวน 1.7 แสนคน ตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาในด้านการเติบโตเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าแล้ว พบว่า ตลาดที่เติบโตอย่างรวดเร็ว 3 อันดับแรก คือ เวียดนาม ซึ่งมีจำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาเพิ่มขึ้นร้อยละ 26.3 รองลงมา คือ ลาว เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.6 และพม่า เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.1 ตามลำดับ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ว่า โดยรวมตลอดทั้งปี 2555 จะมีนักท่องเที่ยวจากประเทศในกลุ่มอาเซียนเดินทางเข้ามายังประเทศไทยรวมทั้ง สิ้น ประมาณ 6.0 ล้านคนเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.5 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และก่อให้เกิดรายได้ท่องเที่ยวเข้าประเทศไทยคิดเป็นมูลค่าประมาณ 130,000 ล้านบาทเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.2

แนวทางการเตรียมความพร้อมรับ … การเปิดเสรีภาคการท่องเที่ยวประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

การเปิดเสรีการบริการด้านท่องเที่ยวนั้น มีผลกระทบทั้งในด้านบวกและด้านลบต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทย ดังนั้น ผู้ประกอบการธุรกิจที่ เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวของไทย จะต้องเตรียมวางแผนทางธุรกิจเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นจาก AEC

การเปิดเสรีบริการด้านการท่องเที่ยว จะเป็นการเปิดในลักษณะของการเคลื่อนย้ายการลงทุน ซึ่งตามข้อตกลงใน AEC Blueprint คือ ลดอุปสรรคในการเข้าสู่ตลาดในด้านต่างๆลง และเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นให้กับบุคคลหรือนิติบุคคลสัญชาติอาเซียน โดยสามารถถือหุ้นได้สูงถึงร้อยละ 70 ซึ่งภายใต้กรอบ AEC ธุรกิจท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวเนื่องถูกจัดให้อยู่ในสาขาเร่งรัดการรวม กลุ่ม (Priority Integration Sectors : PIS) เช่นเดียวกับภาคบริการอื่นๆ อีก 4 สาขา ได้แก่ คอมพิวเตอร์และโทรคมนาคม บริการสุขภาพ การขนส่งทางอากาศ และโลจิสติกส์ ซึ่งกำหนดให้ยกเลิกเงื่อนไขต่างๆ ที่เป็นข้อจำกัดทั้งหมด รวมทั้งทยอยเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นของนักลงทุนอาเซียนให้สูงขึ้นเป็นร้อยละ 70 ในปี 2553 แต่ในปัจจุบันก็ยังมีข้อจำกัดอยู่ เช่น การกำหนดมาตรฐานสำหรับผู้ประกอบวิชาชีพในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของแต่ละ ประเทศในอาเซียน อาทิ พนักงานทำความสะอาด ผู้จัดการแผนกต่างๆ เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อท้ายที่สุดจะสามารถผลักดันให้มีการเคลื่อนย้ายผู้ให้บริการที่ ได้รับการรับรองคุณสมบัติวิชาชีพ (Mutual Recognition Agreements: MRA) ภายในภูมิภาคได้อย่างเสรี
สัดส่วนการถือหุ้นของนักลงทุนสัญชาติอาเซียน ตามแผนงานใน AEC Blueprint
(สาขาธุรกิจท่องเที่ยว)


แม้ว่าตามแผนงาน AEC Blueprint ประเทศไทยควรจะอนุญาตให้นักลงทุนชาติอาเซียนสามารถถือหุ้นได้ร้อยละ 70 ตั้งแต่ปี 2553 แต่ปัจจุบันในปี 2555 ประเทศไทยยังคงอนุญาตให้ถือหุ้นได้เพียงร้อยละ 49 เนื่องมาจากกฎหมายภายในประเทศอยู่ระหว่างการพัฒนาและการพิจารณาของรัฐสภา3

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้วิเคราะห์ผลกระทบจากการเปิดเสรีบริการด้านท่องเที่ยว ที่จะเกิดขึ้นกับธุรกิจของไทยในแต่ละสาขาที่เกี่ยวข้องโดยสังเขป ดังนี้

