Korea โมเดล สินค้าออกของเกาหลีใต้

เมื่อนึกถึงเกาหลีใต้ในปัจจุบัน เราอาจนึกถึงละครซีรีส์ เสื้อผ้าแฟชั่นเกาหลี และเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สัญชาติเกาหลีที่กำลังได้รับ ความนิยมในไทย แต่หากมองย้อนกลับไปในยุคทศวรรษ 1960 จะพบว่าเกาหลีใต้เป็นเพียงประเทศเกษตรกรรมที่ยากจน ด้วยระดับรายได้ประชาชาติ 87 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อคนในปี 2505 (ค.ศ.1962) เท่านั้น แต่ได้ก้าวกระโดดขึ้นสู่ระดับสูงกว่า 10,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อคนในปี 2538 (ค.ศ.1995) หรือภายในเวลา 33 ปี ด้วยความน่าสนใจดังกล่าว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ศึกษาถึงพัฒนาการของความสำเร็จของเกาหลีใต้ และบทเรียนที่ธุรกิจ SMEs ไทยน่าจะสามารถนำมาปรับใช้ได้ ซึ่งพบว่ามีประเด็นสำคัญดังนี้

 ภาคอุตสาหกรรมเติบโตก้าวกระโดด … จากผู้รับเทคโนโลยี สู่ผู้พัฒนาเทคโนโลยี 

หัวใจสำคัญของพัฒนาการของภาคอุตสาหกรรมในเกาหลีใต้ คือ “การพัฒนาแบบย้อนรอย” ของกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ (แชโบล) กล่าวคือ แทนที่จะเป็นการ “วิจัย – พัฒนา – วิศวกรรม” (Research – Development – Engineering) กลับเป็น “วิศวกรรม – พัฒนา – วิจัย” กล่าวคือ เกาหลีใต้เริ่มทำการผลิต (วิศวกรรม) โดยใช้เทคโนโลยีสำเร็จรูปของต่างชาติก่อน แล้วจึงพัฒนาต่อยอดจากเทคโนโลยีที่ได้รับมานั้น และสุดท้ายจึงทำการวิจัยเพื่อสร้างนวัตกรรมเป็นของตนเอง ด้วยวิธีการดังกล่าวนับเป็นทางลัดที่สำคัญของเกาหลีใต้ที่ทำให้สามารถพัฒนาภาคอุตสาหกรรมได้ในเวลาอันสั้น จนก้าวขึ้นเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีชาติหนึ่งของโลกในปัจจุบัน โดยอุตสาหกรรมที่โดดเด่น ได้แก่ เทคโนโลยี การผลิตจอภาพ (Display) ซึ่งใช้ในโทรทัศน์จอแบนและเครื่องมือสื่อสาร


ทั้งนี้ ลำพังเพียงการใช้เทคโนโลยีสำเร็จรูปนั้นมิอาจทำให้เกาหลีใต้ผงาดขึ้นเป็นประเทศอุตสาหกรรมแนวหน้าของโลกได้เช่นปัจจุบัน แต่เส้นทางการ พัฒนาของเกาหลีใต้ยังประกอบไปด้วยอีกหลายปัจจัยที่คอยสนับสนุน อันได้แก่ ภาครัฐบาล ซึ่งมีบทบาทสูงโดยเฉพาะในยุค 1960 ต่อเนื่องถึงยุค 1970 ด้วยการสร้างแชโบล และให้การสนับสนุนแชโบลในหลายด้าน เช่น เงินอุดหนุนพิเศษ เพื่อให้แชโบลมีเงินทุนเพียงพอทั้งในการลงทุนขนาดใหญ่เพื่อการประหยัดต่อขนาด และเพื่อการวิจัยและพัฒนา รวมถึงการวางนโยบายที่มีผลต่อการพัฒนาแชโบลในระยะต่อๆ มา เช่น การเพิ่มงบประมาณทางการศึกษาในทุกระดับชั้น ซึ่งเป็นการสร้างรากฐานความรู้ที่แข็งแกร่งแก่ประชากรของประเทศ และได้กลายเป็นทรัพยากรอันมีค่าในระยะของการพัฒนาและการวิจัยเมื่อแชโบลต่างๆ ได้ก้าวผ่านระยะของการใช้เทคโนโลยีสำเร็จรูป นอกจากนั้น ยังได้กำหนดนโยบายมุ่งเน้นการส่งออก ซึ่งมีอิทธิพลต่อแชโบลต่างๆ โดยอาศัยเงื่อนไขด้านเงินอุดหนุน รวมถึงสายสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างรัฐบาลกับแชโบล เพื่อให้แชโบลได้พยายามผลักดันการเรียนรู้และพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตในเวลาอันสั้น นอกจากนั้น อีกปัจจัยที่มีผลต่อการพัฒนาของเกาหลีใต้ ได้แก่ ปัจจัยด้านสังคมและวัฒนธรรม โดยสงครามเกาหลีในปี 2493 – 2496 (ค.ศ. 1950-1953) ทำให้เกิดการหลอมรวมกันทางสังคมขึ้นจากการที่คนหนุ่มสาวต้องร่วมรับรู้ประสบการณ์สงครามร่วมกันเป็นเวลานาน และเมื่อสงครามสิ้นสุด เกาหลีใต้ก็สามารถแปรความเสียหายย่อยยับจากสงครามเกาหลี เป็นความมุ่งมั่นสู่การพัฒนาประเทศ ซึ่งสอดรับกับนิสัยขยันขันแข็งและหมั่นแสวงหาความรู้ของคนเกาหลีใต้

