นโยบายค่าแรงของรัฐบาลใหม่:ผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ

นโยบายค่าแรงของรัฐบาลใหม่:ผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ
– เพดานการคุ้มครองเงินฝากเหลือ 50 ล้านบาทต่อราย ส่งผลต่อการเคลื่อนย้ายเงินฝากระหว่างกลุ่มขนาดธนาคาร
– ผลกระทบจากการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจะถูกส่งผ่านไปยังอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่จะสูงเข้าใกล้ระดับร้อยละ 5 ในปลายปี 55
– ปัญหาหนี้สาธารณะจะเป็นปัจจัยเหนี่ยวรั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก

นับแต่กลางเดือนสิงหาคมปีนี้ การคุ้มครองผู้ฝากเงินของธนาคารพาณิชย์จะไม่ใช่การคุ้มครองทั้งจำนวนอีกต่อไป แต่จะกำหนดเพดานสูงสุดไว้ที่ 50 ล้านบาทต่อรายต่อธนาคาร ซ ึ่งผลกระทบในปีนี้จนถึงกลางสิงหาคมปีหน้า ยังคงจำกัดอยู่เพียงผู้ฝากเงินรายใหญ่ซึ่งมีเพียงหมื่นกว่ารายเท่านั้น อย่างไรก็ดีเมื่อพิจารณาเป็นจำนวนเงินถือว่าไม่น้อย เพราะมีขนาดประมาณ 2 ล้านล้านบาท หรือเป็นสัดส่วนราวร้อยละ 30 ของเงินฝากธนาคารพาณิชย์ จากข้อมูล ธปท. สังเกตเห็นได้ว่า ในไตรมาสแรกของปีนี้ ภาพของเงินฝากที่มากกว่า 50 ล้านบาท เริ่มมีการเคลื่อนไหวเงินฝากมาสู่ธนาคารขนาดใหญ่มากขึ้น โดยพิจารณาจากสัดส่วนจำนวนรายที่มีเงินฝากมากกว่า 50 ล้านบาทต่อรายของธนาคารขนาดใหญ่ เพิ่มขึ้นค่อนข้างชัดเจน ขณะที่ของธนาคารขนาดกลางและเล็ก ลดลง ซึ่งหากสังเกตข้อมูลลักษณะเดียวกันของจำนวนผู้ฝากเงินที่มีเงินฝากต่อรายไม่เกิน 50 ล้านบาท จะเห็นได้ว่า ไม่มีการเปลี่ยนแปลงของสัดส่วนดังกล่าว จึงอาจอนุมานได้ว่า ผู้ฝากเงินมีการตื่นตัวและมีความเชื่อมั่นในภาพลักษณ์ของธนาคารขนาดใหญ่มากกว่า ถึงแม้ว่าอัตราส่วนทางการเงินที่แสดงถึงความแข็งแกร่งของฐานะการเงินและสภาพคล่องของธนาคารขนาดกลางและเล็กจะดีกว่าของธนาคารขนาดใหญ่ก็ตาม ดังเห็นได้จาก ข้อมูล ณ สิ้นไตรมาส 1/54 เงินกองทุนทั้งสิ้นต่อสินทรัพย์เสี่ยงของธนาคารขนาดใหญ่ กลาง และ เล็ก ที่ร้อยละ 14.7 18.0 และ 15.5 ตามลำดับ ส่วนอัตราส่วนสภาพคล่องตามกฎหมายอยู่ที่ร้อยละ 25.3 29.7 และ 46.1 ตามลำดับเช่นกัน

นอกจากการโยกเงินฝากระหว่างธนาคารพาณิชย์ด้วยกันเองแล้ว เครื่องมือการออมที่สามารถทดแทนเงินฝากได้หลายประเภท ไม่ว่าจะเป็น ตั๋วแลกเงิน หน่วยลงทุน หรือ เงินฝากของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ก็มีแนวโน้มที่จะทดแทนเงินฝากเป็นสัดส่วนที่มากขึ้นไปอีกจากปัจจุบันที่มีสัดส่วนทดแทนเงินฝากมากขึ้นเมื่อเทียบกับเมื่อ 6-7 ปีที่ผ่านมา โดยสัดส่วนเงินฝาก ต่อ ตั๋วแลกเงิน หน่วยลงทุน และ เงินฝากของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ อยู่ที่ 62 :12 : 6 : 20 สูงขึ้นจากเมื่อก่อนที่เงินฝากกินสัดส่วนถึงร้อยละ 80 ดังนั้น เมื่อเงินฝากธนาคารพาณิชย์จะไม่ได้รับการคุ้มครองทั้งจำนวนอีกต่อไป คุณสมบัติที่เหนือกว่า ไม่ว่าจะเป็นอัตราผลตอบแทนที่สูงกว่าและมีรัฐบาลค้ำประกันทั้งจำนวนอย่างธนาคารออมสิน หรือ โอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนสูงกว่าเงินฝากอย่างการลงทุนในหน่วยลงทุน และ ตั๋วแลกเงินที่ธนาคารพาณิชย์ใช้เป็นเครื่องมือทางเลือกในการระดมทุนแทนผลิตภันฑ์เงินฝากโดยด้วยอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่า จะส่งผลให้ ในช่วงปี 2554-55 หลังจากที่การคุ้มครองเงินฝาก