ธุรกิจโรงแรม
การเปิดเสรีในส่วนของธุรกิจโรงแรมระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน มีประเด็นสำคัญในเรื่องของสัดส่วนการถือหุ้นของชาวต่างชาติ ที่ยังมิได้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด คือ ประเทศสมาชิกอาเซียนเปิดให้เพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นของนักลงทุนอาเซียนเป็น ร้อยละ 70 ในปี 2558 ในสาขาธุรกิจท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวเนื่อง โดยปัจจุบัน ประเทศสมาชิกตกลงในเรื่องสัดส่วนการถือหุ้นของนักลงทุนต่างชาติ ดังนี้ ประเทศมาเลเซียอนุญาตให้ชาวต่างชาติร่วมทุนกับนักธุรกิจมาเลเซียและถือหุ้น ได้ไม่เกินร้อยละ 51 (เฉพาะโรงแรม ระดับ 4-5 ดาว) ส่วนประเทศสิงคโปร์ไม่มีข้อจำกัดใดๆ สำหรับการลงทุนของชาวต่างชาติในธุรกิจโรงแรม ขณะที่ประเทศไทยเองก็กำหนดสัดส่วนการถือหุ้นของชาวต่างชาติให้ถือได้ไม่เกิน ร้อยละ 49 (กรณีที่เป็นบริษัทจำกัด)

ปัจจุบันนักลงทุนไทยสามารถเข้าไปตั้งธุรกิจท่องเที่ยวและบริการโดยเป็น เจ้าของ 100% หรือเป็นพันธมิตรทางธุรกิจในประเทศเวียดนามได้ แต่มี เงื่อนไขว่านักลงทุนต้องดำเนินการสร้าง ปรับปรุง ฟื้นฟู แล้วจึงจะได้กรรมสิทธิ์หลังจากนั้น อย่างไรก็ตาม ภาครัฐของแต่ละประเทศก็มีแผนงานดำเนินการเพื่อผลักดันให้นักลงทุนต่างชาติ สามารถถือหุ้นได้สูงถึงร้อยละ 70 ตามเป้าหมายของประเทศอาเซียนในการเปิดเสรีการบริการด้านท่องเที่ยว

สำหรับผลของการเปิดเสรีในส่วนธุรกิจโรงแรมที่จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจโรงแรมของไทยนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีความเห็นว่า ปัจจุบันธุรกิจโรงแรม ในประเทศไทยมีการแข่งขันกันอย่างเข้มข้นในทุกระดับราคาและทุกกลุ่มลูกค้า ซึ่งแม้แต่ผู้เล่นรายใหญ่ที่จะเน้นการพัฒนาโรงแรมระดับบนเองยังได้ลงมาทำ ตลาดโรงแรมระดับกลางเพื่อให้ครอบคลุมทุกตลาด นอกจากนี้ ผู้ประกอบการรายใหญ่ยังได้จับมือกับเชนโรงแรมต่างประเทศ เพื่อขยายฐานตลาดให้กว้างขึ้น ส่งผลกระทบต่อการทำธุรกิจโรงแรมของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในไทยอยู่ค่อนข้าง มาก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรงแรมขนาดเล็กที่มีพนักงานประมาณ 10-15 คน4

ดังนั้น เมื่อมีการเปิดเสรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนแล้ว จะยิ่งเพิ่มระดับความรุนแรงของการแข่งขันด้านการตลาดของธุรกิจโรงแรม โดยเฉพาะกลุ่ม เชนบริหารโรงแรมชั้นนำจากต่างประเทศ (ที่มีความพร้อมทั้งด้านเงินทุนและบุคลากร รวมทั้งความได้เปรียบด้านการตลาด) มีแนวโน้มจะขยายการลงทุนและขยายเครือข่ายการบริหารโรงแรม เข้ามาในตลาดระดับกลางเพิ่มขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการโรงแรมระดับกลางลงมาของไทย ซึ่งเสียเปรียบด้านการตลาด และส่วนใหญ่มีข้อจำกัดด้านเงินทุน จะประสบปัญหาอัตราการเข้าพักลดลง และนำไปสู่การแข่งขันด้านราคาห้องพักมากขึ้น ก่อให้เกิดปัญหาการขาดสภาพคล่องได้ในที่สุด เปิดโอกาสให้คู่แข่งซึ่งเป็นบริษัทข้ามชาติสามารถดำเนินการซื้อหรือควบรวม กิจการได้ง่ายขึ้น