 ฟื้นเศรษฐกิจหลังวิกฤตต้มยำกุ้ง … ด้วยกระแสวัฒนธรรมเกาหลี 

เส้นทางการพัฒนาของเกาหลีใต้ต้องสะดุดลงอีกครั้งในปี 2540 (ค.ศ.1997) จากวิกฤติเศรษฐกิจในเอเชียที่กระทบต่อภาคการเงินของเกาหลีใต้ อย่างรุนแรงจนต้องขอรับความช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ โดยภายหลังวิกฤต เกาหลีใต้ได้จัดตั้งองค์การวัฒนธรรมและสารัตถะเกาหลี (Korea Culture and Content Agency – KOCCA) ขึ้นในปี 2544 (ค.ศ.2001) เพื่อส่งเสริมให้วัฒนธรรมเกาหลีเผยแพร่ไปยังประเทศต่างๆ มากขึ้น เนื่องจากวัฒนธรรมเป็นสินค้าชนิดหนึ่งที่สามารถนำรายได้เข้าประเทศ ได้โดยไม่ต้องใช้ต้นทุนมากและสามารถสร้างอิทธิพลในต่างแดนได้โดยไม่ต้องเผชิญการต่อต้านด้านการเมืองการปกครอง โดยภารกิจของ KOCCA คือ การส่งเสริมให้เนื้อหาสาระความเป็น ชาติเกาหลี หรือ Korea Content สอดแทรกลงไปในสื่อบันเทิงต่าง ๆ ของเกาหลีที่ส่งออกไปยังต่างประเทศ เช่น ภาพยนตร์ เกม ศิลปะ และดนตรี เป็นต้น นอกจากนั้น ยังมีการสร้างและ พัฒนาบุคลากรให้เชี่ยวชาญในเทคโนโลยีการผลิตสื่อต่างๆ รวมไปถึงการทำการตลาดและการผลักดันการส่งออกวัฒนธรรมควบคู่ไปด้วย ซึ่งกลยุทธ์ดังกล่าวนับว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีในเอเชีย ดังเห็นได้จากความนิยมในภาพยนตร์ เพลง และละครเกาหลีที่แผ่ขยายไปทั่วเอเชีย