ไม่เต็มจำนวนมีผลบังคับใช้ การแข่งขันการระดมเงินฝากของธนาคารพาณิชย์จะต้องรุนแรงอย่างแน่นอน ซึ่งธนาคารพาณิชย์ขนาดกลางและเล็กจะต้องสร้างภาพพจน์ความมั่นคงให้ได้ในสายตาของผู้ฝากเงิน เพราะอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าเพียงอย่างเดียวจะไม่ใช่ปัจจัยหลักในการรั้งลูกค้าเงินฝากไว้ได้อีกต่อไป

TMB Analytics ได้ทำการศึกษาผลกระทบจากนโยบายค่าแรงขั้นต่ำที่จะปรับขึ้นเป็น 300 บาทต่อวัน โดยหากมีผลบังคับใช้ทั่วประเทศจริงในไตรมาสแรกของปี 2555 จะทำให้ค่าแรงเฉลี่ยของภาคเอกชนในภาพรวมปรับขึ้นตามร้อยละ 26 ในอีกหนึ่งไตรมาสถัดมา เช่นเดียวกับเงินเฟ้อในหมวดอาหารที่จะกระโดดจากระดับปกติขึ้นไปอีกร้อยละ 4 ในประมาณสองไตรมาสจากที่มีการบังคับใช้ ส่วนผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่จะเพิ่มขึ้นจากกรณีฐานอีกถึงร้อยละ 2.3 นั้น และจะเกิดขึ้นในอีกสามไตรมาสถัดมาจากไตรมาสที่ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่ง ณ กลางปีที่ผ่านมา อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 2.6 และ ยังอยู่ในทิศทางขาขึ้นสู่ระดับร้อยละ 3 ในสิ้นปีนี้ ดังนั้น อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานจึงมีโอกาสที่จะเพิ่มไปแตะระดับร้อยละ 5 ในช่วงปลายปี 2555 ซึ่งถือเป็นระดับที่สูงมากที่ไทยยังไม่เคยประสบมาก่อนในรอบทศวรรษแม้ในช่วงที่ราคาสูงสุดในช่วงปี 2551 ก็ตาม จึงเป็นความเสี่ยงด้านลบต่อเศรษฐกิจไทยที่ ธปท. จะต้องปรับดอกเบี้ยนโยบายขึ้นตามแนวทางการใช้นโยบายการเงินแบบเป้าหมายเงินเฟ้อ

นอกจากนี้ หากพิจารณาผลกระทบเป็นรายอุตสาหกรรม จากผลการศึกษาพบว่า สิ่งทอ อัญมณีและเครื่องประดับ และ การผลิตเครื่องจักร ได้รับผลกระทบมากที่สุด โดยเป็นผลกระทบทั้งด้านต้นทุนค่าแรงที่จะไปลดสัดส่วนกำไรสุทธิที่จะทำได้ในสัดส่วนที่มาก และ อุตสาหกรรมเหล่านี้ไม่สามารถผลักภาระต้นทุนค่าแรงที่เพิ่มขึ้นไปให้กับผู้บริโภคโดยการขึ้นราคาสินค้าได้ ส่วนอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบน้อยกว่าอุตวาหกรรมอื่นๆ คือ ยานยนต์และชิ้นส่วน อาหารสัตว์ และ อาหาร เพราะสามารถส่งผ่านต้นทุนที่เพิ่มขึ้นไปยังผู้บริโภคได้