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมขนาดกลางและขนาดย่อมที่บริหารกิจการเอง ต้องเร่งพัฒนาและปรับตัวเพื่อให้ได้รับประโยชน์สูงสุดจากการเปิดเสรีฯ โดยมีแนวทางดังนี้

(1) วิเคราะห์ศักยภาพของกิจการ เพื่อชูความได้เปรียบหรือจุดแข็งของกิจการ เป็นจุดขายที่แตกต่างและโดดเด่น อาทิ คุณภาพการให้บริการของคน ไทยที่โดดเด่นในด้านการมีจิตใจในการให้บริการ ความได้เปรียบด้านราคาที่มีความคุ้มค่าการบริการ ความได้เปรียบด้านทำเลที่ตั้ง ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ตามแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ที่มีให้ เลือกอย่างหลากหลายแตกต่างกันไปในแต่ละภูมิภาค

(2) วางตำแหน่งของกิจการที่เหมาะสม และกำหนดตลาดเป้าหมายให้ชัดเจนว่า จะเน้นให้บริการลูกค้าในตลาดนักท่องเที่ยวทั่วไปซึ่งเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่ และมักเป็นนักท่องเที่ยวที่เพิ่งเดินทางมาเที่ยวประเทศไทยเป็นครั้งแรก หรือนักท่องเที่ยวเฉพาะกลุ่ม (อาทิ กลุ่มนักธุรกิจ กลุ่มประชุมสัมมนา กลุ่มท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล กลุ่มคู่ ฮันนีมูน กลุ่มจัดงานแต่งงาน กลุ่มท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ กลุ่มพำนักท่องเที่ยวระยะยาว กลุ่มทัวร์กอล์ฟ กลุ่มทัวร์ดำน้ำ เป็นต้น) ซึ่งเป็นตลาดที่มีขนาดเล็กแต่มีกำลังซื้อสูงส่วนใหญ่จะเป็นนักท่องเที่ยว กลุ่มเที่ยวซ้ำ (คือ เคยเดินทางมาเที่ยวเมืองไทยแล้ว) และปรับแผนการบริการและแผนการตลาดให้สอดคล้องกับตลาดเป้าหมาย และการปรับเปลี่ยนของตลาด เช่นในปัจจุบันที่ตลาดยุโรปกำลังประสบปัญหาเศรษฐกิจ และนิยมเดินทางท่องเที่ยวระยะสั้น เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง บรรดาผู้ประกอบการควรหันไปขยายตลาดท่องเที่ยวระยะใกล้ในภูมิภาคเอเชีย ที่ยังเติบโตต่อเนื่อง

(3) พัฒนาทักษะการใช้ภาษาสากลและภาษาในกลุ่มอาเซียน อาทิ มาเลย์ พม่า ทั้งนี้ หากผู้ประกอบการมีงบประมาณไม่เพียงพอในการพัฒนาทักษะด้านภาษา อาจจะพิจารณานำแนวคิดของการรับสมัครอาสาสมัครที่มีความสามารถด้านภาษามาปรับ ใช้ แต่ต้องมีการฝึกอบรมทักษะด้านบริการให้กับกลุ่มอาสาสมัครเหล่านี้ก่อน

(4) การสร้างพันธมิตรทางธุรกิจกับผู้ประกอบการทั้งในและนอกประเทศน่าจะช่วยให้ ผู้ประกอบการมีศักยภาพในการแข่งขันและเพิ่มทางเลือกให้กับ ลูกค้าได้มากขึ้น เช่น นำเสนอแพ็กเกจห้องพักราคาเดียวแต่สามารถเลือกที่พักได้หลายแห่งในต่างทำเล ที่ตั้ง (อาทิ ชายทะเล เกาะ ภูเขา ป่า )แต่อยู่ในเครือข่ายเดียวกัน เป็นต้น