 ความสำเร็จของเกาหลีเป็นแบบอย่างการพัฒนา (Model) ของประเทศกำลังพัฒนา 

เมื่อมองย้อนไปถึงเส้นทางการพัฒนาของเกาหลีใต้ ตั้งแต่ยุคหลังสงครามเกาหลี (ทศวรรษ 1960) จนถึงปัจจุบันจะเห็นได้ว่า ยุคต่างๆ ในการพัฒนาของเกาหลีใต้เป็นไปในลักษณะของการผสมผสานกันระหว่างกลยุทธ์หลายรูปแบบ เริ่มตั้งแต่ยุคแรกที่เป็นการใช้เทคโนโลยีสำเร็จรูปด้านอุตสาหกรรมจากทั้งญี่ปุ่นและสหรัฐฯ เพื่อเป็นการ “เรียนทางลัด” สู่การฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว ในขณะเดียวกันก็เร่งลงทุนด้านการศึกษาเพื่อรองรับการพัฒนาขั้นต่อไป ซึ่งได้ถูกนำออกมาใช้ในระยะที่สองซึ่งเป็นช่วงที่เทคโนโลยีสำเร็จรูปถูกใช้ จนเต็มศักยภาพ ทำให้เกิดการต้องเร่งเรียนรู้เทคโนโลยีที่รับการถ่ายทอดมา โดยอาศัยพื้นฐานการศึกษาที่สั่งสมไว้1 หลังจากเข้าใจอย่างถ่องแท้แล้ว จึงเข้าสู่ระยะที่สาม คือการคิดค้น และพัฒนาขึ้นเอง ดังเช่นการที่บริษัทเกาหลีใต้บางบริษัทสามารถเป็นผู้นำของโลกในบางอุตสาหกรรมได้ เช่น โทรทัศน์จอแบน โดยเป็นที่น่าสังเกตว่า ในระยะหลังๆ โดยเฉพาะหลังวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 (ค.ศ.1997) เกาหลีใต้เริ่มพัฒนาจากการมุ่งเน้นภาคอุตสาหกรรม สู่การเป็นภาคอุตสาหกรรมที่ผสมผสานการตลาดมากขึ้น เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า ขณะเดียวกัน ก็มีการพัฒนาอุตสาหกรรมวัฒนธรรมเพื่อสร้างรายได้เข้าประเทศอย่างจริงจังอีกด้วย


จากแบบอย่างความสำเร็จของเกาหลีใต้ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วดังกล่าว ทำให้ประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียหลายประเทศกำลังพยายามยึดเกาหลีใต้ เป็นต้นแบบการพัฒนาในแง่ของการส่งเสริมวัฒนธรรม เช่น กัมพูชา เวียดนาม อินโดนีเซีย และบังคลาเทศ โดยเฉพาะเวียดนามที่มีความสนใจเป็นพิเศษจนกระทั่งมีการส่งข้าราชการไปดูงานในเกาหลีใต้หลายครั้ง ขณะเดียวกัน ในประเทศไทย ก็เริ่มมีการเติบโตของกลุ่มบรรษัทเอกชนขนาดใหญ่ในแบบของ “แชโบล” เช่นกัน

 ถอดบทเรียนที่อาจปรับใช้เพื่อการพัฒนาของธุรกิจ SMEs ในไทย 

1. ผู้ผลิตในเกาหลีใต้ไม่หยุดนิ่งอยู่กับการใช้เทคโนโลยีสำเร็จรูป หากแต่มีความกระตือรือร้นที่จะก้าวสู่การพัฒนาเทคโนโลยีเป็นของตนเอง ซึ่งผู้ ประกอบการ SMEs ไทยอาจเริ่มโดยพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตเป็นบางส่วน เช่น พัฒนาประสิทธิภาพการผลิต OEM ที่เคยรับจ้างผลิตให้ประหยัดต้นทุนการผลิตมากขึ้น จากนั้นจึงพัฒนาสู่ผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาขึ้นเองต่อไป โดยในปัจจุบัน มีหลายหน่วยงานภาครัฐที่คอยสนับสนุน เช่น สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ซึ่งมีการจัดโครงการพัฒนาศักยภาพ ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมต่างๆ อยู่เป็นระยะ นอกจากนั้น ในส่วนของเงินทุน ผู้ประกอบการมีหลายทางเลือก ทั้งสถาบันการเงินของเอกชนและรัฐบาล ซึ่งต่างก็มีการนำเสนอบริการทางการเงิน ควบคู่กับบริการให้คำปรึกษาทางการเงิน