ปัญหาด้านการคลังเปราะบางกำลังคุกคามประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ที่มีภาระหนี้สาธารณะและขาดดุลงบประมาณเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 97 และร้อยละ 6 ของ GDP ตามลำดับ ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ย ในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจใหม่กว่า 2 เท่า จากข้อมูลการติดตามฐานะการคลังล่าสุดของ IMF และประเมินโดย TMB Analytics ชี้ให้เห็นว่า สำหรับกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วหากต้องการให้ฐานะการคลังที่ย่ำแย่กลับไปอยู่ในระดับก่อนเกิดวิกฤต เช่น กำหนดเป้าลดภาระหนี้ภาครัฐต่อ GDP ให้อยู่ที่ร้อยละ 60 ก็ต้องสามารถสร้างรายได้/ ลดรายจ่ายหรือรักษาดุลงบประมาณให้อยู่ในระดับร้อยละ 7 ต่อ GDP ซึ่งใช้เวลาโดยเฉลี่ย 17 ปี ที่น่าสังเกตคือ ประเทศที่มีหนี้ภาครัฐสูงเกินร้อยละ 100 ของ GDP อย่างญี่ปุ่น ไอร์แลนด์ และกรีซ รวมทั้งสหรัฐฯที่ภาระหนี้มีแนวโน้มสะสมมากขึ้นจากการที่รัฐสภาอนุมัติให้ขยายเพดานหนี้เพิ่มขึ้นอีก 2.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ

จาก 14.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐซึ่งปัจจุบันภาระหนี้ชนเพดานตั้งแต่เดือนพ.ค.54 จนเป็นเหตุให้ S&P ตัดสินใจปรับลดระดับความน่าเชื่อถือของสหรัฐฯจาก AAA ลงหนึ่งระดับเป็น AA+ หากประเทศเหล่านี้สามารถรักษาดุลงบประมาณให้อยู่ที่ร้อยละ 3 ของ GDP จะใช้ระยะเวลาโดยเฉลี่ยถึง 40 ปีทีจะกลับมามีภาระหนี้อยู่ที่ร้อยละ 60 ของ GDP ขณะที่ทางด้านประเทศเศรษฐกิจใหม่ หากกำหนดเป้าหมายภาระหนี้ภาครัฐอยู่ที่ร้อยละ 40 ของ GDP จะใช้เวลาโดยเฉลี่ย 10 ปี เท่านั้น อย่างไรก็ดีอินเดียและมาเลเซียจะใช้เวลามากกว่า 20 ปี สำหรับประเทศไทย แม้ว่าฐานะการคลังในขณะนี้อยู่ในระดับที่ไม่น่ากังวล โดยหนี้ภาครัฐอยู่ที่ประมาณร้อยละ 40 ของ GDP ต่ำกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ตั้งไว้ที่ร้อยละ 60 ทั้งยังต่ำกว่าหลายๆ ประเทศในโลก แต่ก็ไม่ควรประมาท หากใช้นโยบายเน้นการใช้จ่ายกระตุ้นเศรษฐกิจมากๆ เพิ่มพูนหนี้สิน ในอนาคตหากว่าเกิดอะไรขึ้นมา เราจะมีช่องให้ใช้นโยบายการคลังในการกระตุ้นเศรษฐกิจไม่มากเหมือนในอดีตเพื่อช่วยฟันฝ่าวิกฤติไปให้ได้

สินเชื่อสุทธิของธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในประเทศ สำหรับครึ่งแรกของปี 2554 เทียบกับสิ้นปีก่อนเติบโตร้อยละ 7.5 ในขณะที่เงินฝากและการกู้ยืมขยายตัวร้อยละ 1.9 และ 42.4 ตามลำดับ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน อัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝาก (Loan to deposit ratio) อยู่ที่ระดับร้อยละ 105 ซึ่งเป็นอัตราที่สูงที่สุดในรอบกว่าทศวรรษ ขณะที่อัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากรวมเงินกู้ยืม (Loan to deposit & borrowing ratio) อยู่ที่ร้อยละ 87 สภาพคล่องในระบบธนาคารพาณิชย์ไทยอยู่ที่ 8.2 แสนล้านบาท สภาพคล่องเฉลี่ยในครึ่งแรกของปีนี้อยู่ในระดับเกือบเก้าแสนล้านบาทซึ่งมากกว่าในช่วงเดียวกันของปีก่อนเกือบร้อยละ 20 แม้เงินฝากจะเติบโตน้อยกว่าสินเชื่อก็ตาม แต่เป็นเพราะการระดมเงินผ่านการกู้ยืมมีอัตราการเติบโตที่สูงและมีสัดส่วนถึงราวหนึ่งในห้าของเงินฝาก ทำให้ยังไม่มีปัญหาสภาพคล่องในระบบแต่อย่างใด สำหรับแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ปรับขึ้นเป็นร้อยละ 3.25 เมื่อ 13 กรกฎาคมที่ผ่านมา ยังมีทิศทางขาขึ้นต่อเนื่อง คาดว่าจะถึงระดับร้อยละ 3.75 ภายในสิ้นปีนี้

ใส่ความเห็น