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการควรติดตามข้อมูลข่าวสาร ช่องทางการดำเนินธุรกิจ และแนวทางการปรับตัว เพื่อให้ผู้ประกอบการมีศักยภาพในการแข่งขัน อย่างยั่งยืน เพราะการเปิดเสรียังคงจะดำเนินต่อไป ไม่ว่าจะเป็น ASEAN +3 หรือ ASEAN+ 6

ธุรกิจนำเที่ยว
ธุรกิจนำเที่ยว เป็นธุรกิจที่ให้การบริการอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยว อาทิ การให้ข้อมูลด้านการท่องเที่ยวเพื่อประกอบการตัดสินใจเดินทางท่องเที่ยว การวางแผนการเดินทาง การบริการด้านที่พัก และจัดแพ็กเกจท่องเที่ยว เป็นต้น
ธุรกิจนำเที่ยวแบ่งออกตามลักษณะของการจัดบริการท่องเที่ยว ได้แก่
(1) ธุรกิจนำเที่ยวภายในประเทศ ( Domestic Tour Operator) คือ การจัดนำนักท่องเที่ยวที่มีภูมิลำเนาในประเทศไทย เดินทางไปยังแหล่งท่องเที่ยว ภายในประเทศ
(2) ธุรกิจนำนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาจากต่างประเทศเดินทางไปยังแหล่งท่องเที่ยวในประเทศ (Inbound Tour Operator)
(3) ธุรกิจนำนักท่องเที่ยวคนไทยเดินทางไปยังแหล่งท่องเที่ยวต่างประเทศ (Outbound Tour Operator)

สำหรับการเปิดเสรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในหมวดการนำเที่ยว ในปัจจุบันประเด็นของสัดส่วนการถือหุ้นของชาติสมาคมอาเซียนยังมีข้อจำกัด และเงื่อนไขบางประการ ได้แก่ ประเทศมาเลเซียอนุญาตให้ชาวต่างชาติร่วมทุนกับนักธุรกิจชาวมาเลเซียก่อตั้ง บริษัทนำเที่ยว โดยสามารถถือหุ้นได้ไม่เกินร้อยละ 51 ขณะที่ประเทศไทย กำหนดให้คณะผู้บริหารครึ่งหนึ่งต้องเป็นคนไทย ส่วนประเทศสิงคโปร์และเวียดนามไม่มีข้อกำหนดใดๆ สำหรับชาวต่างชาติที่ต้องการประกอบธุรกิจนี้

ทั้งนี้ การประกอบธุรกิจนำเที่ยวในไทยมีจำนวนค่อนข้างมาก เนื่องจากประเทศไทยมีแหล่งท่องเที่ยวให้เลือกอย่างหลากหลาย โดยเฉพาะแหล่งท่อง เที่ยวทางธรรมชาติที่สวยงาม และเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวทั้งคนไทยและต่างชาติ โดยข้อมูลล่าสุดเดือนเมษายน พ.ศ. 2555 จากสำนักงานทะเบียนและธุรกิจนำเที่ยว พบว่า มีผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวในประเทศไทยมากถึง 10,507 ราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบขนาดเล็ก ส่วนจำนวนมัคคุเทศก์ชาวไทยมีกว่า 58,324 ราย ซึ่งร้อยละ 65 สามารถพูดภาษาอังกฤษได้ แต่ปัจจุบันอาชีพมัคคุเทศก์ชาวไทยยังมีไม่เพียงพอต่อความต้องการ เพราะส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพนี้เป็นอาชีพอิสระ จึงค่อนข้างเป็นอุปสรรคในการพัฒนาธุรกิจนำเที่ยวของไทยให้มีความ พร้อมต่อการเปิดเสรีได้