2. ภาคอุตสาหกรรมเกาหลีใต้มีการใช้ประโยชน์จากพื้นความรู้ของแรงงานค่อนข้างมาก ซึ่งสะท้อนความสำคัญของการศึกษา ต่อการพัฒนาของภาคอุตสาหกรรม ซึ่งในกรณีของผู้ประกอบการ SMEs ไทยอาจไม่สามารถลงทุนด้านการศึกษาของแรงงานได้ด้วยตนเอง (ซึ่งต่างจากผู้ผลิตรายใหญ่ที่สามารถสร้างสถาบันอบรมเทคนิคเฉพาะทางได้) อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการอาจส่งแรงงานเข้าร่วมการฝึกอบรมที่จัดโดยหน่วยงานเครือข่ายของกระทรวงอุตสาหกรรม เช่น สถาบันเหล็กและเหล็กกล้า สถาบันไฟฟ้าและ อิเล็กทรอนิกส์ สถาบันไทย-เยอรมัน เป็นต้น ซึ่งมีการจัดฝึกอบรมด้านเทคโนโลยีอยู่เป็นระยะๆ

3. ภาคอุตสาหกรรมในเกาหลีใต้ให้ความสำคัญกับการทำการตลาดเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับตราสินค้า ซึ่งจะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจได้มาก โดยปัจจุบัน มีตราสินค้าของเกาหลีใต้ในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ 2 รายที่อยู่ใน 100 อันดับแรกของโลก (จากการจัดอันดับมูลค่าเพิ่มตราสินค้าโดย Millward Brown ปี 2554) และยังมีตราสินค้ายานยนต์ที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลก ซึ่งจากแบบอย่างดังกล่าว ผู้ประกอบการ SMEs ไทยอาจนำเอาแนวคิดด้านตราสินค้ามาประยุกต์ใช้กับผลิตภัณฑ์ของตนในส่วนที่อยู่นอกเหนือการผลิตตามคำสั่ง (OEM) เพื่อสร้างความแตกต่างจากผู้ผลิตรายอื่นในอุตสาหกรรมเดียวกัน

4. รัฐบาลเกาหลีใต้มีบทบาทมากในระยะเริ่มต้นของการพัฒนาอุตสาหกรรมในเกาหลีใต้ ซึ่งนับว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมเกาหลีใต้เติบโตแข็งแกร่งตราบจนปัจจุบัน

1) ในด้านการสนับสนุน รัฐบาลเกาหลีใต้สนับสนุนอย่างเต็มที่ในปัจจัยที่จำเป็นต่อการพัฒนา ที่ภาคเอกชนไม่สามารถจัดหามาได้ด้วยตนเอง เช่น จัดสรรเงินทุนสำหรับการพัฒนาและการวิจัยของ แชโบลในระยะเริ่มต้น หรือการลงทุนขยายการศึกษาทั่วประเทศเพื่อสร้างฐานความรู้ให้กับประชากรของประเทศ ซึ่งกลายเป็นแรงงานที่มีคุณภาพให้แก่แชโบลต่างๆ ในระยะถัดไป

2) ในด้านการสร้างแรงท้าทาย รัฐบาลเกาหลีใต้มีการสร้างเงื่อนไขที่ท้าทายให้แชโบลต้องเร่งพัฒนาตนเองอยู่เสมอ โดยใช้เงื่อนไขจูงใจด้านเงินอุดหนุน หรืออาศัยสายสัมพันธ์ใกล้ชิดที่มีต่อกันในการกำหนดแนวทาง เช่น ในปี 2516 (ค.ศ.1973) รัฐบาลได้ให้บริษัทผู้ผลิตรถยนต์เกาหลีเสนอแผนการผลิตรถยนต์ต่อรัฐบาล โดยต้องเป็นรถยนต์ที่ออกแบบใหม่ ขนาดเครื่องยนต์ เล็กกว่า 1,500 ซีซี และใช้ชิ้นส่วนในประเทศไม่ต่ำกว่าร้อยละ 95 ด้วยต้นทุนในการผลิตต่ำกว่า 2,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ และมีกำลังการผลิตไม่ต่ำกว่า 50,000 คัน/ปี โดยจะต้องออกจำหน่ายภายในปี 2518 (ค.ศ.1975) ซึ่งในครั้งนั้นทำให้บริษัทหนึ่งเกิดการก้าวกระโดดทางเทคโนโลยี โดยสามารถเสนอแผนผลิตรถยนต์ที่กำลังการผลิต 80,000 คัน/ปี จากเดิมที่ในขณะ นั้นผลิตได้เพียง 5,436 คัน/ปีเท่านั้น2

เมื่อเทียบเคียงกับสถานการณ์ของ SMEs ไทย พบว่า ส่วนใหญ่รัฐบาลไทยยังมีบทบาทเป็นการช่วยเหลือด้านเงินทุน และมาตรการในยามเกิดปัญหาหรือวิกฤต เช่น ผลกระทบจากเหตุการณ์สึนามิ ผลกระทบจากอุทกภัย แต่มาตรการในการพัฒนา SMEs ให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีเทคโนโลยีของตนเองยังมีน้อย ดังนั้น เพื่อเกื้อหนุนการเติบโตของธุรกิจ SMEs ไทยให้พัฒนาได้อย่างต่อเนื่อง ภาครัฐจึงควรมีบทบาทที่เหมาะสมกับสถานการณ์ในแต่ละช่วงเวลา สำหรับบทบาทเฉพาะหน้า นับว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในภาวะที่เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มไม่สดใสนักจากผลกระทบของการชะลอตัวในเศรษฐกิจโลก อีกทั้งยังมีผลกระทบจากเหตุการณ์อุทกภัยเมื่อปลายปี 2554 ซึ่งกระทบต่อสภาวะการทำธุรกิจของผู้ประกอบการ SMEs อย่างมาก โดยภาครัฐอาจช่วยเหลือในด้านเงินทุนเพื่อพัฒนา SMEs ด้วยการจัดตั้งกองทุนพิเศษเพื่อธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย สำหรับบทบาทในระยะยาว ควรสร้างแผนปฏิบัติการและผลักดันให้ได้รับการปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง ทั้งในด้านการอุดหนุนส่งเสริมในปัจจัยที่ SMEs ไม่สามารถลงทุนด้วยตนเองได้ เช่น ในด้านเงินกู้เพื่อพัฒนานวัตกรรม การจัดตั้งสถาบันวิจัยที่สามารถทำหน้าที่เป็นที่พึ่งพิงด้านเทคโนโลยีแก่ SMEs ที่เพิ่งเริ่มทำธุรกิจ และการลงทุนด้านการศึกษาของแรงงานในระดับประเทศ ขณะเดียวกันภาครัฐก็ควรสร้างแรงผลัก ดันให้ธุรกิจ SMEs เกิดการพัฒนาออกนอกกรอบความสำเร็จเดิมๆ เช่น การวางเป้าหมายการพัฒนาด้านนวัตกรรมเพื่อแลกกับสิทธิประโยชน์เช่นด้านภาษีหรือเงินอุดหนุน เป็นต้น นอกจากนั้น ภาครัฐควรเร่งส่งเสริมธุรกิจ SMEs ทางเลือกที่ไทยมีศักยภาพ ที่นอกเหนือจากอุตสาหกรรมหลักที่ต่างชาติลงทุนในไทย เช่น พลังงานชีวภาพชีวมวล อุตสาหกรรมการเกษตร และ อุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งเป็นการช่วยสร้างรากฐานด้านเทคโนโลยีแก่ธุรกิจ SMEs ไทยในอุตสาหกรรมที่เหมาะสมกับทรัพยากรที่ไทยมีและเพื่อเป็นการปรับตัวต่อแนวโน้มการกระจายฐานการผลิตของญี่ปุ่นในอุตสาหกรรมหลัก เช่น อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ เหล็กและโลหการที่อาจเกิดขึ้นในระยะต่อไปด้วย

——————————————–
1 โดยตัวอย่างได้แก่การที่บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ของเกาหลีใต้ได้สั่งให้วิศวกรถอดประกอบรถยนต์ต้นแบบเพื่อศึกษาเทคโนโลยีที่รับถ่ายทอดมา
2 บัญชา ธนบุญสมบัติ. เกาหลีใต้ “ก้าวหน้า” และ “ก้าวพลาด” อย่างไร ในการพัฒนาเทคโนโลยีและอุตสาหกรรม? นิตยสารสารคดี ปีที่ 15 ฉบับที่ 179 มกราคม 2543. 74-87

ใส่ความเห็น