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีความเห็นว่า การเปิดเสรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนจะทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจนำเที่ยวราย ใหญ่จากต่างประเทศสามารถเข้ามาลงทุนเปิดสาขาบริษัทนำเที่ยวในประเทศไทยได้ มากขึ้น แม้จะมีข้อกำหนดเกี่ยวกับผู้บริหารและอาชีพมัคคุเทศก์เป็นอาชีพที่สงวนไม่ อนุญาตให้คนต่างด้าวก็ตาม ซึ่งผู้ประกอบการจากต่างประเทศเหล่านี้อาจจะกลายมาเป็นคู่แข่งที่สำคัญของ บริษัทนำเที่ยวในไทย เนื่องจากบริษัทนำเที่ยวต่างชาติจะมีจุดเด่น คือ มีฐานลูกค้าในประเทศของตน และจากการที่เป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ ทำให้อำนาจต่อรองในเรื่องของราคามีค่อนข้างสูง ซึ่งก็อาจมีผลกระทบต่อบริษัทนำเที่ยวของคนไทยได้เช่นกัน

ดังนั้น ผู้ประกอบการควรจะต้องเตรียมความพร้อม เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่อาจมีผลต่อธุรกิจของตนด้วยเช่นกัน อาทิ

(1) ส่งเสริมการนำเที่ยวเฉพาะด้าน หรือเน้นลูกค้าเฉพาะกลุ่ม เช่น การนำเสนอการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพแก่ลูกค้ากลุ่มนักท่องเที่ยวจากประเทศใน กลุ่มภูมิภาคตะวันออกกลาง ที่ปัจจุบันนิยมเดินทางเข้ามารับบริการด้านการแพทย์ในประเทศไทยอยู่แล้ว หรือลูกค้ากลุ่มที่มีศักยภาพทางการเงินจากประเทศเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนติด กับไทย ทำให้สะดวกในการเดินทาง อาทิ นักท่องเที่ยวในตลาดระดับบนของพม่าซึ่งปัจจุบันนิยมเดินทางมาเที่ยวกรุงเทพฯ และรายการนำเที่ยวที่ได้รับความนิยม คือ ไหว้พระในวัดพระแก้ว ชมพระบรมมหาราชวัง จับจ่ายซื้อสินค้าในศูนย์การค้าชั้นนำย่านราชประสงค์ และเที่ยวชายทะเลแถบพัทยา ขณะที่นักท่องเที่ยวในตลาดระดับกลางที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน ทั้งลาวและพม่า จะนิยมเดินทางข้ามพรมแดนมาท่องเที่ยวพักผ่อน และจับจ่ายซื้อสินค้า รวมทั้งเข้ามารับบริการด้านการแพทย์ในประเทศไทย ตามเมืองท่องเที่ยวหลักใกล้พรมแดน เช่น อุดรธานี ขอนแก่น เชียงราย เชียงใหม่ และแม่สอด เป็นต้น

(2) สร้างพันธมิตรทางธุรกิจทั้งภายในกลุ่มธุรกิจเดียวกันและกลุ่มธุรกิจอื่นที่ เกี่ยวข้อง เช่น หากมุ่งเน้นกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ก็ควรจะเป็น พันธมิตรกับหลากหลายโรงพยาบาล หรือธุรกิจบริการรถเช่า เพื่อบริการรับ-ส่งลูกค้าจากสนามบินไปโรงพยาบาล หรือไปยังสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ

(3) ส่งเสริมการตลาดผ่าน Social Media Marketing ที่น่าจะเหมาะกับผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก เพราะสามารถลดต้นทุนการทำประชา สัมพันธ์และเข้าถึงลูกค้าทุกกลุ่มได้เป็นอย่างดี

อย่างไรก็ดี การใช้สื่อออนไลน์ก็มีข้อพึงระวังเพราะหากลูกค้าเกิดความไม่พอใจการให้ บริการก็อาจจะใช้โลกออนไลน์นี้ในการแสดงความคิดเห็นได้เช่นเดียวกัน ฉะนั้น การรักษาคุณภาพการบริการให้ได้มาตรฐานสากลเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการพึง ปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการพัฒนาและให้ข้อมูลล่าสุดผ่านทางเว็บไชต์ผู้ประกอบการ เพื่อส่งเสริมให้เป็นอีกหนึ่งช่องทางในการติดต่อและสื่อสารกับลูกค้าโดยตรง

ผลกระทบทางอ้อมต่อกิจกรรมการท่องเที่ยว…หลังการเปิดเสรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

การเปิดเสรีอาเซียน ไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวและบริการที่จะต้อง ปรับตัวเท่านั้น แต่การเปิดเสรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนยังส่งผลในด้านบวกช่วยเกื้อหนุนต่อ ธุรกิจท่องเที่ยวเช่นกัน ซึ่งผู้ประกอบการเอสเอ็มอี คงจะต้องศึกษาข้อมูล AEC ให้มากขึ้น เพื่อที่จะได้รับประโยชน์สูงสุดจาก AEC ซึ่งนอกเหนือจากผลกระทบโดยตรงต่อธุรกิจการท่องเที่ยวแล้ว AEC ยังมีผลกระทบต่อภาคธุรกิจท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวเนื่องในทางอ้อม ได้แก่ ธุรกิจไมซ์ (Meeting, Incentive, Convention and Exhibition: MICE)

โอกาสของธุรกิจ MICE
เมื่อเปรียบเทียบกิจกรรมไมซ์ของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียน พบว่า ไทยมีกิจกรรมไมซ์เป็นอันดับ 2 รองจากสิงคโปร์ ส่วนตลาดไมซ์ของมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม มีการขยายตัวอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากว่า มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ มีความได้เปรียบด้านการใช้ภาษาอังกฤษ ขณะที่เวียดนามก็พยายามหาพันธมิตรเพื่อเพิ่มขีด ความสามารถในการแข่งขัน โดยล่าสุดได้มีการลงนามในกรอบความร่วมมือระหว่างไทยและเวียดนามในด้านการแลก เปลี่ยนข้อมูล และจัดกิจกรรมสนับสนุนกิจกรรมไมซ์ระหว่างกัน (Cross promotion) ซึ่งสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (สสปน.) ให้ข้อมูลการเติบโตของกิจกรรมไมซ์ในประเทศไทยและเวียดนามว่า มีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยประมาณร้อยละ 15- 20 ต่อปี

ปัจจุบัน ไทยมีศูนย์การประชุมและศูนย์จัดแสดงสินค้าในระดับนานาชาติที่เปิดให้บริการ รวมทั้งสิ้น 3 แห่ง ได้แก่ 1) ศูนย์แสดงสินค้านานาชาติกรุงเทพ มหานคร (BITEC) 2) ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ (QSNCC) และ 3) IMPACT Convention Center

นอกจากนี้ ยังมีศูนย์การประชุมนานาชาติที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างและคาดว่าจะแล้วเสร็จ ในปี 2555 คือ ศูนย์การประชุมนานาชาติที่เชียงใหม่ ขณะที่มีการขยายบริการในด้านการจัดประชุมสัมมนา ทั้งในระดับประเทศ และระดับนานาชาติ ของบรรดาผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมหลายแห่ง ทั้งในกรุงเทพฯ พัทยา ภูเก็ต เชียงใหม่ นครราชสีมา และขอนแก่น

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การเปิดเสรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนจะเพิ่มความร่วมมือด้านกิจกรรมไมซ์กับ ประเทศสมาชิกในกลุ่มประชาคมอาเซียน ให้มีศักยภาพในการแข่งขัน และสามารถดึงดูดกลุ่มลูกค้ากิจกรรมไมซ์จากฝั่งยุโรปและอเมริกาให้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการจำเป็นต้องพัฒนาคุณภาพการบริการให้ได้มาตรฐานสากล และพัฒนาศักยภาพของบุคลากรที่เกี่ยวข้อง โดยเน้นทักษะในด้านภาษาให้มีความหลากหลาย และเข้าร่วมการทำ Road Show กับภาครัฐเพื่อกระตุ้นการรับรู้จากนานาประเทศ

บทสรุป



ปัจจุบัน การท่องเที่ยวเป็นแหล่งรายได้สำคัญของประเทศไทย ทั้งนี้ด้วยความโดดเด่นของคุณภาพการให้บริการซึ่งเป็นที่ยอมรับและน่าประทับ ใจ รวมทั้งความอุดมสมบูรณ์และความหลากหลายของทรัพยากรด้านการท่องเที่ยว ตลอดจนค่าครองชีพที่อยู่ในระดับต่ำกว่าคู่แข่งหลายประเทศ ทำให้นักท่องเที่ยวทั่วโลกตัดสินใจเดินทางเข้ามาท่องเที่ยว พักผ่อน หรือใช้ชีวิตหลังวัยเกษียณที่ประเทศไทย นับเป็นความได้เปรียบด้านการแข่งขันในธุรกิจนี้ของผู้ประกอบการไทย

อย่างไรก็ตาม คงยากจะหลีกเลี่ยงการรวมกันของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ที่มีการเปิดเสรีภาคบริการขึ้นในปี 2553 ซึ่งจะนำไปสู่ทั้งผลบวกและผลลบต่อธุรกิจท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวเนื่อง ของไทย ดังนั้น ผู้ประกอบการเองคงต้องปรับมุมมองนี้ ให้เป็นโอกาสในการขยายธุรกิจไปยังประเทศสมาชิกอื่นๆ และการเร่งพัฒนาศักยภาพ ด้านการบริหาร ทักษะการให้บริการ ทักษะด้านภาษา (ภาษาอังกฤษ และภาษาของประเทศสมาชิก) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันหลังการเปิดเสรีแบบเต็มรูปแบบ กล่าวคือ การรวมกลุ่มจะช่วยขยายฐานลูกค้าจากจำนวนประชากรในประเทศไทยที่มีจำนวน 65 ล้านคน เป็นประชากรอาเซียนจำนวนกว่า 600 ล้านคน ฉะนั้น ผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจึงจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมเพื่อ การปรับตัวรองรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้

สำหรับการพัฒนาขีดความสามารถของผู้ประกอบการในธุรกิจท่องเที่ยวรองรับ การเปิดเสรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ควรเริ่มจาก (1) วิเคราะห์จุดแข็งและเสริมจุดแข็งด้านต่างๆ อาทิ คุณภาพการให้บริการศักยภาพด้านบุคลากร เป็นต้น (2) นอกจากการวิเคราะห์จุดแข็งแล้ว ยังมีจุดอ่อนที่ควรพยายามพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น อาทิ การทำ การประชาสัมพันธ์ หรือทักษะด้านภาษาของบุคลากร และ (3) การรวมกลุ่มผู้ประกอบการขนาดเดียวกันเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและพัฒนาทักษะของ บุคลากรให้มีคุณภาพการให้บริการได้มาตรฐานสากล ทั้งนี้ หากผู้ประกอบการมีความพร้อมด้านเงินทุนและแรงงานก็น่าจะมองหาโอกาสเข้าไป ลงทุนในประเทศสมาชิกเพื่อขยายกิจการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนในธุรกิจโรงแรมหรือการขยายการบริการโรงแรมเข้าไป ในพม่า ที่เพิ่งเปิดประเทศและได้รับความสนใจจากนานาประเทศ

ขณะที่การพัฒนาผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยวให้ตรงกับความต้องการของนักท่อง เที่ยวทั้งในและนอกกลุ่มอาเซียนมีความสำคัญเป็นอย่างมาก ผู้ประกอบการควรจะมุ่งพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์รูปแบบต่างๆ ซึ่งกระแสกำลังมาแรงในหมู่นักท่องเที่ยวจากกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว อาทิ การท่องเที่ยวสีเขียว (Green Tourism) การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การท่องเที่ยวเชิงเกษตร กิจกรรมไมซ์ (MICE) และกิจกรรมด้านกีฬา (Sport Event) ทั้งนี้โดยได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐในการทำวิจัยถึงความ เป็นไปได้ของการท่องเที่ยวเที่ยวแต่ละรูปแบบ และการส่งเสริมด้านการตลาดเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวโดยรวมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวและบริการของไทยมี ความพร้อมต่อการแข่งขันอย่างเสรี และมีศักยภาพในการขยายตลาดไปยังประเทศสมาชิกภายใต้กรอบประชาคมเศรษฐกิจ อาเซียน รวมถึงการเปิดเสรีอื่นๆในอนาคต

—————————————————————————-
1 ที่มา : กรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
2 ที่มา : ธนาคารแห่งประเทศไทย
3 ที่มา : กรมเจรจาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์
4 ที่มา : กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

ใส่ความเห็น